Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมะที่แท้จริงที่จะพาข้ามภพข้ามชาติมีนิดเดียวครับ

คือเข้ามารู้ หยุด อยู่ที่จิต แล้วจิตมันพลิกออกไปเอง

แต่เพราะความไม่รู้ เราจึงวนเวียนอยู่ภายนอก หรือมีจิตส่งออกนอก

ไม่สามารถปฏิบัติเพื่อให้จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้

 

ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาๆ เท่านี้เอง

ที่ผิดธรรมดาก็เพราะไปหลงความปรุงแต่ง

ผมได้อ่านหยดน้ำบนใบบัวที่พวกเราพิมพ์ไว้

ก็พบว่าในขั้นแตกหักของหลวงตา

ก็คือจุดที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งนี้เอง

ไม่มีการกระทำใดๆ นอกจาก รู้ แม้แต่นิดหนึ่ง

ท่านเขียนไว้อย่างนี้ครับ

 

“จิตและสติปัญญาเป็นราวกับว่าต่างวางตัวเป็นอุเปกขามัธยัสถ์

ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใด ๆ ในขณะนั้นจิตเป็นกลางๆ

ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน

สติก็รู้อยู่ธรรมดาของตนไม่จดจ่อกับสิ่งใด

 

ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล

เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิต อันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ

ได้กระเทือนและขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์

คือใจ กลายเป็น วิสุทธิจิต ขึ้นมาแทนที่”

 

นี่เป็นขั้นการปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างถึงที่สุดครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ศัตรูร้ายของนักปฏิบัติ

ศัตรูร้ายของนักปฏิบัติ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า

ศัตรูร้ายของนักปฏิบัติชาวเมือง หรือพวกปัญญาชนที่สำคัญที่สุด

ได้แก่ความสงสัยอย่างหนึ่ง กับความเบื่ออีกอย่างหนึ่ง

 

ความสงสัยนั้นมีตั้งแต่สงสัยว่า จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง

จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง

ตลอดไปถึงความสงสัยว่า

ปฏิบัติเพียงตามรู้ปรากฏการณ์ทางกายและจิตเท่านี้น่ะหรือ

จะทำให้ถึงมรรคผลนิพพานได้จริง

 

ส่วนความเบื่อนั้น เกิดจากการที่เคยอ่านมาก ฟังมาก คิดมาก

เมื่อต้องมาเฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์ซ้ำๆซากๆ อยู่ในกาย เวทนา จิต

ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะรู้สึกจำเจ ไม่เห็นมีอะไรแปลกใหม่

หรือเบื่อที่จะเฝ้ารู้ เพราะไม่สนุกเร้าใจเหมือนกามคุณทั้ง 5

ถูกกามคุณทั้ง 5 ชักจูงให้เบื่อการปฏิบัติ

 

ถ้าผู้ปฏิบัติเพียงแต่รู้ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของความสงสัย

ก็ไม่ต้องมีเรื่องให้คิดค้นคว้าใดๆ อีก คงตั้งหน้า รู้ ไปอย่างเดียว

และเมื่อเห็นความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

ผู้ปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะปฏิบัติไปด้วยความไม่เบื่อ

 

ผมพากเพียรบอกกับพวกเรามานาน ซ้ำแล้วซ้ำอีก

จนบางคนรู้สึกขำ แล้วเอาไปพูดล้อเลียนเล่นกันก็มี

คือบอกว่า สงสัยก็ให้รู้ว่าสงสัย เบื่อก็ให้รู้ว่าเบื่อ

แต่ไม่ว่าจะพูดบ่อยเพียงใด ก็หาคนที่เข้าใจ และปฏิบัติตามได้ยากเต็มที

เพราะรู้สึกว่าเป็นธรรมที่ตื้นเหลือเกิน

ดังนั้น คนที่ผ่านด่านคู่นี้ได้ จึงมีไม่มากนัก

เมื่อคุณพัลวันผ่านด่านความสงสัยได้อีกคนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องน่าอนุโมทนา

 

ความสงสัย ความเบื่อ ความรัก ความโลภ

ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่

ความสุข ความทุกข์ ความสงบ ตลอดจนกุศลธรรมทั้งปวง

ล้วนแต่เป็นกิริยาอาการหรือความปรุงแต่งของจิตทั้งสิ้น

ถ้าเป็นความปรุงแต่งฝ่ายอกุศล ก็ล้วนเป็นความเศร้าหมองของจิต

ถ้าเป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล ก็เป็นความแจ่มใส เบาสบายของจิต

แต่ทั้งหมดก็ล้วนไม่ใช่จิต ถ้าเข้าใจจุดนี้และจิตฉลาด

ไม่ถูกความปรุงแต่งครอบงำ จิตก็จะเป็นอิสระ หมดภาระวุ่นวายต่างๆ

 

แต่การจะรู้ความสงสัย (หรือความปรุงแต่งอื่นๆ) ต้องรู้ให้ถูกด้วย

คือรู้เข้าไปที่  “ความรู้สึกสงสัย” อันเป็นสิ่งที่ี่นักอภิธรรมเรียกว่าปรมัตถธรรม

ไม่ใช่ไปรู้ “เรื่องที่สงสัย” อันเป็นบัญญัติ

เช่นเมื่อฟังคำสอนเรื่องการดูจิตแล้ว เกิดสงสัยว่า

“เอ แล้วเราจะดูจิตอย่างไรดี?” อันนี้เป็นเรื่องที่สงสัย เป็นของสมมุติบัญญัติ

เราไม่ต้องไปเฝ้าดูความคิดหรือประโยคที่ว่านี้

แต่ให้ระลึกรู้ตรงเข้าไปที่ “ความรู้สึกสงสัย”

ตัวความรู้สึกสงสัยนี้แหละเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่แสดงไตรลักษณ์ได้

เมื่อรู้เข้าไปที่ความรู้สึกนี้แล้ว จะเห็นระดับความเข้มของความรู้สึกสงสัย

ว่าไม่คงที่ แล้วก็เห็นมันดับไป อันนี้คือการเห็นไตรลักษณ์

 

ถ้ารู้ปรมัตถธรรมของความสงสัยเป็นแล้ว

ก็ไม่ยากที่จะรู้ปรมัตถธรรมของความรู้สึกอื่นๆ ได้ไม่ยาก

 

ดังนั้น อย่ามองข้ามการรู้ความสงสัยเลยครับ

นี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นสนุกๆ แต่อย่างใด

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ความซื่อตรงต่อพระธรรม

ความซื่อตรงต่อพระธรรม

เรื่องการปฏิบัตินั้น เราต้องปฏิบัติด้วยความซื่อตรงต่อพระธรรม
ไม่ใช่ปฏิบัติด้วยความภักดีต่อกิเลส
ผู้ปฏิบัติจำนวนหนึ่ง ปฏิบัติด้วยความต้องการแอบแฝง
เช่นอยากเด่น อยากดัง อยากได้รับคำชมเชยและการยอมรับจากหมู่เพื่อน
หรือปฏิบัติด้วยวิภวตัณหาอันเป็นไปตามอำนาจของโทสะ
คือเห็นโลกนี้เป็นฟืนเป็นไฟ จะต้องรีบหนีให้ได้ในวันนี้พรุ่งนี้ด้วยความไม่ชอบใจ

บ้างก็ไม่ซื่อตรงต่อแนวทางปฏิบัติที่พระศาสดาทรงวางไว้
คือแทนที่จะปฏิบัติโดยรู้เท่าทันความทุกข์ อันเป็นสัจจะสำคัญประการแรก
กลับมีตัณหา หรือความอยาก อันเป็นตัวสมุทัยที่จะละทุกข์
โดยไม่ทราบว่า การปฏิเสธทุกข์ ก็คือการปฏิเสธอริยสัจจ์ข้อแรก

ไม่มีใครหนีขันธ์ได้ ตราบใดที่ยังไม่นิพพาน
ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะอยู่กับขันธ์ได้โดยไม่ทุกข์
ทำอย่างไร จึงจะอยู่กับโลกได้ โดยรู้ทันโลก แต่ไม่ทุกข์เพราะโลก

นักปฏิบัติไม่ใช่คนอ่อนแอท้อแท้แพ้กิเลส ไม่ใช่คนวิ่งหนีความจริง
แต่ต้องเข้าเผชิญกับทุกข์ อันเป็นความจริง ด้วยสติปัญญา
โดยดำเนินตามแนวทางที่พระศาสดาทรงพิสูจน์แล้วว่าเป็นทางพ้นทุกข์

สมัยที่ผมหัดปฏิบัติใหม่ๆ นั้น ก็ล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วน
บางช่วงบางชาติก็ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจเข้าต่อสู้เพื่อแสวงหาสัจจธรรม
บางช่วงบางชาติก็ท้อแท้ทอดอาลัย อับจนหนทางที่จะปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์
แต่เมื่อได้พบหลวงปู่ดูลย์ ได้ฟังคำสอนเรื่องอริยสัจจ์
นับจากวันนั้น ผมลืมความเป็นนักปฏิบัติ ลืมการแสวงหาสัจจธรรม
ทุกวันๆ มีแต่เฝ้าเรียนรู้อยู่ภายในจิตใจด้วยความขยันขันแข็ง
โดยไม่ได้คิดว่า ทำไปแล้วจะรู้อะไร จะละอะไร จะได้อะไร
รู้แต่เพียงว่า ตอนนี้จิตถูกกิเลสครอบงำ
ตอนนี้จิตต่างคนต่างอยู่กับกิเลส
ตอนนี้จิตทะยานไปตามอำนาจของตัณหา
ตอนนี้จิตสงบเบิกบาน เป็นอิสระชั่วคราวจากตัณหาหยาบๆ
แต่ละวัน รู้เห็นวนเวียนอยู่เพียงเท่านี้
แต่มันเหมือนกับว่าจิตมีงานทำ ก็ทำเรื่อยไป
โดยไม่คิดว่า ทำไปแล้วจะได้เงินเดือนเมื่อไร

เมื่อพอจะช่วยตนเองได้แล้ว ผมพิจารณาถึงเพื่อนร่วมโลกนับแต่หมู่สัตว์ขึ้นมา
ก็เกิดความสลดสังเวชใจอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาเห็นว่า
สัตว์ส่วนมาก ไม่ผิดอะไรกับหอยทากตาบอด ที่คืบคลานวนเวียนอยู่ก้นเหว
ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะคลานพ้นจากหุบเหวนั้นขึ้นมาได้
เพราะสัตว์ส่วนมากนั้น พอใจกับภพของตนเสียแล้ว
ไม่ได้คิดเฉลียวใจว่า ยังมีทางออกที่ดีกว่าก้นเหวที่ตนรู้จัก
บางพวกที่ฉลาด เงยหน้าขึ้นเห็นแสงสว่างเบื้องบน
แต่ก็ท้อแท้ใจว่า จะต้องไต่หน้าผาสูงชันยากเย็นเสียเต็มประดา

มีน้อยกว่าน้อย ที่มองเห็นแสงสว่างเบื้องบนซึ่งพระศาสดาทรงบุกเบิกไว้
แล้วน้อยลงไปอีก ที่จะสวมหัวใจของพระมหาชนก
ในการว่ายน้ำข้ามห้วงมหรรณพ หรือไต่หน้าผาขึ้นจากก้นเหว

ผมเห็นใจและเข้าใจผู้ปฏิบัติที่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ใจเป็นครั้งคราว
เพราะรู้ว่างานนี้ยาก เหมือนการว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรของพระมหาชนก
แต่ ทางทางนี้ ต้องเดินเอง
ก็ทำได้แค่ชวนผู้สนใจให้มาเดินเป็นเพื่อนกัน
ทุกวันนี้ก็มีเพื่อนมาร่วมเดินด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่
บางคนเดินช้า บางคนเดินเร็ว
บางคนเดินตรงทาง บางคนแวะข้างทาง
บางคนพอใจที่จะก้มหน้าก้มตาเดินไปเงียบๆ
ส่วนบางคน พอใจที่จะชักชวนเพื่อนให้มาเดินด้วยกันอีกมากๆ
ผมเองก็ยังต้องเดินอยู่เหมือนกัน ถึงจะไม่ลำบากเท่าเมื่อปฏิบัติแรกๆ
แต่ก็ยังต้องพยายาม ไม่อาจจะหยุดพักแบบนิ่งนอนใจได้

จะเดินแบบไหนก็ไม่เป็นไรหรอกครับ
ขอให้เดินให้ตรงเป้าหมาย และอย่าหยุดพักนานนักก็แล้วกัน

โดย คุณสันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

 เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ธรรม

ธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ธรรม

ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มุ่งต่ออรรถต่อธรรมจริงๆ

มีการสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันตามกาลอันสมควรครับ

ไม่ใช่ว่า พอเจอหน้ากันก็มาเล่าๆ กันเสมอไปด้วยความฟุ้งซ่าน

หรือถึงขนาดปิดบังซ่อนเร้นการปฏิบัติของตน อันนั้นก็เกินไปหน่อย

 

ผมขอเล่าธรรมเนียมปฏิบัติในสายพระป่าที่เคยพบมา

เมื่อพระท่านมาพบกัน ท่านจะทักทายกันพอสมควร

จากนั้นถ้าไม่มีใครเริ่มชวนสนทนาธรรม ท่านก็จะนั่งกันเงียบๆ

แต่หากพระผู้ใหญ่เห็นสมควร ท่านก็อาจจะเล่าประสบการณ์ของท่าน

โดยมุ่งประโยชน์ของผู้ฟังเป็นสำคัญ

หากผู้ฟัง แม้จะเป็นพระผู้น้อย แต่ภูมิธรรมเสมอกันหรือสูงกว่า

พระผู้ใหญ่ท่านก็จะเปิดโอกาสว่า หากมีสิ่งใดจะแนะนำเพิ่มเติมก็ขอให้บอกกัน

ท่านไม่วางฟอร์มว่า ผู้อาวุโสจะต้องรู้ดีกว่าผู้น้อยเสมอไป

 

สำหรับพระผู้น้อยถ้าจะเล่าประสบการณ์ถวายผู้ใหญ่

ก็จะเริ่มจาก “การขอโอกาส” คือขออนุญาตเล่า/ถาม เสียก่อน

เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงเล่าถวาย

หากจะเล่าเพื่อสงเคราะห์พระผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติผิด ท่านก็จะขอโอกาสท้วงติง

หรือเล่าโดยเปรียบเทียบให้ผู้ใหญ่ได้คิดในจุดที่ติดอยู่

หากเป็นการเล่าเรื่องของท่านเอง ก็เพื่อให้พระผู้ใหญ่ท้วงติงสิ่งที่ผิด

หรือขออุบายธรรมที่ยิ่งๆ ขึ้นเพื่อนำไปปฏิบัติอีก

ไม่ใช่เล่าเพื่อยกหูชูหางตนเอง ขืนทำเช่นนั้นจะถูกฉีกหน้ากากขาดกลางศาลาเลย

 

ท่านเล่าประสบการณ์กันด้วยมารยาทอันงาม

และด้วยความเมตตาต่อกันมากครับ เห็นแล้วเย็นตาเย็นใจเหลือเกิน

แม้พวกเราฆราวาส หากมุ่งปฏิบัติเอาจริงเอาจัง

พระท่านเข้าใจ ท่านก็ปฏิบัติกับเราเหมือนพระองค์หนึ่ง

มีอะไรควรเล่า ควรบอก แม้แต่เรื่องของจิตที่ละเอียดลึกซึ้ง ท่านก็บอกให้

 

เคยแหย่ท่านว่า ท่านอาจารย์มาเล่าเรื่องอย่างนี้ให้ฆราวาสฟัง

จะไม่เป็นการผิดพระวินัยหรือ

ท่านตอบว่า “พระวินัยเอาไว้กำหราบคนหน้าหนา

ไม่ได้เอาไว้ปิดกั้นผู้ปฏิบัติธรรม”

โดย คุณสันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

 เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เวทนานุปัสสนา

เวทนานุปัสสนา

หากผู้ปฏิบัติมี จิตที่มีสติสัมปชัญญะแล้ว

เมื่อเอาสติไประลึกรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม อันใดก็ได้

สิ่งที่ถูกระลึกรู้จะแสดงไตรลักษณ์ทันที

ไม่ต้องรอว่าทำไปนานๆ แล้วจึงจะเห็นไตรลักษณ์

 

ตัวอย่างเช่นเกิดความทุกข์ทางกาย เช่นปวดฟัน

ถ้าดูเป็นจะเห็นชัดว่า ความปวดฟันไม่ใช่กาย แต่เป็นสิ่งที่แทรกอยู่ในกาย

ระดับความปวดก็ไม่คงที่ เดี๋ยวปวดมาก เดี๋ยวปวดน้อย อันนี้มันแสดงอนิจจัง

 (แต่เราไม่ต้องตามพากษ์นะครับ ไม่ต้องพากษ์ว่า อ้อ อย่างนี้อนิจจังนะ)

บางขณะความปวดก็ดับหายไป อันนี้แสดงทุกขัง

และไม่ว่ามันจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป มันก็ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา

อันนี้ก็แสดงความเป็นอนัตตาอยู่แล้ว

 

เมื่อจิตรู้เวทนาอยู่นั้น บางครั้งจิตก็เกิดโทสะเมื่อรู้ทุกข์เวทนา

บางคราวเกิดราคะเมื่อรู้สุขเวทนา บางคราวเกิดโมหะคือจับอารมณ์ได้ไม่ชัด

จากนั้นจะเกิดตัณหาคือความทะยานอยากเข้าไปยึดเวทนาที่รู้นั้น

แล้วความเป็น เรา ก็เกิดขึ้น จิตก็เสวยอารมณ์นั้นไป

ทุกข์ที่เกิดจากความเป็นตัวตนของจิตก็เกิดขึ้น

แล้วทุกข์เพราะความไม่สมอยากบ้าง

เพราะความพลักพรากจากอารมณ์ที่พอใจบ้าง

เพราะการพบอารมณ์ที่ไม่พอใจบ้าง

 

จิตก็ค่อยๆ สะสมความรู้ในหลักอริยสัจจ์ ที่เห็นว่า

ความอยากเป็นเหตุของความทุกข์

หมดอยาก จิตก็หมดทุกข์

คงเหลือแต่เวทนาล้วนๆ ไม่มีความทุกข์ของจิต

 

ส่วนที่คุณ บอกว่ารู้เวทนาจนดับไป แล้วไม่มีเวทนาจะดูนั้น

ที่จริงไม่ใช่ว่าไม่มีเวทนาหรอกครับ

เพราะเวทนามีอยู่เสมอ ไม่สุข ก็ทุกข์ หรือเป็นกลาง

ถ้าดูจนเวทนาสุขทุกข์ดับแล้ว

ก็รู้เวทนาคือความเป็นกลางเฉยๆ นั้นต่อไป

แม้อุเบกขาเวทนา ก็จะแสดงไตรลักษณ์เช่นเดียวกันครับ

 

มหาสติปัฏฐานนั้น เมื่อจะทำ ต้องทำให้ต่อเนื่องนะครับ

อย่าไปถูกกิเลสหลอก ว่าดูจนว่างๆ แล้ว หมดสิ่งที่จะดูแล้ว

ไม่มีอะไรจะรู้ ก็รู้ว่าง จนปล่อยวางความว่างอีกทีหนึ่งนะครับ

โดย คุณสันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

 เมื่อวันที่  12 พ.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : หลวงปู่มั่นพูดถึงพระอรหันต์

หลวงปู่มั่นพูดถึงพระอรหันต์

ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่ง ท่านเล่าให้ผมฟังว่า
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเคยปรารภธรรมให้ลูกศิษย์(พระ) ฟังว่า
ในประเทศไทยนี้ ยุคก่อนท่านมีพระอรหันต์เพียง 7 องค์
2 องค์แรกคือพระโสณเถร และพระอุตตรเถร
ผู้มาประกาศพระศาสนาในสุวรรณภูมิ
อีก 5 องค์เป็นพระพื้นเมือง ส่วนมากจะอยู่แถบล้านนา
(จะเห็นว่า ล้านนาเจริญในธรรมสูงมาก
ปราชญ์ทางพระศาสนาสมัยก่อนเป็นพระล้านนาแทบทั้งนั้น)

ต่อมาถึงยุคสมัยของท่านพระอาจารย์มั่น
ท่านกล่าวว่ามีพระอรหันต์ 5 องค์
(ขอย้ำว่าท่านพยากรณ์กับพระนะครับ ไม่เป็นอาบัติ)
คือสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์นี้เป็นพระชีวิตสมสีสี (สำเร็จอรหันต์ในขณะที่กำลังจะตาย-ผู้เรียบเรียง)
หลวงปู่บุญ ปัญญาวุฑโฒ วัดบุญญานุสรณ์ อุดร เป็นศิษย์เจ้าคุณอุบาลี
ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
ส่วนองค์ที่ 5 ท่านพระอาจารย์มั่นไม่พยากรณ์ว่าคือองค์ใด
แต่ศิษย์ก็เชื่อกันว่าคือท่านพระอาจารย์มั่นเอง

สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส

เมื่อสิ้นท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว
ในงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น
ศิษย์ของท่านที่จบพรหมจรรย์แล้วในขณะนั้น มาร่วมงาน 37 รูป
พระอนาคามีนับร้อย ส่วนพระโสดาบัน สกิทาคามี
นับไม่ถูกเพราะมีทั้งพระทั้งฆราวาส

อันนี้เล่าให้ฟังไว้เล่นๆ เป็นข้อมูลเฉยๆ ครับ
ไม่มีใครยืนยันได้หรอกว่า จริงหรือไม่จริง
เพราะคนที่จะยอมรับก็ไม่มีหลักฐาน
ส่วนคนที่จะปฏิเสธ ก็ไม่ได้มีภูมิรู้ที่จะปฏิเสธได้ด้วยตนเอง

โดย คุณสันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ปฎิบัติธรรมเพื่อละอะไร?

ปฎิบัติธรรมเพื่อละอะไร?

การที่เรารู้ทันกิเลสที่กำลังปรากฏแล้ว กิเลสอ่อนกำลังลงหรือหายไปนั้น
ไม่ใช่เพราะเราไปไล่กิเลสไปหรอกครับ
อย่างมีใครสักคนมาด่าคุณ คุณฟังแล้วโกรธ
พอโกรธแล้วก็จะยิ่งเพิ่มความสนใจคนที่มาด่าคุณมากขึ้น
ยิ่งสนใจก็ยิ่งคิดยิ่งแค้น ความโกรธก็ยิ่งรุนแรงขึ้น
แต่เมื่อใดคุณย้อนกลับมาเห็นความโกรธที่กำลังเกิดขึ้น
แล้วเห็นว่ามันทำให้จิตใจของคุณเป็นทุกข์
จิตใจของคุณก็จะไม่คล้อยตามสิ่งที่กิเลสสอนให้ทำ
เช่นไม่ตัดสินใจโดดชกคนที่มาด่าเรา
และในขณะที่รู้ทันกิเลสอยู่นั้น ความสนใจของเราไม่ได้อยู่ที่คนที่มาด่าเรา
ไม่ได้คิดปรุงแต่งเพิ่มเติมว่าเขาไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้
กิเลสก็เหมือนไฟที่ขาดเชื้อ มันก็อ่อนกำลังแล้วดับไปเอง

เราปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อละกิเลส
แต่เพื่อละความเห็นผิดของจิตใจที่ไปหลงเชื่อวิ่งตามกิเลส
แล้วพาทุกข์มาให้ตัวเอง
แต่เราก็จำเป็นต้องรู้กิเลส เพราะถ้ารู้ไม่ทัน กิเลสมันจะทำพิษเอา
คือถ้ามันครอบงำจิตใจได้ มันจะพาคิดผิด พูดผิด ทำผิด
แล้วจะนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้

การที่เรารู้กิเลสนั้น เราไม่ได้รู้เพื่อจะละมัน
เพราะตราบใดยังมีเชื้อของกิเลสหลบซ่อนอยูในจิตใจส่วนลึกแล้ว
หากมันมีผัสสะทางตา หู .. ใจ
กิเลสที่ซ่อนนอนก้นอยู่ในจิตใจก็จะผุดขึ้นมา
เพื่อกระตุ้น เร่งเร้า ให้เราหลง ให้เรารัก ให้เราชัง สิ่งต่างๆ
จิตใจก็เสียความเป็นกลางไป

และเราไม่ต้องไปคิดเรื่องตัวผู้รู้อะไรหรอกครับ
ถ้ากิเลสเกิดแล้วรู้ว่ามีกิเลส
และรู้ทันจิตใจตนเองว่า มันยินดี ยินร้ายตามกิเลสหรือไม่
มันหลง มันเผลอ มันอยาก มันยึด หรือไม่
รู้เรื่อยๆ ไป ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะเข้าใจเองว่า
“ถ้าจิตหลงตามแรงกระตุ้นของกิเลส
แล้วเกิดความอยาก ความยึดขึ้นมาเมื่อใด ความทุกข์ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น”
จิตก็จะมีฉลาดพอ ที่จะไม่หลงกลกิเลสที่มันรู้ทันแล้วอีกต่อไป

โดย คุณสันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

  7 ก.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : อาโลโกอุทปาทิ

อาโลโกอุทปาทิ

ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ธรรมนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงสภาวธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ชุดหนึ่งว่า
“ดวงตาเกิดขึ้นแล้ว  ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
และ “แสงสว่าง”  (อาโลโก) เกิดขึ้นแล้ว”

อาโลโก ตัวนี้ เป็นคนละเรื่องกับอาโลกกสิณ
ในขณะที่จิตผ่านมรรค  มรรคจะแหวกขันธ์ที่ห่อหุ้มจิตแท้ธรรมแท้ออกไป
ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นวิสังขารธรรม
ไม่มีเยื่อหรือใยอะไรสักนิดเดียวที่จะกล่าวได้ว่า  เป็นลักษณะของรูปหรือนาม
ก็จะปรากฏออกมา  เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ
(อย่าเข้าใจว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งตรงข้ามกับขันธ์นะครับ
สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นคู่ หรือเป็นสิ่งเดี่ยวๆ แต่เป็นความบริสุทธิ์ที่พ้นจากขันธ์ 5)
เมื่อจิตเข้าถึงความบริสุทธิ์ล้วนๆ แล้ว 2 – 3 ขณะ
จะเกิดแสงสว่างผุดขึ้นจากความไม่มีอะไรเลย แล้วจิตจะตกภวังค์นิดหนึ่ง
พอถอยขึ้นมาก็จะเกิดอาการจิตยิ้มดังที่กล่าวไปแล้ว

โดย คุณสันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : โอภาสและแสงต่างๆ

โอภาสและแสงต่างๆ

สิ่งที่เรียกว่า โอภาส

จะเกิดในระหว่างกำหนดรู้ความเกิดดับของอารมณ์ตามหลักของวิปัสสนากรรมฐาน

แต่จิตเกิดพลิกตัวกลับมาเดินในภูมิของสมถกรรมฐาน

โดยเจ้าตัวไม่รู้ทัน แล้วเกิดโอภาส เป็นความสว่างที่ฉายออกไปภายนอก

บางท่านอยู่ในถ้ำมืดๆ สามารถมองเห็นทุกอย่างชัดเจนเหมือนอยู่ในที่สว่าง

หรือในป่าเวลากลางคืน  กลับมองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนเหมือนอยู่กลางแสงจันทร์เต็มดวง

บางครั้งน้อมเอาความสว่างโอภาส ไปรู้เห็นพวกกายทิพย์ ก็สามารถทำได้

 (นิมิตที่เป็นความสว่าง ก็สามารถใช้น้อมออกไปรู้สิ่งภายนอกได้เช่นกัน)

คนที่หลง โอภาส บางคนจะคิดว่าตนเองบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว

จัดเป็นอาการติดวิปัสสนูปกิเลสอย่างหนึ่ง

 

สิ่งที่เป็นแสงสว่างอีกอย่างหนึ่ง เป็นลักษณะมัวๆ เรืองแสงหน่อยๆ

อันนั้นเป็นกิเลสตระกูลโมหะ ที่แทรกเข้ามาในจิตผู้ปฏิบัติ

และถ้ามันค่อยๆ ผ่องใสขึ้นเรื่อยๆ

จนถึงขั้นจิตประภัสสร นั่นคือหัวโจกของกิเลสตระกูลโมหะ คืออวิชชา

แสงสว่างในตระกูลโมหะนั้น ไม่ได้ฉายออกไปข้างนอก

แต่ห่อหุ้มคลุมบัง หรือแทรกอยู่กับจิตผู้รู้

 

ความสว่างอีกอย่างหนึ่งคือ ปัญญา

อันนี้เป็นความรู้สึกสว่างสดใสในจิตใจ เมื่อจิตไปรู้เห็นไตรลักษณ์เข้า

เช่นเมื่อผู้ปฏิบัติเห็นศพคนตาย หรือบิดามารดาตาย

จิตใจจะเกิดความสว่างผ่องใส  เพราะเห็นจริงในสัจธรรมว่า

 ใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา

 

ความสว่างอีกอย่างหนึ่งเป็น รัศมีของจิต

 ที่จริงจิตของแต่ละคน(ที่ดีๆ) จะมีรัศมี

จิตที่ละเอียดประณีตมาก ยิ่งมีรัศมีมาก

เช่นพวกเทพชั้นล่างๆ เช่นรุกขเทวดา มีรัศมีเล็กๆ ประมาณแสงดาวเท่านั้น

ส่วนเทพชั้นสูงขึ้นไป หรือพรหม จะมีรัศมีแผ่ซ่านไปไกล

สำหรับผู้ทรงฌาน  ก็มีรัศมีมากเช่นกัน

เวลาเจอกับพวกกายทิพย์

เขาจะรู้บารมีกันตรงที่รัศมีมากน้อยกว่ากันนี่แหละครับ

แต่รัศมีนี้ หมายถึงรัศมีในภาวะปกติ

บางคนที่ชำนาญในฌาน สามารถเปล่งรัศมีมากกว่าปกติได้เป็นคราวๆ

 

สำหรับบรรดาพระอริยบุคคลนั้น ถ้าท่านร่าเริงในธรรม จะมีประกายผุดผ่องมาก

ถึงขนาดบางคนสามารถสังเกตความผุดผ่องของพระอริยบุคคลได้ด้วยตาเปล่า

จะมีลักษณะคล้ายๆ ความใสที่แทรกอยู่ในเนื้อหนัง

แต่ที่จริงแล้ว  ความสว่างนั้นแผ่ซ่านออกมาตั้งแต่เยื่อในกระดูกทีเดียว

โดย คุณสันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ผู้ได้โสดาบันแล้วจะรู้ตัวหรือไม่ว่าได้โสดาบันแล้ว?

ผู้ได้โสดาบันแล้วจะรู้ตัวหรือไม่ว่าได้โสดาบันแล้ว?

คำถามที่ว่าผู้ได้โสดาบันแล้ว รู้ตัวหรือไม่ว่าได้โสดาบัน
และคุณกล่าวถึงเรื่อง จิตบอก นั้น
ที่จริงจิตไม่ได้บอกว่า “เอ้า ตอนนี้เธอได้พระโสดาบันแล้วนะ”
แต่มันเป็นภาวะที่ต่อจากผลญาณ คือหลังผลญาณ
จิตจะรวมลงภวังค์นิดหนึ่งแล้วมีสัญญาเกิดขึ้น
จากนั้นมันจะทวนถึงเรื่องที่เพ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ
นับแต่การเกิดมรรค ซึ่งมรรคได้ประหารสิ่งห่อจิตที่บริสุทธิ์ให้แหวกออก
จนธรรมชาติบริสุทธิ์ล้วนๆ ได้แสดงตัวออกมา 2 – 3 ขณะ
รู้ชัดว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นล้วนดับไปทั้งสิ้น
และมีเพียงธรรมชาติที่พ้นจากความปรุงแต่งอยู่จริงๆ
ซึ่งไม่มีความเป็นอัตตาตัวตนใดๆ แม้แต่น้อยหนึ่ง
จิตนับแต่นี้ไป ไม่มีความหลงผิดอีกแล้วว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้แต่จิตเอง รวมทั้งนิพพาน
จะเป็นตัวตนของตนขึ้นมาได้อีก
และจิตรู้อีกว่า เมื่อผ่านมรรคผลไปแล้ว
จิตก็กลับถูกอวิชชาตัณหาอุปาทานห่อหุ้มคลุมบังไว้อีก
กิจที่ยังต้องต่อสู้ยังมีอยู่อีก

ที่ว่าจิตบอกนั้น มีอาการและสิ่งที่บอก ดังที่เล่ามานี้ครับ
ทางปริยัติท่านเรียกว่าปัจจเวกขณญาณ
สรุปแล้วจิตไม่ได้บอกว่าเธอได้โสดาบัน
แต่ทวนให้รู้ถึงสภาวธรรม 5 ประการคือ
มรรค ผล นิพพา กิลเสที่ละแล้ว และกิเลสที่เหลืออยู่

บางท่านไม่เคยเรียนปริยัติ จิตจะรู้สภาวะเท่านั้น
จึงเรียกไม่ถูกว่าอันนี้มรรค อันนี้ผล อันนี้นิพพาน อันนี้เรียกว่าโสดาบัน
เพียงแต่จิตเข้าถึงความบริสุทธิ์ และรู้ เท่านั้นเอง
ไม่สามารถบัญญัติชื่อออกมาได้
และตรงนี้แหละครับ ที่ทำให้บางท่านเล่าว่า มรรคเป็นอย่างนี้
ผลเป็นอย่างนี้ แล้วเหลื่อมๆ กับปริยัติ
เพราะท่านเอาสภาวะจิตชุดหนึ่งมาแยกซอยออกไปเป็นช่วงๆ
ว่าตรงนี้มรรค ตรงนี้ผล ตรงนี้ปัจจเวกขณะ
แต่การแบ่งซอยของท่านไม่ตรงตำรานัก
ทั้งที่สิ่งนั้น  ก็เป็นสิ่งเดียวกันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม บางครั้งตำราที่ดูละเอียดอย่างยิ่งนั้น
ก็ยังข้ามภาวะบางอย่างไปบ้าง
แล้วไปขยายความละเอียดในอีกบางจุดที่ผู้ปฏิบัติท่านนั้นผ่านข้ามไปในแว้บเดียว
ก็เลยพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องระหว่างปริยัติกับปฏิบัติในบางคราว

สรุปแล้ว มรรคผลนิพพานไม่ใช่ของพ้นสมัย
ใครทำถูก คนนั้นก็ได้ครับ

โดย คุณสันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จิตยิ้ม

จิตยิ้ม

ในเรื่องจิตยิ้มนั้น ก่อนจะกล่าวถึงจิตยิ้ม เราน่าจะกล่าวถึงการยิ้มปกติเสียก่อน
คนเรานั้นที่ยิ้มออกมาได้ (ไม่นับเรื่องแกล้งยิ้มนะครับ)
ก็เพราะจิตเคลื่อนเข้าไปติดอารมณ์ที่เป็นโสมนัสเวทนา
แล้วปรุงแต่งความลิงโลดใจขึ้นมา
แล้วแสดงอาการออกมาทางกายคือการยิ้ม

ยังมีภาวะการยิ้มอีกชนิดหนึ่งที่จิตไม่ได้ถูกโสมนัสเวทนาครอบงำบังคับ
มันเป็นอาการที่จิตของพระอริยบุคคล แสดงความเบิกบานขึ้นมา
เพราะจิตนั้นมันเป็นอนัตตา มันแสดงของมันได้นอกเหนือการบังคับ
เวลาที่มันเห็นสัตว์ในอบายภูมิบ้าง เห็นนิพพานบ้าง
มันทักทายตัณหาบ้าง มันก็แสดงความเบิกบานออกมาเอง
จัดเป็นอเหตุกจิตอย่างหนึ่ง
เรียกว่าหสิตุปปาทะ หรือความอุบัติแห่งความร่าเริง

นักปฏิบัติที่เข้าถึงอริยธรรมแล้ว
บางท่านจะจับได้ว่าจิตจะมีความร่าเริงโดยไม่ยึดติดอารมณ์
แล้วอุทานทักทายตัณหาว่า ต่อไปเจ้าหลอกจิตนี้ไม่ได้แล้วบ้าง
จิตนี้พ้นเด็ดขาดแล้วจากอบายภูมิบ้าง
อันนี้ท่านสมมุติเรียกว่าจิตยิ้ม คือเราไม่ได้ยิ้ม
แต่จิตยิ้มของมันเองโดยไม่ติดอารมณ์
ส่วนใบหน้าของเราจะยิ้มหรือไม่ ไม่สำคัญ
อาจจะแสดงออกบ้างก็แค่ยิ้มนิดๆ ด้วยมุมปากบ้างเท่านั้นก็ได้

โดย คุณสันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เล่าเรื่องหลวงปู่หลุย

เล่าเรื่องหลวงปู่หลุย

ผมมีโอกาสได้กราบหลวงปู่หลุยหลายครั้งในเบื้องปลายชีวิตของท่าน

ส่วนมากที่จะไปไหนมาไหนกับหลวงปู่ชอบเสมอ

ท่านเป็นพระที่งามพร้อมองค์หนึ่งทีเดียว

 

ท่านอาจารย์ที่คุณไปบวชอยู่ด้วยนั้น ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่หลุยเหมือนกัน

ท่านเล่าว่า หลวงปู่หลุยนั้นเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนอย่างยิ่ง

เวลาท่านรับนิมนต์ไปไหนๆ ถ้าท่านพบพระเถระที่คุณธรรมสูงกว่าท่าน

แม้อายุพรรษาน้อยกว่าท่าน เช่นหลวงปู่ฝั้น ท่านก็จะขอไปนั่งอยู่ในลำดับถัดไป

และเหตุที่องค์ท่านปฏิบัติได้ผลช้ากว่าองค์อื่น

ก็เพราะท่านติดพุทธภูมิอยู่

 เพิ่งละได้เมื่ออายุ 50 เศษ หรือใกล้ๆ 60

ไม่ใช่ท่านด้อยความสามารถ หรือปฏิบัติย่อหย่อนกว่าองค์อื่นๆ แต่อย่างใด

พอท่านลาพุทธภูมิแล้ว การปฏิบัติของท่านก็ก้าวทันองค์อื่นๆ อย่างรวดเร็ว

 

ปกติครูบาอาจารย์ที่สิ้น จะจัดงานถวายเพลิงในจังหวัดที่ท่านอยู่

มีหลวงปู่หลุยนี่แหละครับ ที่ถวายเพลิงท่านที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

เป็นโอกาสของคนกรุงเทพ

ได้กราบไหว้ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ทั้งประเทศที่ท่านมาชุมนุมกัน

ตอนนั้นผมก็ได้พบพระหนุ่มๆองค์หนึ่ง นั่งเก้าอี้พับอยู่ตามลำพังใต้ต้นไม้หลังวัด

ไม่มีใครสนใจท่าน เพราะคนยังไม่รู้จักท่าน

แต่ผมเห็นแล้วสะดุดตาสะดุดใจเหลือเกิน

เข้าไปกราบท่าน แล้วถามว่าหลวงพ่อชื่ออะไร อยู่วัดไหน

ท่านตอบว่า อาตมาชื่อทูล อยู่วัดป่าบ้านค้อ

โดยคุณ  สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช) เมื่อวันที่  13 ส.ค. 2542

 

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เซ็นสอนอะไร?

เซ็นสอนอะไร?

เรามักได้ยินเสมอว่า ชาวเถรวาทบางคนชี้ว่า
เซ็นเน้นแต่ปัญญา ละเลยเรื่องศีลและสมาธิ

ความจริงเซ็นสอนให้เราเข้าถึง จิต หรือพุทธะภายในตัวเราเอง
ซึ่งผู้ที่ลืมตา ตื่น ต่อจิตของตนได้จริงๆ
จิตย่อมถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ และปัญญา
เรียกว่ามีศีล โดยไม่ต้องรักษา
มีสมาธิ โดยไม่ต้องเข้าฌาน
และมีปัญญา โดยไม่ต้องคิด/อ่าน

ส่วนคนที่ยังเข้าไม่ถึง จิตอันเป็นพุทธะ
ยังจำเป็นต้องมีศีล เจริญสมาธิและปัญญา
ซึ่งถ้าเราศึกษาเรื่องในวัดเซ็น เราจะพบว่า
พระเซ็นมีการปฏิบัติไตรสิกขาเช่นกัน
แต่บางคราวภาพลักษณ์ของเซ็น ค่อนข้างเสียหาย
เพราะผู้ศึกษาเซ็นบางคน ศึกษาเซ็นเพื่อเอาไว้เป็นเครื่องมือของกิเลส
เช่นเมื่อจะทำกรรมชั่ว หลอกเด็กหลอกเล็ก หรือผิดลูกผิดเมียเขา
ก็อ้างว่า ตนทำด้วย “จิตว่าง”
คล้ายกับว่า ถ้าจิตว่างเสียอย่างเดียว ทำกรรมชั่วอย่างไรก็ได้
เพราะสักแต่ว่าเป็นกิริยา ไม่เป็นกรรม

ถ้าผู้ศึกษาเซ็นคนใด ทำผิดศีล ด้วย “จิตว่าง”
ก็แสดงว่า เขาไม่รู้จักจิตว่าง ไม่มีกระทั่งสติและสัมปชัญญะ
เพราะคนที่มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองจิตอยู่นั้น
จะทำกรรมชั่วในขั้นละเมิดศีล 5 ไม่ได้เลย
คนประเภทนี้ แม้จะอ้างว่าตนศึกษาหรือนิยมเซ็น เขายังไม่ใช่เซ็นที่แท้จริง
เพราะจิต ยังไม่ ตื่น จากอำนาจของกิเลสตัณหา

ถ้ามีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องปลุกจิตให้ ตื่นได้แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเถรวาท หรือเซ็น ก็ย่อมมีศีล สมาธิและปัญญา
และทำชั่วไม่ได้ เหมือนๆ กันนั่นเอง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อังคาร ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : หลวงปู่มั่นสอนธรรมหลวงปู่จันทร์แรม

หลวงปู่มั่นสอนธรรมหลวงปู่จันทร์แรม

หลวงปู่จันทร์แรมนั้น ตอนนี้ท่านอยู่วัดเกาะแก้ว ที่บุรีรัมย์ (ปัจจุบันหลวงปู่ท่านละขันธ์แล้ว – ผู้เรียบเรียง)
ออกจากบุรีรัมย์ไปทางสตึก ไม่ไกลมากนัก
ท่านเป็นชาวเสิงสาง นครราชสีมา โดยกำเนิด
ท่านเคยเล่าให้ผมฟังว่า ตอนเป็นพระหนุ่มๆ
เคยไปอยู่ที่บ้านผือ สกลนคร กับท่านพระอาจารย์มั่น
ท่านกลัวพระอาจารย์มั่นมาก ไม่กล้าเข้าหน้าเลย

กิจวัตรของพระป่ายุคนั้น จะตื่นตั้งแต่ตีสามขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์นั่งภาวนา
พอได้อรุณคือสว่างเห็นลายมือแล้วก็ออกบิณฑบาต
กลับมาฉันแล้วก็ทำความเพียรส่วนตัวไปจนบ่ายสามโมง
จึงถึงเวลากวาดลานวัดและดูแลวัดร่วมกัน
ตกค่ำก็ทำวัตร และฟังธรรม ซึ่งบางวันอาจจะถึงเที่ยงคืน
เป็นเวลาที่ท่านพระอาจารย์มั่นจะอบรมสั่งสอนพระเณรทั้งกลุ่ม

ท่านอาจารย์มั่นท่านเข้มงวดมาก
ใครขาดสติต่อหน้าท่านอาจจะถูกดุได้เสมอ
ใครไปแอบคิดไม่ดีที่ไหน ก็จะถูกท่านดุเอาอีก
พระทั้งหลายจึงกลัวท่านเป็นส่วนมาก
หลวงปู่จันทร์แรม ยิ่งกลัวมากเป็นพิเศษ เพราะท่านเป็นพระใหม่ ภาวนายังไม่ดี

วันที่ท่านเผชิญหน้ากับท่านพระอาจารย์มั่นครั้งแรก เป็นเวลากวาดวัด
ตามปกติพระป่าจะต่างองค์ต่างอยู่เงียบๆ ทั้งวัน
เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง
จนเวลาบ่ายสามโมง ท่านพระอาจารย์มั่นจะลงจากกุฏิเพื่อกวาดวัด
โดยท่านจะหย่อนรองเท้าแตะของท่านลงที่พื้นดินหน้ากุฏิ
ความเงียบของวัด ทำให้ได้ยินเสียงหย่อนรองเท้าชัดเจน เหมือนเสียงสัญญาณ
ต่างองค์ต่างออกมาทำกิจส่วนรวมกันโดยพร้อมเพรียง
ในเวลานี้แหละ ท่านอาจารย์มั่นจะเข้าประกบศิษย์เป็นองค์ๆ ไป
เพื่อสั่งสอนให้เป็นพิเศษ

ตามปกตินั้น หลวงปู่จันทร์แรมจะคอยสังเกตว่า
วันนี้ท่านอาจารย์มั่นเพ่งเล็งไปทางด้านไหน
ท่านก็จะหลบไปกวาดวัดอีกทางหนึ่ง
ในวันนั้นก็เช่นกัน ท่านเห็นว่าหลวงปู่มั่นมองไปทางอื่น ไม่สนใจท่านเลย
ท่านก็ลงมือกวาดทางเดินไปอย่างสบายใจ
แต่แล้วก็รู้สึกผิดสังเกต
เมื่อได้ยินเสียงหลวงปู่มั่นกวาดทางเดินตรงมาทางที่ท่านกำลังกวาดอยู่
ความตกใจทำให้ท่านรีบกวาดทางเดินอุตลุดไปหมด
เพื่อจะหนีให้ห่างหลวงปู่มั่น
แต่หลวงปู่มั่นกลับกวาดทางเดินพิสดารกว่านั้น
คือเดินสามก้าว กวาดทีหนึ่ง
ครู่เดียวก็ตามทันท่านที่กำลังเหงื่อตกด้วยความกลัว

หลวงปู่มั่นไม่ได้ดุอะไรท่าน แต่กลับสอนอย่างนุ่มนวลว่า
“พระน้อย(หนุ่ม) การกวาดลานนั้นต้องค่อยๆ กวาดไปตามลำดับ
อย่าเร่งร้อน เพราะจะกวาดได้ไม่สะอาด
เหมือนกับการปฏิบัติธรรม อย่าเร่งร้อน
เพราะกิเลสเป็นของละเอียด มันจะแอบแฝงอยู่โดยรู้ไม่เท่าทัน”
จิตของหลวงปู่จันทร์จึงสงบลง หายกลัว
หลวงปู่มั่นจึงแสดงธรรมอื่นๆ ให้ท่านฟัง ในขณะที่กวาดทางเดินไปด้วยกัน

ท่านเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง ด้วยความซาบซึ้งในความเมตตาของครูบาอาจารย์

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ธรรมะอันเด็ดขาดของหลวงปู่หล้า

หลวงตามหาบัวชมและยกย่องหลวงปู่หล้าว่า “เป็นพระที่ซื่อสัตย์ต่อครูอาจารย์ เอาใจใส่ในอาจาริยวัตรเสมอ,

แม้ถูกดุด่าก็อดทนต่อคำสั่งสอน ไม่เหนื่อยหน่ายต่อโอวาทธรรมที่ครูอาจารย์พร่ำสอน และเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าของท่านอาจารย์มั่น”

.

ธรรมะอันเด็ดขาดของหลวงปู่หล้า

ผมเคยไปหลวงปู่หล้า แห่งภูจ้อก้อ
ท่านให้รูปมาแผ่นหนึ่งเขียนธรรมะอันเด็ดขาดน่าฟังไว้ว่า
“เมื่อไม่ยืนยันว่าจิตเป็นตน ตนเป็นจิต ก็ข้ามทะเลหลงได้แล้ว
นิพพานไม่ใช่ผู้รู้ ฟากผู้รู้ไปจนไม่กำหนดหมาย
ถ้ากำหนดหมายอยู่ก็พอเหมือนๆ”

เป็นธรรมที่ถึงใจอย่างยิ่งครับ
พระโสดาบันนั้น ไม่เห็นจิตเป็นตน ไม่เห็นตนเป็นจิต
ก็ข้ามทะเลความหลงผิดได้แล้ว อย่างไรก็ต้องถึงฝั่ง

ตั้งแต่เราฝึกเจริญสติปัฏฐานนั้น เราอาศัยจิตผู้รู้เป็นเครื่องมือ
ทีนี้กระทั่งพระอนาคามีก็ยังยึดจิตผู้รู้อยู่
จนบางทีเผลอไปว่า จิตผู้รู้ นี้สุดทางเดินแล้ว
ท่านจึงให้วางจิตผู้รู้ แล้วไม่กำหนดหมายยึดถือสิ่งใดขึ้นมาอีก จึงถึงนิพพาน
หากยังมีการกำหนดหมายจิตผู้รู้อยู่ ทั้งที่วางอารมณ์อื่นๆ ไปหมดแล้ว
สภาพนั้นคล้ายๆ นิพพาน แต่ยังไม่ใช่นิพพาน เพราะยังมีจิตผู้รู้ผู้ประภัสสรอยู่

ธรรม 2 – 3 บรรทัดของท่าน แสดงแนวการปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบทีเดียวครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ปฎิบัติธรรมจากการฟังเสียง

ปฎิบัติธรรมจากการฟังเสียง

สมถกรรมฐานนั้น มีหลาย “วิธี” นับไม่ถ้วนครับ

แต่มี “หลักการ” เพียงอันเดียว

คือการที่เอาสติจดจ่ออยู่กับอารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง

เช่นเอาสติ จดจ่อ รู้ลมหายใจเข้าออก  รู้การเคลื่อนไหวร่างกาย

รู้คำบริกรรม รู้รูปกสิณ  รู้เสียงกระดิ่ง

ทั้งหมดนี้มีผลอันเดียวกัน คือทำให้จิตไปจดจ่อกับอารมณ์อันเดียว

ผลก็คือความสงบสุขของจิต  ที่ไม่ต้องร่อนเร่ตามอารมณ์ไปเรื่อยๆ เหมือนเด็กจรจัด

 

และถ้าจะพลิกการฟังเสียงกระดิ่งให้เป็นวิปัสสนาก็ทำได้ครับ

แต่ก่อนอื่นต้องแยกให้ออกเสียก่อน

ว่าเสียงกระดิ่งเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ที่ถูกรู้ (เป็นรูป)  จิตคือผู้รู้อารมณ์ (เป็นนาม)

จากนั้นก็ฟังเสียงกระดิ่งไป จะได้ยินเสียงที่มีระดับไม่คงที่

เริ่มจากเสียงที่ถูกเคาะ จนถึงเสียงครางกระหึ่มที่ต่อเนื่องมา จนแผ่วหายไป

เสียงทั้งหมดนั้นไม่คงที่ (อนิจจัง)  เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป (ทุกขัง)

เสียงไม่ใช่เรา (อนัตตา)

 

หากฟังเสียงกระดิ่งแล้ว จิตเกิดความยินดี ยินร้ายกับเสียงนั้นขึ้นมา

เช่นชอบใจ หรือรำคาญใจ  ก็ให้รู้เท่าทัน จนกระทั่งจิตเป็นกลาง

แล้วรู้เสียงด้วยจิตที่เป็นกลางต่อไป

เสียงจะแสดงไตรลักษณ์ให้จิตรู้อย่างชัดแจ้ง

 

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เล่าเรื่องหลวงปู่สิม

เล่าเรื่องหลวงปู่สิม

เรื่องการขัดสมาธิเพชรนั้น
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร แห่งถ้ำผาปล่อง ท่านชอบมากครับ
เวลาไปนั่งฟังธรรมของท่านก็ดี ไปนั่งปฏิบัติต่อหน้าท่านก็ดี
ท่านชอบแนะนำให้ขัดสมาธิเพชร
เพราะมีข้อดีหลายอย่างครับ คือทำให้ไม่นั่งหลับง่ายๆ
และจิตใจก็จะเข้มแข็งมาก สมชื่อสมาธิเพชรทีเดียว
เนื่องจากเป็นท่านนั่งที่ทรมานมากกับคนที่ไม่คุ้นเคย

คราวหนึ่งพาเพื่อนที่เรียนในสถาบันจิตวิทยาความมั่นคงด้วยกัน
ขึ้นไปกราบท่านบนถ้ำผาปล่อง เชียงดาว เชียงใหม่
แต่ละท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการต่างๆ ทั้งนั้น
พอไปถึงหลวงปู่ก็แสดงธรรม โดยให้นั่งขัดสมาธิเพชร
ท่านเทศน์ไปสักพักก็มีคนแอบเปลี่ยนท่านั่งเป็นสมาธิราบบ้าง พับเพียบบ้าง
มีผู้เขียนกับผู้ใหญ่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกท่านหนึ่ง
ที่ทนนั่งได้จนท่านเทศน์จบ

พอท่านเทศน์จบท่านก็ยิ้ม บอกว่า “ยังไง นั่งกันไม่ไหวเลยหรือ”
เพื่อนที่ทนนั่งได้ตลอดก็กราบเรียนท่านว่า “โอ๊ยแย่ครับหลวงปู่
ปวดขาเหลือเกิน”
หลวงปู่มองหน้าด้วยความเมตตาอย่างยิ่ง แล้วถามว่า
“ขา มันบอกว่า มันปวดหรือโยม”
เพื่อนก็ตอบว่า “ครับ ขามันปวดมากเลยครับ”

สรุปแล้ว เพื่อนไม่เข้าใจที่ท่านสอน
คือท่านสอนให้พิจารณาต่อไปว่า ขาเป็นเพียงธาตุที่ไม่รู้จักเจ็บปวด
ความเจ็บปวดเป็นเวทนาที่แทรกอยู่ในกายเท่านั้น
แต่ทั้งขาและเวทนาก็ไม่เคยบ่นว่าปวด
คนที่เร่าร้อนโอดโอยแทนขา คือจิตของเราเองต่างหาก

สำหรับท่านั่งสมาธินั้น นอกจากคำว่า “คู้บัลลังก์” แล้ว
ยังมีภาษาเก่าที่ตายไปแล้วอีกคำหนึ่ง
คือคำว่า “นั่งพะแนงเชิง”
“เชิง” คือเท้า “พะแนง” คือ ทับ ซ้อน
ต่อมาคนรุ่นหลังออกเสียงเพี้ยนไปเป็นคำว่า พนัญเชิง
เวลานี้เหลือที่ใช้คำนี้อยู่แห่งเดียว คือวัดพนัญเชิง กับหลวงพ่อพนัญเชิง
เคยอ่านพบว่า ที่เรียกท่านว่าหลวงพ่อพะแนงเชิง
ก็เพราะท่านเป็นพระนั่งสมาธิขนาดใหญ่องค์แรกๆของอโยธยา(ก่อนอยุธยา)
ในขณะที่พระขนาดใหญ่ก่อนหน้านั้น นิยมสร้างเป็นพระนั่งห้อยพระบาท

โดยคุณ สันตินันท์(นามปากกาหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : สัจจะของหลวงปู่เสาร์

สัจจะของหลวงปู่เสาร์

ผมพอทราบเกร็ดประวัติหลวงปู่เสาร์หลายเรื่อง
แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาเล่าในที่สาธารณะ
ส่วนมากจะฟังมาจากหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งเป็นศิษย์อยู่กับหลวงปู่เสาร์
(ตอนนั้นหลวงพ่อพุธยังเป็นเณร)

มีบางเรื่องพอจะเล่าได้ครับ คือเรื่องการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์
ท่านเป็นพระตัวอย่างแก่ชนรุ่นหลัง
คือสมาทานธุดงคกัมมัฏฐานและการรักษาสัจจะจนตลอดชีวิต
แม้ในวาระสุดท้ายซึ่งท่านมีอายุกว่า 80 พรรษาแล้ว
ท่านก็ยังเดินธุดงค์อยู่และมรณภาพเพราะการเดินธุดงค์นั้น
เย็นวันหนึ่งท่านต้องการจะพักใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง
เนื่องจากชราภาพมากแล้วท่านจึงไม่เห็นว่า
กิ่งไม้ที่ท่านจะแขวนกลดนั้น มีรังผึ้งหลวงขนาดใหญ่
ท่านจึงตั้งใจที่จะพักที่นั้น เหมือนกับการตั้งสัจจะต่อตนเองนั่นเอง

แต่ก่อนที่ท่านจะพาดเชือก กลด ท่านจึงเห็นผึ้ง
ศิษย์ที่ไปด้วยก็เห็นและพากันกราบเรียนขอให้ท่านย้ายไปพักที่ต้นไม้ต้นอื่น
หลวงปู่เสาร์ท่านปฏิเสธ ท่านบอกว่าท่านตั้งสัจจะแล้วที่จะพักที่นี้
ระหว่าง สัจจะ กับ ชีวิต ท่านเลือก สัจจะ
แม้ศิษย์จะอ้อนวอนอย่างไรท่านก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจ
ท่านไล่ลูกศิษย์ออกไปห่างๆ แล้วโยนเชือกพาดกิ่งไม้นั้น
พอกิ่งไม้กระเทือน ฝูงผึ้งก็ออกมาต่อยท่านล้มลง
ลูกศิษย์พาท่านเข้าไปพักที่วัดแห่งหนึ่ง แล้วท่านก็มรณภาพที่นั่น

สัจจะแม้ในเรื่องเล็กน้อยเพียงแค่การแขวนกลด
ท่านยังไม่ยอมให้เสื่อมเสียแม้จะต้องแลกด้วยชีวิต
น้ำใจที่กล้าหาญและยิ่งใหญ่ปานนี้ หาได้ยากยิ่ง
โดยเฉพาะในยุคที่ สัจจะ กลายเป็นนิยายในสังคมการเมืองของบ้านเรา

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : นักภาวนากับการมีเพื่อน

นักภาวนากับการมีเพื่อน

ที่จริงคนในสังคม ไม่ใช่ว่าเขาจะเลวร้ายหรือปฏิเสธธรรมะเสมอไป
การที่เขาดำรงตนอยู่ในกรอบของจริยธรรม ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร
แม้เขาจะไม่สนใจการปฏิบัติธรรมจริงจัง
แต่เขาก็ได้ปฏิบัติธรรมแล้วในระดับหนึ่ง
เพียงแต่เราอาจจะมองข้ามไป จึงคิดว่าเขาไม่ได้ปฏิบัติธรรม

บางคนไม่เคยตักบาตรบริจาคทาน แต่เขาทำทานโดยการรู้จักให้อภัยผู้อื่น
บางคนขี้เหล้าเมายา แต่รักษาสัจจะและเสียสละเพื่อหมู่คณะ
ถ้าเรามองเขาออกว่า เขาปฏิบัติธรรมอะไรอยู่บ้าง
และไม่คาดหวังว่า เขาจะต้องปฏิบัติเหมือนเรา
เราก็จะพบว่า คนรอบตัวเรานั้น ปฏิบัติธรรมกันอยู่มากมายพอดูทีเดียว
เราสามารถเลือกสนทนาธรรม ที่เหมาะกับเขา
หรือยกระดับเขาขึ้นอีกนิดหนึ่งได้ โดยไม่ต้องพูดถึงคำว่า ธรรมะ

ถ้าเรามองโลกด้วยความรักและความเมตตาจริงๆ
บางทีเราจะพบว่า กระทั่งสัตว์บางตัวก็มีธรรมะบางอย่าง
อย่างผมเคยมีสุนัขตัวหนึ่ง เป็นสุนัขที่ผมเคารพนับถือคุณธรรมบางอย่างของเขา
คือเขารู้จักให้ทาน รู้จักให้อภัย
รู้จักอดกลั้นแม้แต่กับลูกสุนัขและลูกแมวที่ระรานเขา

ถ้าเห็นเช่นนั้น เราจะไม่เงียบเหงาว้าเหว่
เพราะรู้สึกว่ามีเราคนเดียวที่ปฏิบัติ คนรอบตัวไม่ปฏิบัติ
และถ้าอยากจะมีเพื่อนมากๆ ก็อย่าลืมคุณธรรม 4 ประการ
คือการให้ การพูดให้น่ารัก การทำตนให้เป็นประโยชน์
และการมีความเสมอต้นเสมอปลาย

ทุกวันนี้ผมมีเพื่อนเฉพาะในที่ทำงานและเพื่อนบ้าน
ไม่มีเพื่อนเที่ยวเตร่เฮฮา
แต่เพื่อนในทางธรรมมีมากจนนับไม่ถูกครับ
เพราะอาศัยคุณธรรม 4 ประการนั้นเอง

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เกิดมาเพื่อถูกจองจำเยี่ยงทาส

เกิดมาเพื่อถูกจองจำเยี่ยงทาส

 ผมเคยพิจารณาเรื่องนี้มานานแล้วว่า 
 ทำไมผู้คนตั้งมากมายจึงหาที่สนใจการปฏิบัติยากนัก 
 ก็พิจารณาเห็นว่า เพราะส่วนส่วนมากไม่รู้ว่าตนกำลังถูกจองจำอยู่ 
 ไม่รู้ว่า ตนกำลังเป็นทาสอยู่ 
 แต่คิดว่าตนเป็นไทแก่ตัว

 เหมือนคนที่เกิดมาติดคุก หรือติดเกาะอยู่สักแห่งหนึ่ง 
 ไม่เคยรู้จักโลกภายนอก ไม่เคยกระทั่งจะจินตนาการถึงโลกภายนอก 
 ก็คือว่า โลกมีแค่สิ่งที่ตนรู้เห็นเท่านั้น 
 เขาย่อมไม่มีความคิด หรือความพยายามที่จะหักกรงขัง หรือหาทางออกจากเกาะนั้น

 คนในโลกส่วนมากก็ยอมจำนนอยู่กับโลก เพราะไม่รู้ว่า ยังมีสิ่งนอกเหนือออกไปอีก 
 เมื่อเกิดมาก็เรียนหนังสือ เรียนจบก็หางานทำ 
 แล้วก็มีครอบครัว มีลูกหลาน แล้วก็ตายไป 
 ต่างคนต่างจำเป็นต้องทำตามอย่างคนอื่นๆ 
 เพราะไม่รู้ว่า ยังมีสิ่งที่ดีๆ อื่นๆ อีกในชีวิตนี้

 อนึ่ง คนส่วนมากมีมานะอัตตารุนแรง 
 รู้สึกว่าตนเองเก่ง แน่ ไม่มีใครบังคับได้ 
 เขาไม่เคยเฉลียวใจเลยว่า ในความจริงแล้ว 
 เขาตกเป็นทาสของตัณหา ถูกตัณหาควบคุมบังคับสั่งการอยู่แทบทั้งวัน 
 เพียงแต่นายทาสคนนี้ฉลาดแสนฉลาด 
 มันปกครองทาสของมันด้วยการทำให้ทาสหลงผิดว่าตนเองเป็นไท 
 จนทาสบางคนคิดว่าตนเป็นเจ้าโลก 
 ทั้งที่ถูกเขาจูงจมูกอยู่ต้อยๆ ทั้งวัน

 ผู้ได้ฟังธรรมของพระศาสดา 
 เกิดความรู้ตัวว่าตนติดคุกอยู่ ตนกำลังเป็นทาสอยู่ 
 ก็ย่อมหาทางหนีออกจากที่คุมขัง หนีจากนายทาสผู้ทารุณร้ายกาจ 
 ที่เลี้ยงทาสไว้เพื่อฆ่าทิ้งตามอำเภอใจเมื่อถึงเวลาหนึ่ง

 ธรรมที่กล่าวมานี้จึงสอดรับกับธรรมที่คุณกล่าวไว้ 
 คือจะทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา 
 ก็ต้องรู้ตัวว่าทำเพื่อการปลดแอกตนเอง 
 เพื่อความเป็นอิสระ เพื่อความหลุดพ้น 
 เพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์หรืออนุปาทาปรินิพพาน

 ไม่ใช่เพียงแค่ทำทานตามๆ เขา รักษาศีลตามๆ เขา เจริญภาวนาตามๆ เขา 
 เหมือนที่เรียน ทำงาน มีครอบครัว เลี้ยงลูกหลาน 
 แล้วก็ตายตามๆ เขามานับภพนับชาติไม่ถ้วนนั่นเอง

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อาทิตย์ ที่ 7 พฤศจิกายน 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Page 6 of 10« First...45678...Last »