Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

พระไตรปิฎก: พระสารีบุตรสนทนากับพระปุณณมันตานีบุตร (๒)

ราชรถ

(ขอบคุณภาพประกอบจากเวป http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=moonfleet&month=14-11-2009&group=114&gblog=24)

“ท่านผู้มีอายุ”

เปรียบเหมือน พระเจ้าปเสนทิโกศล กำลังประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี มีพระราชกรณียะด่วนบางอย่างเกิดขึ้นในเมืองสาเกต และในระหว่างพระนครสาวัตถีกับเมืองสาเกตนั้น จะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด

ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จออกจากพระนครสาวัตถี ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่งที่ประตูพระราชวัง

ไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สองด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง จึงปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สอง

เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สาม ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่สอง ทรงปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สอง ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สาม

เสด็จถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่สาม ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สาม ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สี่

เสด็จถึงรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า

เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่หก ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า

ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่หกเสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่หก ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่หก

ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด เสด็จไปถึงเมืองสาเกตที่ประตูพระราชวัง ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด

ถ้าพวกมิตรอำมาตย์ หรือพระญาติสาโลหิต จะพึงทูลถามพระองค์ซึ่งเสด็จถึงประตูพระราชวังว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาจากพระนครสาวัตถีถึงเมืองสาเกตที่ประตูพระราชวัง ด้วยรถพระที่นั่งผลัดนี้ผลัดเดียวหรือ”

ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสตอบอย่างไร จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง?

สา. ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะต้องตรัสตอบอย่างนี้ จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง คือ เมื่อฉันกำลังอยู่ในนครสาวัตถีนั้น มีกรณียะด่วนบางอย่างเกิดขึ้นในเมืองสาเกต ก็ในระหว่างนครสาวัตถีกับเมืองสาเกตนั้นจะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด เมื่อเช่นนั้น ฉันจึงออกจากนครสาวัตถีขึ้นรถผลัดที่หนึ่งที่ประตูวังไปถึงรถผลัดที่สอง ด้วยรถผลัดที่หนึ่ง ปล่อยรถผลัดที่หนึ่ง ขึ้นรถผลัดที่สอง ไปถึงรถผลัดที่สาม ด้วยรถผลัดที่สอง ปล่อยรถผลัดที่สอง ขึ้นรถผลัดที่สาม ไปถึงรถผลัดที่สี่ ด้วยรถผลัดที่สาม ปล่อยรถผลัดที่สาม ขึ้นรถผลัดที่สี่ ไปถึงรถผลัดที่ห้า ด้วยรถผลัดที่สี่ ปล่อยรถผลัดที่สี่ ขึ้นรถผลัดที่ห้า ไปถึงรถผลัดที่หก ด้วยรถผลัดที่ห้า ปล่อย รถผลัดที่ห้า ขึ้นรถผลัดที่หก ไปถึงรถผลัดที่เจ็ด ด้วยรถผลัดที่หก ปล่อยรถผลัดที่หก ขึ้นรถผลัดที่เจ็ด ไปถึงเมืองสาเกตที่ประตูวังด้วยรถผลัดที่เจ็ด

ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะต้องตรัสตอบอย่างนี้ จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง.

ปุ. ท่านผู้มีอายุ ข้อนี้ก็ฉันนั้น

สีลวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่จิตตวิสุทธิ

จิตตวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ทิฏฐิวิสุทธิ

ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่กังขาวิตรณวิสุทธิ

กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ญาณทัสสนวิสุทธิ

ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน

ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน.

===========

กล่าวชื่นชมสุภาษิตของกันและกัน


เมื่อท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร และพวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ รู้จักท่านว่าอย่างไร?”

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมชื่อปุณณะ แต่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ รู้จักผมว่ามันตานีบุตร.”

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

“ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาแล้ว ธรรมอันลึกซึ้ง อันท่านพระปุณณมันตานีบุตรเลือกเฟ้นมากล่าวแก้ ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง ตามเยี่ยงพระสาวกผู้ได้สดับแล้ว รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยถ่องแท้ จะพึงกล่าวแก้ ฉะนั้น เป็นลาภมากของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์อันเพื่อนพรหมจรรย์ได้ดีแล้ว ที่ได้พบเห็นนั่งใกล้ท่านพระปุณณมันตานีบุตร แม้หากว่าเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะเทิดท่านพระปุณณมันตานีบุตรไว้บนศีรษะด้วยเทริดผ้า จึงจะได้พบเห็น นั่งใกล้ แม้ข้อนั้นก็นับว่าเป็นลาภมากของเธอเหล่านั้น ความเป็นมนุษย์อันเธอเหล่านั้นได้ดีแล้ว อนึ่งนับว่าเป็นลาภมากของผมด้วย เป็นการได้ดีของผมด้วย ที่ได้พบเห็น นั่งใกล้ท่านพระปุณณมันตานีบุตร.”


เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระปุณณมันตานีบุตรจึงถามดังนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร และเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย รู้จักท่านว่าอย่างไร?”

“ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านผู้มีอายุ ผมชื่ออุปติสสะ แต่พวกเพื่อนพรหมจรรย์ รู้จักผมว่าสารีบุตร.”

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวว่า

“ท่านผู้เจริญ ผมกำลังพูดอยู่กับท่านผู้เป็นสาวกทรงคุณคล้ายกับพระศาสดา มิได้ทราบเลยว่า ท่านชื่อสารีบุตร ถ้าผมทราบว่า ท่านชื่อสารีบุตรแล้ว คำที่พูดไปเพียงเท่านี้ คงไม่แจ่มแจ้งแก่ผมได้ เป็นการน่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาแล้ว ธรรมอันลึกซึ้งอันท่านพระสารีบุตรเลือกเฟ้นมาถามแล้วด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง ตามเยี่ยงพระสาวกผู้ได้สดับแล้ว รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยถ่องแท้ จะพึงถาม ฉะนั้น เป็นลาภมากของเพื่อนพรหมจรรย์ความเป็นมนุษย์นับว่าเพื่อนพรหมจรรย์ได้ดีแล้ว ที่ได้พบเห็น นั่งใกล้ท่านพระสารีบุตร แม้หากว่า เพื่อนพรหมจรรย์จะเทิดท่านพระสารีบุตรไว้บนศีรษะด้วยเทริดผ้าจึงจะได้พบเห็น นั่งใกล้แม้ข้อนั้นก็เป็นลาภมากของเธอเหล่านั้น ความเป็นมนุษย์นับว่าอันเธอเหล่านั้นได้ดีแล้ว อนึ่งนับว่าเป็นลาภมากของผมด้วย เป็นการได้ดีของผมด้วย ที่ได้พบเห็นนั่งใกล้พระสารีบุตร.”


พระมหานาคทั้งสองนั้น ต่างชื่นชมสุภาษิตของกันและกัน ด้วยประการฉะนี้แล.

===========

อ้างอิง: พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หัวข้อ ๒๙๖ http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=12&item=296&items=12&preline=0

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : ความกลัวและฟุ้งซ่านที่ฝังอยู่ในใจ

ความกลัวและฟุ้งซ่านที่ฝังอยู่ในใจ

ถาม : มีเรื่องอยากจะสอบถามอาจารย์หน่อยครับ เมื่อปีที่แล้วผมได้ถูกโจรปล้น โดยถูกจับตัวไปข่มขู่เพื่อเรียกเงินด้วยครับ ตอนนั้นก็รู้สึกกลัวมาก จนมาถึงปัจจุบันก็ยังนึกถึงเหตุการณ์นี้อยู่ คือตอนนี้ผมยังรู้สึกระแวงคนที่จะมาเข้าใกล้ตัวเช่นลูกค้า(ผมเปิดร้านขายของอยู่ครับ)ว่าเขาจะมาดีหรือเปล่า บางครั้งดูข่าวในทีวีเห็นข่าวประเภทปล้นยังนึกถึงเหตุการณ์เก่าและนึกกลัวขึ้นมาอีก หลังจากนั้นก็จะเกิดความฟุ้งซ่านคิดไปต่างๆนานา พอรู้สึกตัวก็จะมาดูสภาวะว่าตอนนี้เกิดสภาวะฟุ้งซ่าน เกิดโมหะขึ้น แล้วความรู้สึกนั้นก็จะหายไปชั่วคราว แต่พอเจออะไรที่มากระทบที่ทำให้รู้สึกถึงเหตุการณ์นั้นอีกก็จะเกิดความกลัวและความฟุ้งซ่านอีก ผมมีคำถามอยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยครับว่าผมควรจะทำอย่างไรให้ความกลัวและความฟุ้งซ่านที่เกิดจากเรื่องนี้มันจางหายไปได้ครับ และมีวิธีปฏิบัติอย่างไรถึงจะทำให้การภาวนาก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆครับ ?

ตอบ : ให้อาศัยความกลัวที่เกิดขึ้นนี่แหละครับ เป็นเครื่องมือในการภาวนา
โดนเมื่อเกิดกล้ว ก็ให้หัดดูจิตที่กลัว (ไม่ต้องไปสนใจว่ากลัวเรื่องอะไร)
หัดดูไปสบายๆ ให้เห็นว่า ความกลัวจะเกิดเราก็ห้ามไม่ได้
เมื่อเกิดแล้วเดี๋ยวก็จะดับไป เมื่อได้หัดดูจิตที่กลัวเกิดดับอยู่เรื่อยๆ
จิตก็จะยอมรับได้โดยไม่ทุกข์ซ้ำซ้อนลงไปอีก
แล้วความกลัวก็จะค่อยๆ หายไปเองครับ

และในระหว่างวันถ้าจิตใจไม่ได้มีความกลัวหรือมีอารมณ์อื่นๆ ให้รู้สึกได้
ก็ให้มาหัดดูร่างกายยืน เดิน นั่ง เคลื่อนไหว หัดดูจิตที่ชองเผลอไปคิด
พอลูกค้ามาก็ขายของไปหัดรู้สึกตัวไปสบายๆ
สติปัญญาก็จะพัฒนาก้าวหน้าได้ครับ

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Dhammada News: ขอเชิญร่วมสร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยสังฆทานโอสถ ณ วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี

ที่มา: http://www.sanghathan.com/

วัดสังฆทานกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยสังฆทานโอสถ999 โดยดำริของหลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ ณ วัดสังฆทาน โรงพยาบาล เป็นตึก 5 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นไม้ทรงไทย เป็นหอสวดมนต์ – ทำสมาธิภาวนา สำหรับนักบวชและผู้ป่วย ชั้น2-3 รองรับผู้ป่วยจำนวน 150 เตียง ชั้น 1 เป็นห้องตรวจโรคและจ่ายยาสมุนไพร

หลวงพ่อสนอง กตปฺญโญมีเมตตาจะสร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยเพื่อให้การรักษาแก่พระภิกษุ ชี ฆราวาส โดยใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทยรักษา จึงขอโอกาสมาโพสต์เผื่อจะมีผู้มีจิตศรัทธาอยากร่วมบุญสร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย ก็สามารถร่วมบุญได้ โดยโอนเงินเข้าบัญชีวัดสังฆทาน

-ธนาคารไทยพาณิชย์
บัญชี :วัดสังฆทาน บัญชีออมทรัพย์
สาขาย่อย วิภาวดีรังสิต
163-213-0510

-ธนาคารไทยพาณิชย์
บัญชี :วัดสังฆทา บัญชีออมทรัพย์
สาขารัตนาธิเบศน์
348-202-1060

หากท่านใดต้องการใบอนุโมทนาจากทางวัด ช่วยถ่ายเอกสารสลิปใบโอนเงิน พร้อมเขียนชื่อ ที่อยู่ รายละเอียดการทำบุญ (โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย) และแจ้งว่าต้องการใบอนุโมทนาให้ส่งมาตามที่อยู่แล้ว แฟกซ์มาที่ 02-443-0338

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

พระไตรปิฎก: พระสารีบุตรสนทนากับพระปุณณมันตานีบุตร (๑)

พระสารีบุตร

(ขอบคุณภาพประกอบจากเวป http://board.palungjit.com)

ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้วเข้าไปหาท่านพระปุณณมันตานีบุตรถึงสำนัก ได้ปราศรัยกับท่านพระปุณณมันตานีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามท่านพระปุณณมันตานีบุตรดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคของเราหรือ?

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า “ถูกแล้ว ท่านผู้มีอายุ?”

สา. ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อสีลวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อจิตตวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อทิฏฐิวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านผู้มีอายุ ผมถามท่านว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อสีลวิสุทธิหรือ ท่านตอบผมว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อผมถามท่านว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อจิตตวิสุทธิหรือ เพื่อทิฏฐิวิสุทธิหรือ เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เพื่อญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านก็ตอบผมว่าไม่ใช่อย่างนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออะไรเล่า?

ปุ. ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน.

สา. ท่านผู้มีอายุ สีลวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านผู้มีอายุ จิตตวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านผู้มีอายุ ทิฏฐิวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านผู้มีอายุ กังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านผู้มีอายุ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านผู้มีอายุ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านผู้มีอายุ ญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านผู้มีอายุ ที่นอกไปจากธรรมเหล่านี้หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?

ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

สา. ท่านผู้มีอายุ ผมถามท่านว่า สีลวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพานจิตตวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ทิฏฐิวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพานกังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพานญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ที่นอกไปจากธรรมเหล่านี้หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ท่านก็ตอบผมว่า ไม่ใช่อย่างนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพึงเห็นเนื้อความของถ้อยคำที่ท่านกล่าวนี้อย่างไรเล่า?

ปุ. ท่านผู้มีอายุ ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงบัญญัติสีลวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทาน ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน.ถ้าจักทรงบัญญัติจิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิญาณทัสสนวิสุทธิว่า เป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทาน ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ถ้าหากว่า ธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ จักเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้วปุถุชน จะชื่อว่าปรินิพพาน เพราะว่า ปุถุชนไม่มีธรรมเหล่านี้ ท่านผู้มีอายุ ผมจะอุปมาให้ท่านฟัง บุรุษผู้เป็นวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้เนื้อความแห่งคำที่กล่าวแล้วด้วยอุปมา.

===========

จากทีมงาน: ยังไม่จบนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไป

อ้างอิง: พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หัวข้อ ๒๙๖ http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=12&item=296&items=12&preline=0

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Dhammada News: อัศจรรย์ ชมคลิป เกศาพระคุณแม่จันดีกลายเป็นพระธาตุ

อัศจรรย์ เกศาพระคุณแม่จันดีกลายเป็นพระธาตุ

ก่อนหน้านี้ทางทีมงาน Dhammada.Net ได้นำเสนอข่าว เล็บของพระคุณแม่จันดีกลายเป็นพระธาตุ ในตอนนี้ทางทีมงานได้รับทราบมาว่า มีผู้ที่ได้รับเกศาของพระคุณจันดี มาบูชา ซึ่งในตอนแรกที่ได้รับ สีของเกศายังเป็นสีดำอยู่ แต่ต่อมาภายหลังเส้นเกศาได้กลายเปลี่ยนเป็นสีขาวและได้กลายเป็นพระธาตุในที่สุด

เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพระคุณแม่จันดี

1. คุณแม่จันดี โลหิตดี อริยะเจ้าขนิษฐา ของหลวงตามหาบัว

2. อ้ายหมดห่วงแล้ว – เมื่อหลวงตามหาบัวสอนน้องสาว (คุณแม่จันดี) ภาวนา

3. Dhammada News: VDO อริยะเจ้าปาฎิหารย์ เมื่อเกศาหลวงตา และเล็บคุณแม่จันดีกลายเป็นพระธาตุ

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : ลำดับการเจริญภาวนา

ลำดับการเจริญภาวนา

ถาม : อยากทราบลำดับการเจริญภาวนา ควรเริ่มจากทำอะไรเป็นขั้นตอนไปครับ เพราะฟังซีดีแล้ว บางครั้งหลวงพ่อให้พิจารณากายไม่ใช่เรา

บางครั้งให้ดูจิตที่ไหวแวบไป บางครั้งให้ทำในรูปแบบ ขอบคุณครับ?

ตอบ : ถ้าจะเรียงลำดับก็จะมีสองขั้นคือ

๑. หัดรู้(ดู)กายหรือรู้(ดู)จิต ที่กำลังรู้สึกได้ชัดในขณะปัจจุบัน (ไม่ต้องเลือกดู)
เช่นเดินอยู่แล้วรู้สึกกายเดินก็ดูกายไป
เดินๆ ไปแล้ว จิตไหลแวบไปคิด ก็หัดรู้ทันจิตที่ไหลแวบไปคิด
ในขั้นนี้เป็นการหัดดู เพื่อให้เกิดสติ
เพื่อให้เกิดความตั้งมั่น และเป็นกลางต่อกายและจิตที่ถูกรู้ถูกดูอยู่
ขั้นนี้จึงเป็นการฝึกจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญาต่อไปได้

๒. เมื่อมีสติเกิดขึ้นแล้ว จิตมีความตั้งมั่นเป็นกลาง
ก็ให้หัดสังเกตว่า กายเที่ยงมั้ย จิตเที่ยงมั้ย (รูป นาม เที่ยงมั้ย)
ขั้นนี้จะเป็นการเจริญปัญญา

แต่ทั้ง สองขั้น เอาเข้าจริงๆ ก็จะสลับกันไป (๑ ๒ ๑ ๒ ไปเรื่อยๆ)
ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นขั้นสองแล้วจะไม่กลับไปหนึ่งอีก
เพราะบางครั้งของผู้ที่สามารถเจริญปัญญาได้แล้ว
บางขณะก็ได้แต่ดูกายดูจิตแล้วเกิดสติได้ตั้งมั่นได้เป็นกลางได้
แต่จิตไม่ได้เจริญปัญญา หรือบางขณะก็เจริญปัญญาได้

ส่วนการทำตามรูปแบบ เป็นการหาช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวัน
มาปฏิบัติตามรูปแบบที่ชอบ เช่น สวดมนต์ เดินจงกรม นั่งดูลมหายใจ ฯลฯ
เพื่อหัดดูกายดูจิตตามข้อ ๑ และ ๒
โดยช่วงเวลานี้ เราจะตัดภาระทางโลกออกไปก่อน
เพื่อให้มาอยู่กับการปฏิบัติอย่างจริงจังครับ

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

หน้าที่ชาวพุทธ

mp3 (for download): หน้าที่ชาวพุทธ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หน้าที่ชาวพุทธ

หน้าที่ชาวพุทธ

หลวงพ่อปราโมทย์ : เราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนะ เราต้องศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ศึกษาอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ด้วยจนเห็นผล พอเห็นผลแล้ว เราก็มีหน้าที่บอกต่อ เนี่ยหน้าที่ของชาวพุทธนะ ตัวเองต้องศึกษา ต้องฟังก่อน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เรียกว่าเรียนปริยัตินั้นเอง แล้วก็ลงมือปฏิบัติว่าได้ผลแล้วก็ต้องบอกต่อ ศาสนาถึงจะดำรงอยู่ได้ แต่ละคนมีภารกิจ อย่านึกว่าแค่ว่าเราจะมาฟังธรรมะเล่นๆ แต่ละคนมีความสำคัญทั้งนั้น

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๔
ลำดับที่  ๔
File: 510223
ระหว่างนาทีที่ ๐ วินาทีที่ ๒๓ ถึง นาทีที่ ๑ วินาทีที่ ๑๑

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : การทำตามรูปแบบของหลวงพ่อปราโมทย์

การทำตามรูปแบบของหลวงพ่อปราโมทย์

ถาม : ผมฟังจากซีดีได้ยินหลวงพ่อพูดอยู่บ่อยๆว่า ให้ทำในรูปแบบมากๆ คำว่ารูปแบบของหลวงพ่อต้องทำอย่างไรและระยะเวลาในการทำในรูปแบบต้องมากแค่ไหนครับถึงจะภาวนาได้ก้าวหน้าครับ  ?

ตอบ : สำหรับการทำตามรูปแบบนั้น
ให้หาเวลาว่างๆ (ไม่ได้ทำงาน) จะวันละกี่นาทีก็ตามสะดวก
แล้วเมื่อถึงเวลาก็หัดภาวนาด้วยรูปแบบที่ทำแล้วสบายๆ
จะเดินจงกรมก็ได้ สวดมนต์ก็ได้ นั่งรู้ลมหายใจก็ได้
หรือแม้แต่จะทำงานบ้านก็ได้ โดยช่วงเวลาที่ทำรูปแบบนี้
ก็ให้หัดมีสติรู้กายไปบ้างรู้จิตไปบ้างครับ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากนี่ก็ได้ครับ
http://00.wimutti.net/surawat/books/Mindfulness-SelfAwareness-not-that-hard.pdf

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ความสุขเป็นทุกข์อย่างหนึ่งนะ

mp3 (for download): ความสุขเป็นทุกข์อย่างหนึ่งนะ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ความสุขเป็นทุกข์อย่างหนึ่งนะ

ความสุขเป็นทุกข์อย่างหนึ่งนะ

หลวงพ่อปราโมทย์: เพราะฉะนั้นให้เรารู้ทุกข์นะ ให้เรารู้กาย ให้เรารู้ใจ สิ่งที่เรียกว่า “ทุกข์” ไม่ได้แปลว่า “ความทุกข์” คำว่า “ทุกข์” ในทางศาสนาพุทธหมายถึงขันธ์ ๕ หมายถึงกายกับใจนี้ รูปกับนามคือตัวทุกข์

เพราะฉะนั้นตัวความสุขก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง ทำไมความสุขเป็นตัวทุกข์อย่างหนึ่ง ความสุขเป็นของทนอยู่ไม่ได้ มันถูกบีบคั้น ทนอยู่ไม่ได้จริงหรอก เป็นของยังแปรปรวนอยู่ เกิดๆดับๆอยู่ เป็นของซึ่งใครก็ไปปฏิเสธไม่ได้ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือมัน ทั้งความสุข ทั้งความทุกข์ ทั้งกุศลทั้งอกุศลนะ เราควบคุมมันไม่ได้ ความสุขสั่งให้เกิดก็ไม่ได้ ความทุกข์ห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ความสุขเกิดแล้วสั่งให้อยู่นานๆก็ไม่ได้ ความทุกข์มาแล้วไล่มันก็ไม่ไป

การที่เรารู้กายรู้ใจนะ จะเห็นเลย เราไม่มีอำนาจเหนือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เนี่ยเรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว รู้ความจริงของกายของใจ รู้ลงไปเรื่อยๆ เพราะรู้ตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย มันน่าเบื่อมั้ยความสุขชั่วคราว น่าเบื่อนะ ความทุกข์ชั่วคราวก็น่าเบื่อ อะไรๆก็น่าเบื่อหมด ความทุกข์นะยิ่งถาวรก็ยิ่งน่าเบื่อใช่มั้ย แล้วจริงๆเราทุกข์ถาวรนะ เราไม่ได้ทุกข์ชั่วคราวหรอก มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความสุขน่ะ เราอยากได้มันก็ไม่อยู่นาน ความสุขจะสั้นเกินไปเสมอ ความทุกข์ก็ยาวเกินไปเสมอ

ให้รู้ทุกข์นะ รู้กายรู้ใจไป เพราะรู้ตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ พอความความยึดถือก็หลุดพ้น

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๔
ลำดับที่  ๔
File: 510223
ระหว่างนาทีที่ ๓ วินาทีที่ ๕๔ ถึง นาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๔๔

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : สำหรับผู้เริ่มปฎิบัติธรรม

สำหรับผู้เริ่มปฎิบัติธรรม

ถาม : อยากเริ่มปฏิบัติค่ะ เคยฟังซีดีหลวงพ่อแล้วค่ะ แต่ยังสงสัยว่าควรเริ่มต้นจากแค่การฟังหรือควรอ่านหนังสือธรรมเล่มไหนก่อนดีค่ะ ?

ตอบ : ก่อนอื่นต้องฟังซีดี และ/หรือ อ่านหนังสือ
เพื่อทำความเข้าใจว่าจะต้องหัดรู้กายรู้ใจอย่างไร
เมื่อเข้าใจใจหรือพอจะเข้าใจแล้ว
ก็หัดรู้หัดดูไปได้เลย ดูไปก็สังเกตว่าที่ดูอยู่เป็นอย่างไร
เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขการดูให้ถูกต้องก้าวหน้ายิ่งขึ้นครับ

หรือถ้าจะเริ่มตอนนี้ก็ให้หัด รู้สึกตัว คือรู้สึกอยู่ที่กายที่ใจตัวเอง
รู้สึกไปด้วยจิตที่สบายๆ ไม่เคร่งเครียด
เช่นตอนนี้อ่านข้อความหน้าจอ ก็สังเกตว่า
จิตส่งออกไปอยู่ที่จอหรืออยู่กับตัวเอง
แล้วพอลุกเดินไปทำอย่าอื่น ก็มาหัดรู้สึกร่างกายที่เดิน
หัดรู้ไปสบายๆ ก็จะค่อยๆ รู้สึกว่า
เดี๋ยวจิตก็รู้กาย เดี๋ยสจิตก็เผลอไปคิด เดี๋ยวจิตก็ส่งออกไปมอง ไปฟัง
หัดดูอย่างนี้ไปก่อนแล้ว จะมีสติรู้สึกตัวได้บ่อยขึ้นครับ

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ปล่อยวางได้เพราะรู้ความเป็นจริงของกายของใจอย่างแจ่มแจ้ง

mp3 (for download): ปล่อยวางได้เพราะรู้ความเป็นจริงของกายของใจอย่างแจ่มแจ้ง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ปล่อยวางได้เพราะรู้ความเป็นจริงของกายของใจอย่างแจ่มแจ้ง

ปล่อยวางได้เพราะรู้ความเป็นจริงของกายของใจอย่างแจ่มแจ้ง

หลวงพ่อปราโมทย์: แต่เดิมเราไม่รู้ เราไปจับไว้ สมมตินี่เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง เรารู้สึกว่าดีวิเศษ นี่คือตัวเรา เรายึดไว้เหนียวแน่น ยังไงก็ไม่ปล่อย ปล่อยไม่ได้ เสียดาย กลัวว่าตัวเราหายไป วันหนึ่งปัญญามันแจ้ง นี่ตัวทุกข์นะ สมมติแทนที่จะเป็นทองคำสักก้อนหนึ่ง กลายเป็นกิ้งกือ พอเห็นว่าเป็นกิ้งกือเนี่ย มันคลายออกเองนะ มันคลายแล้วมันจะหลุดนะ เห็นมั้ย คลายแล้วมันจะหลุด ถ้าถือไว้ไม่หลุดนะ ถ้าคลายแล้วหลุดนะ ถ้าคลายแล้วหลุด ไม่ต้องทำอะไร มันหลุดไปเอง

เพราะฉะนั้น ให้รู้กายรู้ใจไปนะ วันหนึ่งมันหลุดไปเอง รู้ตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดก็หลุดพ้น เพราะหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ความเป็นจริงของมัน หลุดไปแล้ว

หลุดแล้วมีอะไรเกิดขึ้น หลุดแล้วก็พ้นทุกข์สิ เราจะพบภาวะซึ่งไม่ต้องแบกต้องหามอะไร ขันธ์ ๕ เป็นภาระ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ เป็นของหนัก พระอริยเจ้า คือพระอรหันต์ วางของหนักลงไปแล้ว แล้วก็ไม่ไปหยิบฉวยขึ้นมาอีก พระอริยเจ้าชั้นอื่นๆนะ วางของหนักชั่วคราวแล้วจะหยิบมาอีก ยกตัวอย่างดูไปเรื่อย.. เห็นจิตมันเป็นตัวทุกข์นะ วางปุ๊บไป วางปุ๊บไปเดี๋ยวก็ไปคว้ามาอีกแล้ว ยังรู้ไม่แจ่มแจ้ง เรียกว่าเห็นจิตไม่แจ่มแจ้ง ถ้าเห็นจิตแจ่มแจ้ง จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง แจ่มแจ้งว่าเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง มันจะสลัดคืนจิตให้โลกไปเลย ไม่ยึดถืออะไรอีก ยึดถือจิตอันเดียวก็จะไปยึดถือทุกอย่าง มันยังงอกออกไปจากจิตนี้เอง ปล่อยวางจิตก็จะปล่อยวางทุกอย่าง เพราะจิตเป็นตัวต้นตอของสิ่งอื่นๆเลย เพราะฉะนั้นให้รู้ลงมานะ ค่อยๆฝึก ค่อยๆรู้ไป

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๔
ลำดับที่  ๔
File: 510223
ระหว่างนาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๔๓ ถึง นาทีที่ ๗ วินาทีที่ ๔๓

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : เห็นกิเลสแล้วทุกข์

เห็นกิเลสแล้วทุกข์

ถาม : ผมตามดูจิตในช่วง2เดือนนี้มาตลอดพบว่าตนเองมีกิเลสเกิดขึ้นทั้งวันทำให้รู้สึกทุกข์และไม่สามารถทำอะไรกับมันได้และถ้าผมตามกิเลสไปคิดต่อก็จะให้ทุกข์เข้าไปใหญ่ จึงขอเรียนถามอาจารย์ว่าผมควรทำอย่างไร ให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นน้อยลงหรือหายไปครับ ?

ตอบ : ปัญหาตอนนี้คือ เห็นกิเลสได้แล้ว แต่จิตยังปฏิเสธที่จะไม่เอากิเลสครับ
พอปฏิเสธก็เลยทำให้จิตทุกข์เพิ่มขึ้น
แต่ถ้าหัดดูกิเลสด้วยใจที่ยอมรับว่า จิตยังต้องมีกิเลสเพราะยังไม่หลุดพ้น
แล้วหัดดูกิเลสอย่างมีสติ ตั้งมั่น เป็นกลาง
เรียนรู้จิตที่มีกิเลสว่า เที่ยงหรือไม่เที่ยง
บังคับได้หรือไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วดับหรือไม่ดับ
การหัดดูเรียนรู้แบบนี้แหละครับ ที่จะทำให้จิตทุกข์น้อยลงไปตามลำดับ
จนในที่สุดก็จะพ้นจากกิเลสได้ครับ

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ใครถนัดกรรมฐานอะไรก็เอาอันนั้นแหละ ไม่ผิดหรอก

mp3 (for download): ใครถนัดกรรมฐานอะไรก็เอาอันนั้นแหละ ไม่ผิดหรอก

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ใครถนัดกรรมฐานอะไรก็เอาอันนั้นแหละ

ใครถนัดกรรมฐานอะไรก็เอาอันนั้นแหละ

หลวงพ่อปราโมทย์ : ในการเรียนจะเลือกเรียนอะไร ใครถนัดอะไรก็เอาอันนััน ไม่ผิดหรอก แต่เดิมถ้าเราภาวนาเรายังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง เราก็จะเชื่อมั่นเฉพาะเส้นทางที่เราเดิน เส้นทางอื่นๆ เราปฏิเสธไว้ก่อน อย่างนี้ทำให้แต่ละสำนักแต่ละคนจะใจแคบ ต้องวิธีของฉันเท่านั้นที่จะบรรลุ ต้องวิธีนี้เท่านั้นที่จะบรรลุ

เหมือนเราขึ้นภูเขานะ เราก็เลือกเส้นนี้แหละดีที่สุด เราก็ใต่ขึ้นเขากระดึบๆๆ ไป พอถึงยอดเขาจริงๆ โอ้โห มันขึ้นได้รอบตัวเลย ขึ้นได้ทั้ง 4 ทิศเลย กรรมฐานจริงๆนะมีเยอะมาก ก็อยู่ในสติปฐาน 4 นั่นแหละ คือ 4 ทิศเลย ขึ้นได้ทั้ง 4 ทิศนะ ทิศใดทิศหนึ่งก็ขึ้นมาถึงยอดเขาได้ พอขึ้นมาบนยอดเขาได้แล้ว คราวนี้รู้แล้วว่ามันมาได้ทุกทิศทุกทาง ไม่ปฏิเสธกันหรอก

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๔
ลำดับที่  ๓
File: 510222
ระหว่างนาทีที่ ๖ วินาทีที่ ๒๑ ถึง นาทีที่ ๗ วินาทีที่ ๑๖

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : กามราคะกับการพิจารณาธาตุ ๔

กามราคะกับการพิจารณาธาตุ ๔

ถาม : อยากทราบว่าการภาวนาในแบบที่จะเด็ดขาดในเรื่องกามราคะนี่
เราจำเป็นต้องพิจารณากายลงเป็นธาตุ ๔ เสมอไหมครับ ?

ตอบ : ผู้ที่จะละกามราคะได้เด็ดขาด มีแต่พระอนาคามีกับพระอรหันต์เท่านั้นครับ
ซึ่งการจะละกามราคะได้ มีเพียงทางเดียวคือ
เพียรมีสติ มีสัมปชัญญะ ที่จะเจริญสติปัฏฐาน ๔
ไปจนเกิดมรรคผลไปตามลำดับ
ซึ่งผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็จะมีปัญญาเห็นรูป เวทนา จิต ธรรม
ล้วนแต่มีความเกิดขึ้น เสื่อมดับไปเป็นธรรมดา เป็นเบื้องต้น
หรือจะเห็นตามจริงว่า รู้นาม(กายใจ-ขันธ์ ๕)นี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จนสามารถละความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามลงได้

การพิจารณาธาตุ ๔ นั้น หากทำเพียงเพื่อให้จิตสงบ
ก็ยังไม่อาจจะละกามราคะได้เด็ดขาด
จนกว่าจะมามีสติเห็นกายเป็นไตรลักษณ์อย่างแจ่มแจ้ง
มีปัญญาพอที่จะละความยึดมั่นถือมั่นในกายลงได้ครับ
เพราะฉะนั้นการภาวนาด้วยอุบายวิถีหรือรูปแบบใด
นอกจากจะทำเพื่อให้จิตสงบแล้ว
ก็ต้องทำเพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ของรูปนามด้วยครับ

กรณีที่คุณพิจารณากายเป็นธาตุ ๔ ก็ดีแล้วนะครับ
ส่วนที่ยังเห็นว่าจิตมักมีกามราคะนั้นก็เป็นปกติ
และเมื่อใดที่เห็นจิตมีการาคะปรากฏขึ้น
ก็ให้มาหัดรู้จิตที่กามราคะด้วยนะครับ

หัดดูจิตที่มีราคะอย่างมีสติ มีความตั้งมั่น เป็นกลาง
เพื่อจะให้เห็นว่า แม้จะไม่ได้แทรกแซงจัดการอะไร
จิตที่กามราคะที่เกิดแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อเห็นความเกิดดับ(เห็นไตรลักษณ์)ของจิตได้บ่อยๆ
ต่อไปก็จะเกิดปัญญาละความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามลงได้ตามลำดับ
วันใดสามารถละความยึดมั่นในกายได้อย่างเด็ดขาด
วันนั้นก็จะละกามราคะได้เด็ดขาดครับ

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สภาวะธรรมเพียงคู่เดียวก็เพียงพอที่จะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน

mp3 (for download): สภาวะธรรมเพียงคู่เดียวก็เพียงพอที่จะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

สภาวะธรรมเพียงคู่เดียวก็เพียงพอที่จะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน

สภาวะธรรมเพียงคู่เดียวก็เพียงพอที่จะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน

หลวงพ่อปราโมทย์ : ในความเป็นจริงแล้วธรรมะ ถ้าเราเข้าใจแก่นของมัน เพียงอันใดอันหนึ่งก็พอนะ เพียงอันใดอันหนี่งก็พอ เพียงแค่รู้สภาวะธรรมคู่เดียวก็พอ เช่นจิตเผลอไปกับจิตรู้สึกตัว รู้แค่นี้ก็พอแล้ว รู้เป็นหลักไว้ แล้วมันก็รู้อันอื่นเองแหละ เดี๋ยวมันโกรธขึ้นมามันก็รู้เอง มันโลภขึ้นมามันก็รู้เอง จะเห็นจิต แค่รู้คู่เดียวก็พอแล้ว

คือเวลาเรียนกรรมฐาน เรียนสติปัฏฐาน เราไม่ได้เรียนตัวเดียวโดดๆหรอก เราเรียนเป็นคู่ๆ เป็นกลุ่มๆ เรียกว่าเรียนในสิ่งที่เป็นธรรมคู่ สิ่งที่เป็นธรรมคู่เช่น หายใจออกกับหายใจเข้าเป็นคู่ ทำไมต้องเรียนคู่หนึ่ง เพราะมันพลิกแพลง มันเปลี่ยนแปลงให้ดู เดี๋ยวหายใจออกแล้วมันก็หายใจเข้า หรือยืนเดินนั่งนอนนี่ก็อีกกลุ่มหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นธรรมคู่เหมือนกัน ยืนเดินนั่งนอน เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน ทั้งวันมันก็มีแต่ยืนเดินนั่งนอน ถ้ายืนเดินนั่งนอนรู้สึกตัว ก็รู้สึกตัวได้ทั้งวัน หายใจเข้าหายใจออกแล้วรู้สึกตัว ก็หายใจรู้สึกตัวได้ทั้งวัน กรรมฐานเนี่ยนะ อันใดอันหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คู่ใดคู่หนึ่งก็พอ พอที่จะมีสติอยู่ทั้งวัน

หรือดูเวทนาสุขทุกข์เฉยๆ ถ้ามีความสุขก็มีสติ มีความทุกข์ก็มีสติ เฉยๆ ก็มีสติ ก็คือมีสติทั้งวัน พอมีสติแล้วก็ขาดสติอีก พอมีสติกับขาดสติก็เป็นของคู่กันอีก เห็นไหม เรียนก็เรียนคู่ เรียนเป็นคู่ๆ นะ จิตมีราคะกับจิตไม่มีราคะก็เรียนเป็นคู่ๆ เวลาเรียนเรียนตัวไหน ก็เรียนตัวตัวที่มันเด่น อย่างราคะมันเกิดใช่ไหม ผุดขึ้นมาเราก็เห็นว่าจิตมีราคะ ทันทีที่เห็นจิตมีราคะ ราคะก็หายไปแล้ว กลายเป็นจิตที่ไม่มีราคะ แต่ใจเราจะไปเพ่งเล็งที่จิตที่มีราคะ มันจะไม่มาเพ่งเล็งที่จิตไม่มีราคะ งั้นบางที พูดย่อๆ ก็บอกว่าจิตมีราคะให้รู้ จิตมีโทสะให้รู้ จิตมีโมหะให้รู้ สิ่งที่ควบมาก็คือจิตที่ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ

คนใดคนหนึ่ง คนไหนขี้โมโห ก็ดูจิตที่มีโทสะไป แล้วก็เห็นทั้งวันจิตมีสองอย่าง จิตมีโทสะกับจิตที่ไม่มีโทสะ คนไหนขี้โลภ โลภะมากตัณหามากก็ดูจิตที่มีความอยาก เดี๋ยวก็อยาก เดี๋ยวก็ไม่หาย พอรู้ว่าอยากมันก็หายไป จริงๆ แล้วดูเป็นคู่ๆ ความอัศจรรย์ของธรรมะก็คือ ให้เราเรียนรู้ธรรมคู่นะ พอรู้แจ้งในธรรมคู่เราจะรู้ธรรมหนึ่ง จะเข้ามารู้ธรรมที่เป็นหนึ่ง ส่วนธรรมที่เป็นหนึ่งต้องเฉลียวใจขึ้นมารู้เอง เฉลียวใจขึ้นมารู้เอง มันจะปิ๊งขึ้นมาเอง

ให้เราเรียนสิ่งที่เป็นคู่ๆ นี่แหละ สิ่งที่เป็นคู่ๆ มันแสดงไตรลักษณ์ให้ดู สิ่งที่เป้นหนึ่งไม่แสดงไตรลักษณ์ สิ่งที่เป็นหนึ่งก็คือธรรมหนึ่งกับจิตหนึ่ง

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๔
ลำดับที่  ๓
File: 510222
ระหว่างนาทีที่ ๒ วินาทีที่ ๓๙ ถึง นาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๕๔

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Dhammada News : ขอเชิญฟังหลวงพ่อปราโมทย์ แสดงธรรม ที่งานฉลองเจดีย์เขวาสินรินทร์ จ. สุรินทร์

ขอเชิญร่วมฟังหลวงพ่อปราโมทย์ แสดงธรรม ที่งานฉลองเจดีย์เขวาสินรินทร์ (วัดหลวงตาผนึก) จ. สุรินทร์

ในวันอังคารที่ 26 เมษายน 2554 เวลา 17.30 – 18.30 น.

ประวัติหลวงตาผนึก : http://www.dhammada.net/2011/02/19/7690/

วัดป่าเขวาสินรินทร์ จ. สุรินทร์
ค่าพิกัดภูมิศาสตร์
เขตแผนที่ (Zone) 48 P พิกัด-x = 349114 เมตรตะวันออก พิกัด-y = 1659274 เมตรเหนือ

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

MP3 for download:อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา

ทำอย่างไรจึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา

ทำอย่างไรจึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา

หลวงพ่อปราโมทย์:ถ้ามีสติจริงๆนะ สิ่งที่เป็นศีลนะจะอัตโนมัติเลย ถ้ามีสติจริงๆนะสมาธิจะเกิดอัตโนมัติได้ด้วย เพราะเมื่อไรจิตเราฟุ้งซ่าน เรามีสติรู้ทันนะ ความฟุ้งซ่านจะดับจิตจะตั้งมั่นขึ้นมา ได้สมาธินะ งั้นดูจิตๆไปได้สมาธิ เนี่ยบางทีครูบาอาจารย์บางท่านก็บอกว่า ดูจิตเป็นสมถะนะ ถูกของท่านนะ ดูจิตเป็นสมถะ ถูกของท่าน

แต่ถ้าดูเป็นก็เป็นวิปัสสนาได้ ดูกายก็เป็นสมถะได้นะ ไม่ใช่ดูกายเป็นวิปัสสนา ถ้าดูกายแล้วเห็นแต่กายไม่เห็นไตรลักษณ์นะ ก็เป็นสมถะล่ะ ดูจิตนะ เห็นจิตเราฟุ้งซ่าน เรารู้ทันนะ จิตก็สงบเข้ามา ตรงนี้เป็นสมถะ

แล้วมันเป็นวิปัสสนา จะขึ้นวิปัสสนาด้วยการดูจิตจะทำยังไง พูดมาแล้วนะเรื่องศีลใช่มั้ย มีสติรู้จิตเนี่ย ศีลเกิด  มีสติรู้จิต สมาธิเกิด มีสติรู้จิตแล้วทำยังไง ปัญญาจะเกิด การจะเกิดปัญญาได้เนี่ย เราต้องค่อยๆฝึกแยกธาตุแยกขันธ์ไป แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆนะ งั้นพอเรารู้สึกตัวขึ้นมาละ อย่างเราดูจิตดูใจ เราเห็นจิตมีความโกรธเกิดขึ้น เราค่อยๆดูไป เราจะเห็นเลยความโกรธเป็นสิ่งหนึ่งนะ จิตที่เป็นคนรู้ความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เนี่ย เป็นการแยกขันธ์ออกไป

ความสุขเกิดขึ้น เรารู้ทัน มีสติรู้ทันนะ จิตตั้งมั่นอยู่ ถ้ามีสติรู้ทัน แต่จิตไม่ตั้งมั่นมันจะไปเพ่ง ถ้ามีสติรู้ทันแล้วจิตตั้งมั่นเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู จิตมีสัมมาสมาธิหนุนหลังอยู่มันถึงจะเดินปัญญา มันจะแยกธาตุแยกขันธ์ได้

ความสุขเกิดขึ้นอยู่ จิตตั้งมั่นอยู่ สติรู้ความสุขที่เกิดขึ้น ในขณะที่จิตตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นทันทีว่าความสุขกับจิตนี้เป็นคนละอันกัน ความสุขกับจิตก็คนละอันกัน

ถ้าสติระลึกรู้ร่างกายแล้วจิตตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นว่าร่างกายก็อยู่ส่วนหนึ่ง จิตก็อยู่ส่วนหนึ่ง เป็นคนละอันกัน เนี่ยจะค่อยๆแยกนะร่างกายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง

เวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉยๆก็อยู่ส่วนหนึ่ง จิตก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง

กุศลอกุศลทั้งหลาย เช่น ความโลภความโกรธความหลง หรือสภาวะธรรมที่เป็นกลางๆทั้งหลาย ความปรุงแต่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง มันจะแยกจิตออกจากสิ่งอื่นๆ แยกจิตออกจากกาย แยกจิตออกจากเวทนา แยกจิตออกจากจิตสังขารที่เป็นกุศล อกุศล หรือเป็นกลางๆ จิตจะแยกตัวออกมา พอขันธ์มันแยกตัวออกไปแล้วเนี่ย สิ่งที่จะเห็นได้ชัดก็คือขันธ์แต่ละขันธ์แต่ละกองที่แยกออกไปนั้นไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นทันทีนะ ไม่ใช่ตัวเรา

อย่างพอเรามีสติขึ้นมา รู้ร่างกายอยู่ในขณะนั้น จิตตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นว่าจิตอยู่ส่วนหนึ่ง กายอยู่ส่วนหนึ่ง ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา

ถ้าสติระลึกรู้เวทนา เช่น ความสุขเกิดขึ้น จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา จิตตั้งมั่นขึ้นมามันจะเห็นว่าเวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาไม่ใช่ตัวเรา

ถ้าโทสะเกิดขึ้นมา สติระลึกรู้โทสะที่เกิดขึ้น จิตตั้งมั่นเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูอยู่ มันจะเห็นว่าโทสะอยู่ส่วนนึง จิตอยู่อีกส่วนนึง โทสะไม่ใช่ตัวเรา เนี่ยมันจะเห็นลงไปเรื่อย แล้วเห็นว่าไม่มีเราในขันธ์ทั้งหลาย นี่คือการเจริญปัญญานะ

การหัดเจริญปัญญาขั้นแรกก็แยกขันธ์ออกไปก่อน อย่างโทสะกับจิตเนี่ยคนละอันกัน โทสะเนี่ยเรียกว่าสังขารขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์นะ ร่างกายก็ส่วนนึง ร่างกายเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาก็เป็นอีกขันธ์นึงเรียกว่าเวทนาขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์

ถ้าแยกออกไปแล้วเนี่ย มันจะเริ่มเห็นความจริงว่าขันธ์แต่ละขันธ์ที่แยกออกไปไม่ใช่ตัวเราหรอก พวกเราที่หัดภาวนากับหลวงพ่อนะ สังเกตมั้ยว่าไม่นานก็แยกขันธ์ได้ ถ้าไม่มีการแยกขันธ์อย่าพูดเรื่องเจริญปัญญา อย่าพูดเรื่องวิปัสสนา วิปัสสนาคือการเห็นความเกิดดับ เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์นั่นเอง ถ้าขันธ์ยังไม่แยกตัวออกไป ยังเป็นก้อนเดียวกันอยู่นะ มันจะไม่เกิดวิปัสสนาตัวจริงหรอก ทำไมต้องแยกออกไป เพราะวิธีการศึกษาของธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ท่านเรียกว่าวิพัชวิธี วิพัชแปลว่าแยก แยกอะไร แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ แยกออกได้ห้าส่วนก็เรียกว่าขันธ์ห้า บางทีแยกอีกแบบนึง แยกเป็นหกส่วนเรียกอายตนะหก ความจริงก็คือขันธ์ห้าเหมือนกันแหละ แต่แยกออกไปอีกสไตล์นึง หรือแยกอีกแง่มุมนึงอีกมิตินึง แยกเป็นธาตุ ธาตุสิบแปดธาตุ ขันธ์ธาตุอายตนะเนี่ยคือวิปัสสนาภูมิ คือสิ่งซึ่งจะใช้เรียน ทำวิปัสสนา

งั้นบางคนเรียนเรื่องขันธ์ บางคนเรียนเรื่องธาตุ บางคนเรียนเรื่องอายตนะ แต่ใจความก็อันเดียวกันคือการแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ เพื่อจะได้เห็นว่าแต่ละส่วนนั้นก็ไม่ใช่ตัวเรา สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานั้น คือกายกับใจ คือขันธ์ห้าที่มารวมกัน แล้วเราก็มีการเข้าไปหมายรู้ผิดๆ มีสัญญาเข้าไปหมายรู้ผิดๆ เรียกว่าสัญญาวิปลาส  หมายรู้ผิดๆว่าก้อนนี้คือตัวเรา

วิธีที่จะทำลายความวิปลาสนี้นะก็คือหัดแยกขันธ์ไป พอสติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนดู กายกับจิตก็แยกกัน สติระลึกรู้เวทนานะ จิตตั้งมั่นเป็นคนดู เวทนากับจิตก็แยกกัน สติระลึกรู้สังขารนะ จิตตั้งมั่น สังขารกับจิตก็แยกกันละ คนละอันกัน

เนี่ยจะแยกอย่างนี้นะ พอมันแยกเป็นอันๆละ แต่ละอันจะไม่ใช่เรา”

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ ก่อนฉันเช้า

CD สวนสันติธรรมแผ่นที่ 32
File: 521128A
ระหว่างนาที่ ๑๔ วินาทีที่ ๓๒ ถึง นาทีที่ ๒๐ วินาทีที่ ๒๘

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ถ้าภาวนาแล้วอยากได้จะไม่ได้

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

MP3 for download: ภาวนาแล้วอยากได้จะไม่ได้

ภาวนาแล้วอยากได้จะไม่ได้

ภาวนาแล้วอยากได้จะไม่ได้

หลวงพ่อปราโมทย์ : ตามรู้ตามดูไปเรื่อย แต่ไม่ได้หวังว่าดูแล้วจะได้อะไร พอไม่ได้หวังว่าดูแล้วจะได้อะไร มันจะได้ผลเร็วนะ ถ้าเราฝึกด้วยใจที่เป็นกลางแบบนั้นจริงๆ

แต่ถ้าเราภาวนาทุกวันแล้วก็คิดว่าเมื่อไหร่จะได้ๆ จะไม่ได้หรอก ถ้าอยากได้ของดีนะ มันจะไม่ได้

แต่ว่าถ้าเราภาวนาไปเรื่อย มีสติ ดูจิตดูใจของเราเรื่อยๆไป วันนึงต้องได้ ได้เองแหละ จิตมันเป็นของมันเอง ไม่ใช่ว่าเราทำได้ เราทำไม่ได้ เราบังคับไม่ได้ ไม่มีใครสั่งจิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้นะ จิตบรรลุของมันเองเมื่อศีลสมาธิปัญญานี้แก่รอบพอ

เห็นมั้ย เพราะงั้นต้องสะสมนะ ท่านว่าไม่เอาศีลเป็นเป้าหมาย ไม่เอาสมาธิ ไม่เอาปัญญา แต่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ไม่เอาเลย

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
File: 521227
ลำดับที่ ๑๒
ระหว่างนาทีที่ ๒๑ วินาทีที่ ๑๐ ถึง นาทีที่ ๒๑ วินาทีที่ ๕๖

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สัมมาสมาธิแท้ๆ จะเกิดธาตุรู้ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง

mp3 (for download): สัมมาสมาธิแท้ๆ จะเกิดธาตุรู้ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

สัมมาสมาธิแท้ๆ จะเกิดธาตุรู้ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง

สัมมาสมาธิแท้ๆ จะเกิดธาตุรู้ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง

หลวงพ่อปราโมทย์: แต่ถ้าเราเคยฝึกสมาธิมาแล้วนะ จิตเรารวมเข้าไป ตรงที่จิตรวมเข้าไป ถ้าเราฝึกเต็มรูปแบบนะ ของสัมมาสมาธิแท้ๆ ของจิตสิกขาแท้ๆเนี่ย ตรงที่จิตรวมเข้าไปในปฐมฌานเนี่ย จิตยังไม่มีธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ เด่นดวง เพราะในปฐมฌานยังมีวิตกมีวิจารอยู่ ยังมีการตรึก มีการตรอง ถึงตัวอารมณ์อยู่ จิตยังสนใจไปยังที่ตัวอารมณ์เป็นหลัก เป็นเครื่องผูกมัดจิตให้สงบ

ทีนี้พอขึ้นถึงฌานที่ ๒ ทุติยฌาน วิตกวิจารดับไป ถ้าพูดแบบอภิธรรม มันคือฌานที่ ๓ ของอภิธรรม เป็นฌานที่ ๒ ของพระสูตร เราพูดแบบพระสูตรก็แล้วกัน พอขึ้นถึงฌานที่ ๒ วิตกวิจารดับไป มีปีติ มีสุข เอกัคคตา ในขณะนั้นจะเกิดองค์ธรรมที่พิเศษอัศจรรย์ชนิดหนึ่งขึ้น ในพระสูตรจะเรียกว่า เอโกทิภาวะ

เอโกทิภาวะ หรือภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง ในอรรถกถาบอกว่า คือสัมมาสมาธินั่นเอง เอโกทิภาวะก็คือ สภาวะที่ใจนี้ตั้งมั่น เด่นดวง ขึ้นมา แล้วมันเห็นอารมณ์ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของถูกรู้ถูกดู ใจมันเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู เนี่ยถ้าใจเราเข้าไปถึงฌานที่ ๒ ทุติยฌาน เราจะได้ เอโกทิภาวะ ขึ้นมา และถ้าถึง ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ถึงฌานที่ ๘ อะไรเหล่านี้ เอโกทิภาวะก็ยังอยู่ ใจจะตั้งมั่นเด่นอยู่อย่างนั้น

พอออกจากฌานแล้ว เอโกทิภาวะ นี้ยังทรงตัวอยู่อีกช่วงหนึ่ง อีกหลายชั่วโมง หรืออีกเป็นวันๆได้ ทรงตัว ถ้าฌานนั้นเกิดจากการเดินจงกรม เราเดินจงกรมอยู่แล้วจิตรวมลงไปถึงฌานที่ ๒ เนี่ย ถอยออกมาแล้วนะ เอเอโกทิภาวะทรงตัวอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้นถ้าเราทำสมาธิด้วยการเดินได้เนี่ย กำลังของความรู้สึกตัวนี้จะทรงอยู่นานมาก จะนานกว่านั่ง เพราะฉะนั้นสมาธิที่เกิดจากการเดินจงกรมจะเข้มแข็ง

ทีนี้พอเรามีตัวผู้รู้ขึ้นมา พระป่าท่านจะเรียกว่าตัวผู้รู้นะ ทันทีที่จิตทรงมีตัวผู้รู้ขึ้นมาแล้วเนี่ย เราจะเห็นทันที ว่าร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน เนี่ย ไม่ใช่ตัวเรา เห็นมั้ย พอใจทรงตัวขึ้นมา มีสัมมาสมาธิขึ้นมา ปัญญาจะเกิดขึ้นมาทันทีเลย จะเห็นทันทีเลยว่า กายที่ยืนเดินนั่งนอนอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา กายที่หายใจเข้าหายใจออกนี้ไม่ใช่ตัวเรา กายที่พองที่ยุบนี้ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นทันที ไม่ต้องคิดนะ แต่จะเห็นทันที จะรู้สึกทันที

เนี่ยถ้าเราฝึกเต็มภูมินะ เราจะเดินมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นกายานุปัสสนานะ หรือเวทนานุปัสสนาก็ตามเนี่ย ในอภิธรรมท่านถึงสอบบอกว่า เหมาะกับคนเล่นฌาน กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จะทำได้ดีถ้าเราทำฌาน และฌานนั้นถ้าจะดีจริงๆต้องถึงฌานที่ ๒ แล้ว จะมีเอโกทิภาวะขึ้นมา แล้วจะเห็นทันทีว่ากายนี้ไม่ใช่เรา เวทนาไม่ใช่เรา จะเห็นอย่างนั้น

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๕๕๑

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๔
File: 510216A
ลำดับที่ ๑
ระหว่างนาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๕๑ ถึง นาทีที่ ๒๑ วินาทีที่ ๕๕

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สติคือความระลึกได้

mp3 (for download): สติ คือ ความระลึกได้

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

สติคือความระลึกได้

สติคือความระลึกได้

หลวงพ่อปราโมทย์ :

สติแท้ๆ เป็นความระลึกได้ สติมันระลึกถึงรูปธรรมนามธรรม สติทำหน้าที่ระลึก สติไม่ได้ทำหน้าที่กำหนด สติคือความระลึกได้ สติไม่ได้แปลว่าความกำหนดได้ สติเป็นความระลึก อะไรทำให้สติเกิดขึ้น ในพระอภิธรรมก็สอนนะ ถิรสัญญาคือการที่จิตจำสภาวะธรรมได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ ถิรสัญญาคือการที่จิตจำสภาวะธรรมได้แม่น หน้าที่เราต้องหัดรู้สภาวะไปเรื่อยๆ นะ ความโกรธเกิดขึ้นก็รู้ ความโลภเกิดก็รู้ ความหลงเกิดก็รู้ ร่างกายยืนอยู่ก็รู้ เดินอยู่ก็รู้ นั่งอยู่ก็รู้ นอนอยู่ก็รู้ เป็นสุขก็รู้ เป็นทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ อะไรเกิดขึ้นในกายในใจคอยรู้ไปเรื่อยๆ อย่าไปแทรงแซง ให้ตามรู้ไปเรื่อย ๆ ต้องตามรู้นะ

ในสติปัฏฐานท่านถึงใช้คำว่ากายานุปัสสนา กายานุปัสสนา การตามเห็นกายเนืองๆ เวทนานุปัสสนา การตามเห็นเวทนาเนืองๆ จิตตานุปัสสนา การตามเห็นจิตเนืองๆ ธัมมานุปัสสนา การตามเห็นสภาวะธรรมเนืองๆ ตามเห็นเนืองๆ ตามเห็นบ่อยๆ ก็จะจำสภาวะได้แม่น พอมันจำสภาวะได้แม่นสติจะเกิดเอง สติจะเกิดโดยไม่ได้จงใจให้เกิด ไม่ได้กำหนด ไม่ได้อะไรทั้งสิ้น มันเกิดเอง ถ้าสติตัวจริงตัวแท้เกิดเนี่ย สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิชนิดที่เป็นขณิกสมาธิก็จะเกิดได้ เพราะอะไร เพราะทันที่สติเกิด จิตจะเป็นกุศล จิตที่เป็นกุศลเนี่ยมีความสุขอยู่ในตัวเอง ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ใจมันจะเกิดสมาธิมาอัตโนมัตินะ แต่จะอยู่ชั่วขณะ เรียกว่าขณิกสมาธิ

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๕๕๑

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๔
File: 510216A
ลำดับที่ ๑
ระหว่างนาทีที่ ๑๑ วินาทีที่ ๓๓ ถึง นาทีที่ ๑๓ วินาทีที่ ๒๑

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Page 2 of 41234