Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เกิดมาทำไม?

เกิดมาทำไม?

คำถามเรื่อง เกิดมาทำไม เป็นคำถามยอดนิยม
แต่หาคำตอบที่แน่นอนตายตัวไม่ได้
เพราะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างมีปณิธานของตน

ถ้าเราสังเกตจิตใจของเราให้ดี เราจะพบว่า
ที่เราถามคำถามนี้ ก็เพราะเรารู้สึกอย่างแน่นแฟ้นว่า
เรามีอยู่ เราเกิดมาแล้ว เราจะทำอะไรดี

เพราะความสำคัญมั่นหมายอย่างจริงจังในความมีอยู่ของ เรา นี้แหละ
จึงเกิดทิฏฐิหรือความเห็นต่างๆ ขึ้นมามากมาย
เช่น (เรา)ตายแล้วเกิด (เรา)ตายแล้วสูญ
สิ่งนี้สมควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่สมควรแก่เรา ฯลฯ

ผู้สนใจพระพุทธศาสนานั้น
แทนที่จะนั่งคิดว่า เราเกิดมาทำไม
(ซึ่งจะได้คำตอบที่วนเวียน หาข้อยุติแน่นอนไม่ได้
เพราะเป็นเพียงเรื่องของความคิดเห็น)
ลองเปลี่ยนเป็นการศึกษาพิจารณาลงไปใน
สิ่งที่เห็นว่าเป็นเรา คือกายกับใจ หรือขันธ์ 5 นี้
เพื่อแยกแยะออกมาให้เห็นชัดๆว่า เรา มีอยู่จริงหรือไม่
อย่างนี้จึงจะได้ประโยชน์เต็มที่จากพระพุทธศาสนาครับ

อันนี้ผมเสนอในจุดยืนของชาวพุทธเท่านั้นครับ
แต่ไม่ใช่ว่าคำถามของท่านไม่ดี
เพราะคำถามว่าเกิดมาทำไมนั้นดีแน่
นักปราชญ์ทั้งหลายจึงถามกันมาโดยตลอด
เพียงแต่ถามแล้ว มันหาข้อยุติที่ชี้ว่าเป็น ความจริง ไม่ได้
เพราะจะได้เพียง ความเห็น เท่านั้น

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : มรรคผลเริ่มต้นที่ไหน

มรรคผลเริ่มต้นที่ไหน

พวกเรามักถูกสอนว่า การปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้มรรคผลนั้น 
ต้องอาศัยการสะสมบารมีมาเนิ่นนาน 
ถ้าไม่มีบารมี ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ 
แล้วก็พาลท้อแท้ใจ คิดว่าทางนี้ยังไกลนัก ค่อยๆ เดินไปก็แล้วกัน 
เพราะขืนรีบเร่งเกินไป จะเหนื่อยตายเสียกลางทาง

ในความเป็นจริงแล้ว จุดเริ่มต้นของมรรคผลนั้นหายากจริง 
ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงเปิดเผยไว้ เราไม่มีทางหาพบได้เลย 
แต่เมื่อหาพบและลงมือทำแล้ว 
มรรคผลไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัยที่เราจะทำได้โดยเร็ว

จุดตั้งต้นของมรรคผลอยู่ที่ไหน 
ขอเรียนว่า อยู่ที่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการเจริญสติ 
หากเจริญสติถูกต้องแล้ว พระพุทธเจ้าท่านรับประกันว่า 
จะได้ผลโดยเร็ว บางคนก็ 7 ปี บางคนก็ 7 เดือน บางคนก็ 7 วัน

การปฏิบัติธรรมหรือการเจริญสติ ไม่ใช่การก้าวเดินไปทีละขั้น 
เพราะมันไม่ขั้นอะไรหรอก 
มีแต่ว่า (1) เจริญสติถูกต้องอยู่ หรือ (2) เผลอสติไปแล้ว 
มีอยู่เท่านี้จริงๆ

ถ้าเจริญสติถูกต้อง ก็จัดว่าเดินอยู่ในทาง(มรรค) ที่จะก้าวไปสู่ผลคือความพ้นทุกข์ 
เจริญสติทุกวัน ก็คือเข้าใกล้มรรคผลไปทีละน้อย 
เจริญสติต่อเนื่องมากที่สุด ก็คือการออกวิ่งไปในทางที่ไม่ไกลเกินไปนัก 
แต่ถ้าเผลอสติ ก็เหมือนเดินออกนอกทาง หรือกลับหลังหันออกจากผลที่ต้องการ

การเจริญสติเป็นอย่างที่ คุณ กล่าวไว้จริงๆ 
นั่นคือ ไม่ลำบากเหลือวิสัยหรือต้องทุกข์ทรมานใดๆ 
แต่ก็ไม่สบายแบบตามใจกิเลส 
มันมีแต่ทางสายกลาง คือการรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ 
ด้วยความเป็นกลางเรื่อยไปเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การรู้ เป็นสิ่งที่ต้องพากเพียรเรื่อยไป 
ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า 
“บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” 
เห็นไหมครับว่า ท่านสอนธรรมตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว

ดังนั้น ถ้าเจริญสติถูกวิธีแล้ว ก็เหลืออย่างเดียว 
คือเพียรทำให้มาก เจริญให้มาก อันเป็น “กิจของมรรคสัจจ์” 
ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้ตรงๆ แบบไม่ต้องตีความ อีกเช่นกัน

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เทคนิคการเข้าฌานในแต่ละขั้น

เทคนิคการเข้าฌานในแต่ละขั้น

จะให้เข้าฌานง่าย อย่าไปคิดเพิ่มวิตกวิจารครับ มันจะยิ่งเข้ายาก
ให้มีวิตกคือตรึกนึกอย่างสบายๆ ถึงอารมณ์อันใดอันหนึ่งที่เราถนัดอย่างต่อเนื่อง
เช่นรู้ลมหายใจ ก็รู้ไปอย่างสบายๆ ธรรมดาๆ
มีสติพอดีๆ อย่าให้แข็งเกินไปเพราะจิตจะกระด้างไม่เข้าฌาน
อย่าให้อ่อนเกินไปเพราะจะเคลิ้ม
หากประคองสติให้พอดีๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ในอารมณ์อันเดียวนั้น (เอกัคคตา)
จนจิตเกิดวิจาร คือจิตเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์(เช่นลมหายใจ) โดยเราไม่ได้ตั้งใจ
แต่จิตเขาเคล้าเคลียของเขาเองด้วยความคุ้นชินและพอใจ(มีฉันทะ)
จิตจึงจะปรุงปีติสุขขึ้นมาครับ
อันนี้บัญญัติเรียกว่าปฐมฌาน

เมื่อจิตเกิดปีติสุขแล้ว ให้เปลี่ยนสติมาระลึกรู้ปีติสุขที่เกิดขึ้นนั้น
ทิ้งอาการเคล้าเคลียหรือตรึกนึกถึงอารมณ์เบื้องต้นที่ทำมา
ทำความรู้ตัวขึ้นภายในอีกชั้นหนึ่งว่า แม้ปีติสุขก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้
จิตผู้รู้อันเป็นธรรมอันเอกนั้น ดำรงอยู่ต่างหากจากปีติสุข
อันนี้คือทุติยฌาน

ปีติอันเป็นของหยาบ หวือหวาก็จะดับไป
จิตจะเหลือเพียงความสุขอันประณีตเป็นเครื่องระลึกของสติ
ในขณะที่จิตรู้ความสุขนั้น ตัวจิตเองจะเป็นอุเบกขา หรือเป็นกลางต่อความสุขอีกชั้นหนึ่ง
อันนี้คือตติยฌาน

แล้วจิตก็จะเห็นความสุขนั้นดับไป เหลือเพียงความว่างๆ ในจิตใจ
จิตมีสติอันบริสุทธิ์ เป็นกลางวางเฉย รู้ความว่างนั้นอยู่
อันนี้คือจตุตถฌาน

หากมีอารมณ์แปลกปลอมแม้เพียงเล็กน้อยผ่านมา
สติจะเห็นได้ชัดเจนถึงสิ่งแปลกปลอมนั้น
เห็นเหมือนแขกที่จรมาจรไป เกิดแล้วดับไป
ส่วนจิตผู้รู้ก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายอารมณ์ คงทำตัวเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่ดีเท่านั้น

ฌาน 4 ที่พระพุทธเจ้าสอน จึงไม่ใช่ฌานเพื่อการเสพสุขอย่างเดียว(จะเสพก็ได้)
แต่เป็นฌานที่เป็นไปเพื่อความมีสติสัมปชัญญะ
เป็นไปเพื่อจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ พร้อมที่จะดำเนินวิปัสสนาต่อไป

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : นักภาวนา กลัวเจ็บ กลัวตาย แต่กล้าหาญเบิกบาน

นักภาวนา กลัวเจ็บ กลัวตาย แต่กล้าหาญเบิกบาน

ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวตาย ไม่กลัวพลัดพราก
กระทั่งพระอริยบุคคลชั้นต้นๆ ก็ยังกลัวเหมือนกัน
ดังนั้น การที่จิตคุณ (นักภาวนาท่านนึงที่ป่วยเป็นโรคร้าย)จะหวั่นไหวบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาที่สุด

แต่นักปฏิบัติจนเข้าสายเลือดนั้น
เมื่อเวลาเผชิญหน้ากับภัย แบบหนีไม่ได้แล้วจริงๆ
จิตจะหมุนตัวติ้วๆ ขึ้นมาเป็นอัตโนมัติ
เพื่อพิจารณาถอดถอนตนเองออกจากกองทุกข์
จะพ้น หรือไม่พ้น ก็สู้กันแค่ตายเท่านั้น

ผมรู้จักฆราวาสนักปฏิบัติรุ่นอาวุโสจำนวนมาก
ท่านหนึ่งคือป้าตุ๊ โฆวินทะ เป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่เทสก์มาตั้งแต่ท่านยังหนุ่ม
ช่วงวัยชรา ป้าตุ๊เจ็บป่วยต้องผ่าตัดหลายครั้ง
เวลารอการผ่าตัด ญาติมิตรก็จะพากันไปเยี่ยม แล้วร้องโถๆๆ สงสารคุณป้า
แต่ป้าก็มีชีวิตอยู่จนได้เผาศพคนที่ร้องโถๆ นั้นเสียหลายคน
เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว เวลามีใครไปเยี่ยม
ป้าตุ๊จะเปิดแผลที่ผ่าตัดให้ดู หัวเราะเอิ๊กอ๊ากที่ถูกตัดอวัยวะไปทีละส่วน

ในเวลาเจ็บไข้ หลวงปู่จะส่งพระตัวแทนของท่านมาเยี่ยม
พระก็จะกลับไปเล่าถวายหลวงปู่และชาววัด
ถึงลวดลายนักปฏิบัติของป้าตุ๊ เป็นที่ชื่นชมกันไปทั่ว
ในตอนจะตายนั้น ป้าตุ๊ซึ่งนอนลุกไม่ขึ้นมานานแล้ว
ได้ลุกขึ้นไปหยิบรูปหลวงปู่เทสก์มาถือไว้ แล้วตายด้วยความเบิกบาน

ที่หินหมากเป้งตอนนี้ก็มีป้าเฉลาอีกคนหนึ่ง
เป็นโรคเดียวกับคุณ และผ่าตัดมาหลายปีแล้ว
ในเวลาเจ็บไข้และผ่าตัดนั้น
ป้าเฉลาก็เล่าว่า จิตใจเกิดความห้าวหาญมาก
ไม่เหมือนเวลาที่รู้ว่าเป็นโรคใหม่ๆ ที่จิตท้อแท้ลง
เพราะนักปฏิบัตินั้น พอจวนตัวเข้าจริงๆ มักจะสลัดความท้อแท้ทิ้ง
แล้วเจริญสติรู้เวทนาและจิตไปอย่างอัตโนมัติ

สรุปแล้ว นักปฏิบัติก็ยังกลัวเจ็บ กลัวตาย กลัวพลัดพราก
แต่เมื่อจวนตัวเข้าจริงๆ มักจะแตกต่างจากบุคคลทั่วไป
ตรงที่มีสติสัมปชัญญะเข้าเผชิญหน้ากับอันตรายทุกอย่าง
ด้วยความองอาจกล้าหาญ สมเป็นศิษย์มีครูโดยอัตโนมัติ

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2543 

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การพิจารณาธรรมมี 2 ระดับ

การพิจารณาธรรมมี 2 ระดับ

เรื่องการพิจารณานั้นมันมี 2 ระดับครับ

ระดับแรก เป็นขั้นที่เราจงใจพิจารณา เป็นการน้อมนึกเอา
เช่นน้อมนึกพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เป็นไตรลักษณ์
หรือพิจารณาลงไปที่สิ่งที่เรายึดถือ ว่าเป็นไตรลักษณ์
ขั้นนี้เป็นอุบายวิธีอบรมจิต ให้รู้จักวางเสียบ้างชั่วขณะ
เพื่อรวมสงบเข้ามาภายใน (เป็นการทำสมถะ)
เมื่อจิตรวมลงแล้ว หากจิตพอใจจะสงบ
มันจะไปสงบตัวอยู่เฉยๆ เป็นการพักผ่อนในภูมิของสมถะ
หรือมันอาจจะดำเนินวิปัสสนาอันเป็นระดับถัดไปก็ได้
แต่หากมันรวมแล้ว ไปค้างคานิ่งเฉยอยู่เพียงนั้นทุกที
ไม่ใช่การพักผ่อนในภูมิสมถะเป็นครั้งคราว
ก็อาจจะต้องพิจารณาจิตและอารมณ์ภายในต่อไปอีก
เพื่อไม่ให้ไปติดอยู่เพียงแค่นั้น

ระดับที่ 2 เป็นการดำเนินเองของจิตที่รวมลงเป็นสัมมาสมาธิแล้ว
คือจิตเขาจะพิจารณาแยกรูปนาม หรืออารมณ์ที่จิตไปรู้ไปเห็นโดยอัตโนมัติ
เหมือนที่จิตผมวิ่งออกไปพิจารณามูลสุนัขจนกระจายออกเป็นอนัตตา
หรือบางครั้งจิตก็รู้อารมณ์ภายใน พิจารณาแยกแยะอารมณ์ภายในลงเป็นไตรลักษณ์
ขอย้ำตรงที่ว่า จิตเขาดำเนินเอง ไม่ใช่เราจงใจพิจารณา
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านจึงสอนว่า
“วิปัสสนาแท้เริ่มที่หมดความจงใจ”
ในขั้นนี้ เราไม่สามารถจงใจกระทำอะไรต่อไปได้หรอกครับ 

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การปฎิบัติธรรมเป็นเรื่องไม่ยาก

การปฎิบัติธรรมเป็นเรื่องไม่ยาก

สำหรับผมเองก็ยังเห็นอยู่นั่นเองว่า
การปฏิบัติธรรมไม่ยาก ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ
(แต่ถ้ามีมิจฉาทิฏฐิ ก็ยากมาก)
เพราะธรรมะอยู่ที่กายที่จิตเรานี้เอง
แม้แต่สิ่งแวดล้อมภายนอก ก็ล้วนประกาศธรรมอยู่ปาวๆ ตลอดเวลาเช่นกัน

ผมยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งครับ
คราวหนึ่งผมเดินทางไปกราบหลวงพ่อพุธ ระหว่างทางเดินผ่านกองมูลสุนัข
กองเบ้อเริ่มเลย มีหลายกอง ส่งกลิ่นรุนแรง มีสีเหลืองเขียวแดง
มีแมลงวันใหญ่ๆ บินว่อนตอมมูลสุนัข
พอเดินเข้าไปใกล้ มันก็บินจะมาตอมผม
จิตใจขณะนั้นรู้สึกสะอิดสะเอียนเป็นกำลัง โบกปัดแมลงวันวุ่นไปหมด

พอจิตระวังสนใจมูลสุนัข จิตก็พุ่งออกไปพิจารณามูลสุนัขนั้นโดยอัตโนมัติ
จิตประจักษ์ชัดว่า กลิ่นเป็นส่วนหนึ่ง สีเป็นส่วนหนึ่ง ตัวมูลสุนัขเป็นเพียงธาตุ
เหมือนกายเรานี้เอง ไม่ได้สกปรกอะไรเลย
พอจิตเข้าใจเช่นนั้น จิตก็ตัดกระแสความรังเกียจขาดหมด
มีแต่ความสงบ เบิกบาน ตื่นตัว
พอถึงกุฏิ กราบหลวงพ่อแล้ว เล่าให้ท่านฟัง
ท่านก็สอนสรุปว่า ถ้ามีปัญญาเสียอย่างเดียว แม้แต่มูลสุนัขก็แสดงธรรมให้ฟังได้

เราอย่าไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือสิ่งนั้นสิ่งนี้
ขอเพียงรู้ชัดสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงของมัน
ทั้งภายในและภายนอก ทั้งรูปและนาม
แรกๆ อาจจะต้องพาจิตให้หัดพิจารณาบ้างพอเป็นแนวทาง
พอจิตเข้าใจแล้ว คราวนี้อะไรมากระทบ จิตเขาจะดำเนินการปฏิบัติของเขาเอง
เราเป็นคนดูเฉยๆ เท่านั้น ไม่ยากหรอกครับ

ผมเขียนตอนที่จิตพิจารณามูลสุนัขยังไม่ชัด ขอขยายความสักนิดครับ
เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง
ตรงที่จิตพิจารณามูลสุนัขที่น่ารังเกียจนั้น
แทนที่จิตจะมองมูลสุนัขกองนั้นทั้งกอง
มันกลับเข้าไปจำแนกมูลกองนั้นเป็นรูป(สี) ที่เห็นด้วยตา
สีของมูลสุนัข กับสีอื่นๆ ที่ตาเห็น ก็ล้วนแต่เป็นสีอย่างเดียวกัน
ทั้งสิ่งสวยงามและไม่สวยงาม มันก็สักว่าสีที่ตาเห็นเท่านั้น

กลิ่นที่ว่าเหม็น ก็สักว่ากลิ่นที่มากระทบจมูก
ตัวกลิ่นเองมันไม่บอกหรอกว่ามันเหม็นหรือหอม มันก็กลิ่นด้วยกันทั้งนั้น

ที่เหลืออยู่ก็คือก้อนธาตุ ซึ่งก็คือธาตุปกติธรรมดานั่นเอง
พอธาตุน้ำระเหยไป เหลือแต่ธาตุดินแห้งๆ มันก็เหมือนดินธรรมดานั่นเอง
(อันนี้ไม่ได้แยกธาตุตามแนวอภิธรรมนะครับ แต่แยกตามที่ตาเห็น)

จิตพิจารณาจำแนกมูลสุนัขนั้นออกเป็นรูป กลิ่น และเป็นธาตุ
ไม่ได้พิจารณารส และสัมผัส เข้าใจว่าจิตไม่เคยรู้รสมูลสุนัข
และไม่คิดจะกินมูลสุนัข มันจึงไม่ได้พิจารณารส

สิ่งเหล่านี้จิตมันดำเนินไปได้เองครับ ถ้าเรารู้จักคุ้นชินการปฏิบัติมาระดับหนึ่ง
คือแทนที่มันจะมองอะไรเป็นกลุ่มเป็นก้อนอันเดียว
มันกลับรู้จักแยกแยะสิ่งเหล่านั้นออกเป็นส่วนๆ
พอแยกส่วนแล้ว ก็ไม่มีอะไรน่ารังเกียจหรือน่ายินดี
แต่ถ้าสิ่งต่างๆถูกหมายรู้รวมๆ กันแล้ว(มี ฆนสัญญา)
มันก็มีสิ่งที่น่ารังเกียจและน่ายินดีขึ้นมา

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เรื่องของจิตกับใจ

เรื่องของจิตกับใจ

ผมเคยสงสัยว่า จิต มโน วิญญาณ ต่างกันอย่างไร

สำหรับในแง่การปฏิบัติแล้วทั้งหมดนั้นคือธรรมชาติรู้เหมือนกัน แต่ต่างหน้าที่กัน
จิต เป็นตัวที่รู้แล้วคิด นึก ปรุงแต่ง และเสวยอารมณ์ได้
มโน เป็นเครื่องมือรู้ความคิดนึกปรุงแต่ง เช่นเดียวกับตาเป็นเครื่องมือรู้รูป
วิญญาณ เป็นสื่อที่จะให้จิตรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เป็นความหยั่งรู้ลงในแต่จะทวารนั้น

จะเห็นว่าเวลาสอนธรรม พระพุทธเจ้าไม่ทรงใช้คำสับที่กันเลย เพราะมันไม่เหมือนกันทีเดียว
เช่นทรงสอนว่า ให้ทำจิตให้ผ่องแผ้ว (เพราะจิตมันเป็นตัววุ่นวาย)
ท่านไม่เคยสอนว่าให้ทำมโนหรือใจ และทำวิญญาณให้ผ่องแผ้ว
ท่านสอนว่าธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ เป็นประธาน ท่านไม่เคยสอนว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน
ท่านสอนว่าจิตหลุดพ้น ท่านไม่เคยพูดว่าใจหลุดพ้น หรือวิญญาณหลุดพ้น
ท่านสอนว่าวิญญาณหยั่งลงในครรภ์มารดา ไม่เคยสอนว่าจิตหรือใจหยั่งลงในครรภ์มารดา

มีแต่การภาวนาจนรู้จักจิตเท่านั้นครับ จึงจะเข้าใจได้ด้วยตนเอง
นอกนั้นเป็นเพียงการคาดคะเนเอาทั้งนั้น
ด้วยการคิดเอาบ้าง (จินตามัยปัญญา)
ด้วยการอ่านและการฟัง (สุตตมัยปัญญา)

ผมจะเล่าบางอย่างในเพื่อนฟัง เท็จจริงเอาไว้พิสูจน์ด้วยการภาวนาเอาเองนะครับ
เวลาเรากำหนดจิตรู้อยู่ที่จิตนั้น
พอมีเสียงกระทบหู ทีแรกอาจจะไม่ได้ยินเพราะไม่มีวิญญาณทางหู เนื่องจากจิตวิญญาณอยู่ที่ใจ
ต่อมาพอมีวิญญาณทางหูเพราะจิตไหวตัวออกรับรู้ทางหู
ก็จะได้ยินเสียง แต่ไม่รู้ว่านั่นคือเสียงและเสียงอะไร
ถึงตอนนี้ความจำได้หมายรู้ก็จะบอกกับจิตว่า นั่นคือเสียง และเป็นเสียงอะไร
ตรงที่สัญญาทำงานนี้เอง ใจคือมโนเป็นตัวรับทราบก่อน
เพราะมันเป็นเครื่องมือของจิตในการรับรู้ธรรมารมณ์
จากนั้นความคิดก็เกิดขึ้น มโนหรือใจก็รับความคิดเข้าสู่จิตอีก
ตรงนี้ภาวนาแล้วจะเห็นละเอียดยิบเลย และซับซ้อน และเร็วมาก
กว่าเราจะรู้ว่าตอนที่นั่งภาวนาแล้วมีเสียงตุ๊กแกร้องนั้น
จิต มโน วิญญาณ ทำงานเชื่อมโยงกันอุตลุดเลย
ร่วม 10 กว่าขั้นตอนแต่ไม่ถึง 20 ขั้นตอน แต่ถ้าจิตสงบพอ และสติไวพอก็พอจับได้

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2541

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ความยึดถือจิต

ความยึดถือจิต

น้อยคนนักที่จะเข้าใจได้ว่า ตัวจิตเองนั่นแหละ เป็นตัวทุกข์อันใหญ่ทีเดียว
ไม่ใช่ต้องอยากหรือยึดสิ่งอื่นหรือขันธ์อื่นเท่านั้น ที่จะเป็นทุกข์
เพียงเมื่อใดยึดว่า จิตเป็นเรา ทันทีนั้นแหละทุกข์เกิดแล้ว

และเมื่อเอา จิตที่เป็นเรา ไปกระโดดโลดเต้นตามแรงกิเลสตัณหา
เช่นไปยึดว่านี่กายเรา นี่ความสุขความทุกข์ของเรา
นี่ครอบครัว นี่สมบัติของเรา แล้วคราวใดเกิดความไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์
อันนี้เป็นทุกข์ซ้ำซ้อนที่ตามมาทีหลัง
ส่วนมากเราจะรู้จักทุกข์ชนิดนี้
แต่ไม่ค่อยรู้จักจิตที่เป็นก้อนทุกข์ ทั้งที่ไม่ได้ยึดถือสิ่งภายนอก

เมื่อเราดูจิตอยู่นั้น และเห็นว่ามันเป็นทุกข์
จิตลึกๆ มันอดที่จะอยากให้จิตพ้นทุกข์ไม่ได้
(ดังที่บอกว่า “เฝ้าดูแล้วมันไม่ดีขึ้น” นั่นแหละครับ เราอยากให้ดีขึ้นนะครับ)
ความอยากนั้น ยิ่งทำให้เพ่งจ้อง ให้พยายามทำลายทุกข์
แล้วผลก็คือทุกข์จะหนักและแรงยิ่งขึ้น
ไม่มีใครทำหรอกครับ เราทำของเราเองทั้งนั้น

ทีนี้ต่อมาเฝ้าสังเกตอยู่เฉยๆ แล้วจิตมันพิจารณาว่านี้คืออะไร
จิตก็ตอบว่า อุปาทาน แล้วความทุกข์ก็คลายออก
ลักษณะนี้ผู้ปฏิบัติเป็นกันทั้งนั้นครับ
เวลาจิตติดขัดสิ่งใดอยู่นั้น เมื่อใดที่ปัญญาตามทัน
ปัญญาจะตัดอารมณ์ที่จิตกำลังยึดถืออยู่ ขาดออกไปทันที
เพราะคุณสมบัติของปัญญาคือการตัด
แต่อันนี้ต้องเป็นปัญญาที่มันผุดขึ้นในใจจริงๆ จึงจะตัดได้
ถ้าคิดๆ เอา ยังตัดไม่ได้ครับ

ทีนี้เมื่อจิตวางความทุกข์แล้ว จิตเบา สบาย มีปีติแล้ว
อย่าลืมหันมาสังเกตความยินดีพอใจที่เกิดขึ้นอีกนะครับ
ส่วนมากพอหายทุกข์แล้ว ผู้ปฏิบัติจะพอใจ แล้วหยุดอยู่แค่นั้นเอง
เข้าลักษณะเกลียดทุกข์ รักสุข
ผมเองเมื่อก่อนที่ปฏิบัติทีแรกก็เป็นอย่างเดียวกันนี้เหมือนกันครับ

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เริ่มจากรู้รูปนาม สู่โสดาบัน จนทำลายผู้รู้

เริ่มจากรู้รูปนาม สู่โสดาบัน จนทำลายผู้รู้

 ในชั้นเริ่มแรกเราไม่สามารถเห็นรูปนามทุกขณะจิตได้หรอกครับ
เอาแค่ว่าให้รู้ว่าอันไหนรูป อันไหนนาม
ส่วนนามก็รู้ว่า จิตกับเจตสิกธรรมมันต่างกัน ทำหน้าที่ต่างกัน
ถ้าจำแนกจิตกับเจตสิกอันเป็นธรรมต่างกันที่เกิดดับด้วยกันได้
แล้วระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม
จะพบว่าไม่มี ความเป็นตัวเรา ในสิ่งที่ถูกรู้เลย
กายก็เป็นเพียงก้อนธาตุ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสิ่งเกิดๆ ดับๆ
ตัวของมันโดดๆ ไม่มีการประกาศว่าเป็นตัวตนเลย
แต่เมื่อใดธรรมเหล่านี้สมคบทำงานร่วมกัน
ความเห็นว่าเป็นตัวเรา ก็จะเกิดขึ้น
เพราะเกิดจากจิตไปหลงตามความคิดปรุงแต่งเท่านั้นเอง

เมื่อจิตเห็นความไม่มีตัวตนมากเข้าๆ
ถึงจุดหนึ่งจิตก็จะตัดสินด้วยปัญญา
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลลพพตปรามาส ก็จะขาดไปพร้อมกัน

แม้ในขั้นที่เป็นพระโสดาบันแล้ว
จิตก็ยังไม่มีความสามารถที่จะรู้ความเกิดดับได้ทุกขณะจิต
ก็ต้องเพียรรู้ความเกิดดับนั้นต่อไป
จะรู้ได้มากขึ้น ละเอียดขึ้นเป็นลำดับๆ ไป
ในขณะที่เผลอสตินั้น จิตจะยึดว่าจิตเป็นตัวตน
แต่ถ้ามีสติเมื่อใด มองดูสิ่งใดสิ่งนั้นก็ไม่เป็นตัวตน

จิตจึงค่อยเรียนรู้ไปตามลำดับว่า ความยึดว่าจิตเป็นตัวตน ยังมีอยู่
แต่ความเห็นว่า จิตเป็นตัวตน ไม่มีอยู่
และไม่ว่าจะมองอย่างไร จิตก็ยังเป็นจิตอยู่นั่นเอง

ปฏิบัติมากเข้าๆ ก็เริ่มจะเห็นร่องรอยอะไรบางอย่างว่า
ที่จริงจิตที่เราเรียกว่า จิตผู้รู้ (หรือธรรมอันเอกเป็นเครื่องมือที่ใช้มานั้น) ก็ไม่ใช่จิต
แต่มันเป็นเพียงสภาวะอันเกิดจากการประชุมกันของนามขันธ์
คือเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เท่านั้น
นามขันธ์ต่างก็ทำหน้าที่ประกอบกัน จนรู้สึกเกิดเป็น”จิตผู้รู้” ขึ้นมา
(เหมือนธาตุ 4 ประชุมกันแล้วมีสัญญาหมายรู้ว่าเป็น “กาย” ขึ้นมา)
แท้จริง จิตก็ไม่ใช่จิต ความยึดในจิตก็จะดับสลายไป
เพราะเห็นแล้วว่า จิตผู้รู้ที่เรายึดว่าเป็น จิตเรา นั้น
คือการประชุมกันของนามขันธ์ เท่านั้นเอง
อันนี้ เป็นการกระจายนามขันธ์ชั้นในสุดออกอีกทีหนึ่ง เพื่อทำลายอุปาทานในจิต

ที่เล่าก็เพราะต้องการบอกว่า
เมื่อใช้ จิตผู้รู้ ในการไปรู้ความเกิดดับของรูปนามมากพอแล้ว
จนจิตมีแต่ว่าอิ่มตัว รู้ สงบ เบิกบาน ผ่องใส เต็มที่แล้ว
ก็ถึงเวลาจะต้องทำลาย จิตผู้รู้ทิ้ง ต่อไป
อย่ายึดตัว จิตผู้รู้ เอาไว้อีก
แต่ตอนนี้ อย่าเพิ่งให้ความคิดล้ำหน้า
ไปทิ้งเรือเสียก่อนจะถึงฝั่งนะครับ

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : สภาวะต่างๆ ผู้รู้ และ ปฏิจจสมุปบาท

สภาวะต่างๆ ผู้รู้ และ ปฏิจจสมุปบาท

ในการปฏิบัตินั้น เราไม่จำเป็นต้องคอยจำแนกชื่อ ว่าสภาวะอันนี้ ชื่อว่าอย่างนี้
เพราะเราจะพบสภาวะต่างๆ มากมายในขณะหนึ่งๆ
ขืนพยายามจำแนกชื่อ จิตจะฟุ้งซ่านจนปฏิบัติต่อไปไม่ได้
เพราะแทนที่จะรู้ กลับจะกลายเป็นคิดไป
เราเพียงรู้สภาวะเหล่านั้น รู้หน้าที่และบทบาทของมัน เท่าที่จิตรู้ในขณะนั้นก็พอ
ในทางปฏิบัติ เพื่อตัดข้อยุ่งยาก เราจึงมักสรุปย่อสภาวะทั้งหลาย
ลงเหลือเพียง ผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ ก็พอครับ

เมื่อรู้ชัดว่า อันใดเป็นผู้รู้ อันใดเป็นสิ่งที่ถูกรู้แล้ว
ไม่เพียงจะเห็นความเกิดดับของอารมณ์เท่านั้น
ยังเห็นกลไกการทำงานของจิตตามหลักของปฏิจจสมุปบาทด้วย
คือพบว่าเมื่อจิตรู้อารมณ์แล้ว เกิดเวทนาแล้ว
กิเลสจะแทรกตามเวทนา และกระตุ้นให้จิตเกิดตัณหาหรือความทะยานอยาก
จิตจะเคลื่อนออกยึดถืออารมณ์ เกิดภพขึ้น
แล้วก็เกิดตัวตนขึ้นมากระโดดโลดเต้นในภพนั้น
อย่างที่คุณบอกว่าเห็นตัวตนนั่นแหละครับ 

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

ณ  25 ต.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การทำสมาธิในชีวิตประจำวัน

การทำสมาธิในชีวิตประจำวัน

การทำสมาธิในชีวิตประจำวันมี 2 ลักษณะครับ
อย่างแรกเป็นการเอาจิตจดจ่อรู้งานที่ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่วอกแวกไปที่อื่น
อันนี้เป็นหลักการทำสมถะแท้ๆ อย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพที่จิตตั้งมั่น รู้อารมณ์ด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่ส่งกระแสวิ่งตามอารมณ์ไป
อันนี้เป็นหลักของการทำวิปัสสนา อีกอย่างหนึ่ง

ถ้าเราทำงานที่ไม่ต้องใช้ความคิด เช่นการปั่นสามล้อ การทำนา
เราสามารถทำสมาธิทั้งสองประเภทนั้นได้ครับ
แต่ถ้าเราต้องทำงานที่ใช้ความคิด ต้องจดจ่อกับงาน
ในขณะที่จิตมีสติจดจ่อกับงาน เราทำได้แค่อย่างแรกเท่านั้น

แต่ไม่ใช่ว่า คนที่ทำงานความคิดจะทำวิปัสสนาในชีวิตประจำวันไม่ได้
หากเราหัดอ่านจิตอ่านใจตนเองให้ชำนาญอยู่เสมอๆ
เวลาที่เราจดจ่อทำงานนั้น หากเกิดสิ่งแปลกปลอมขึ้นกับจิต
เช่นความเครียด ความเบื่อหน่าย ความเกียจคร้าน
ความอยากให้งานเสร็จ และ ความดีใจที่งานใกล้เสร็จ เป็นต้น
เราจะรู้ทันสิ่งแปลกปลอมนั้นทันที แล้วสามารถปล่อยวางมันออกไป
เหลือแต่การทำงานล้วนๆ ซึ่งก็จะได้งานที่มีคุณภาพดีครับ

ดังนั้น แม้เราจะทำงานความคิด เราก็สามารถดำเนินสมถะ สลับกับวิปัสสนาไปได้เรื่อยๆ
พองานเสร็จ หรือได้เวลาพัก เราก็กลับมาอยู่กับความรู้ตัว
อ่านจิตอ่านใจของตน ทำวิปัสสนาจริงจังต่อไป
หรือในระหว่างเดินทางไปทำงาน และเดินทางกลับบ้าน
ก็พยายามใช้เวลาช่วงนี้ อ่านจิตใจให้สม่ำเสมอไว

ผมเห็นว่า การทำงานความคิด และการใช้ชีวิตในเมือง
ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติสมาธิภาวนา ทั้งที่เป็นสมถะและวิปัสสนา
และไม่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุมรรคผลขั้นต้นๆ ด้วย

คุณมีความคิดที่ดีงามแล้วครับ
ที่จะพยายามปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันให้ได้
เพียงแต่ผมอยากฝากเพิ่มเติมนิดเดียวว่า
เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อพยายามปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ นะครับ
แต่เราปฏิบัติเพื่อรู้อารมณ์และสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
ถ้าจิตรู้จริงแล้ว จิตเขาปล่อยวางของเขาเอง
ความพยายามจะปล่อยวางนั้น ไม่ควรกระทำหรอกครับ

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

ณ วันที่  27 มี.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญสติปัฏฐาน (๒) แนะนำ!!!

เตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญสติปัฏฐาน (๒)

คำว่า การดูจิต ที่แท้ก็คือ
การเตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญสติปัฏฐาน อย่างหนึ่ง
และการเจริญสติปัฏฐานต่อไป ด้วยการระลึกรู้ เวทนา จิต ธรรม อีกอย่างหนึ่ง
คือสามารถสังเกตจนรู้ว่า ขณะนั้น
1. จิตรู้อารมณ์อย่างเป็นวิหารธรรม หรือเพ่งจ้องอารมณ์
2. รู้ว่าจิตถูกกิเลสตัณหาครอบงำหรือไม่
3. รู้ว่าตนเองรู้ตัว หรือเผลอไปแล้ว เพราะถูกโมหะครอบงำเอาแล้ว
4. รู้ว่าตนมีสติรู้ทันอารมณ์ที่กำลังปรากฏ หรือขาดสติ
หรือตามรู้ได้หลังจากอารมณ์เกิดไปช่วงหนึ่งแล้ว
5. รู้ว่าจิตเป็นกลาง หรือไม่เป็นกลางต่ออารมณ์

การดูจิตจึงเป็นการเตรียมความพร้อมของจิต เพื่อเจริญสติปัฏฐานต่อไป
เพราะเมื่อดูจิตเป็นแล้ว จิตจะเห็นขันธ์ 5 หรือกาย เวทนา จิต ธรรม
สักแต่เป็นของเกิดๆ ดับๆ เป็นของทนอยู่ถาวรไม่ได้
และไม่ใช่ตัวเราแต่เป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น เมื่อเห็นมากเข้า
จิตจึงจะฉลาดและรู้จักปล่อยวางอารมณ์
ซึ่งก็คือโลก คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธัมมารมณ์
หรือคืออุปาทานขันธ์ 5 นั่นเอง
อันนี้จิตจะพัฒนาของเขาไปเองครับ

เมื่อหัดดูจิตจนรู้ตัวเป็นแล้ว ก็ต้องเจริญสติปัฏฐานต่อไป
เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนความรู้ตัวและปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
เหมือนอย่างพระสูตรข้างบน (ไม่ได้นำมาแสดง – ผู้เรียบเรียง) ท่านเจริญสติปัฏฐานโดยใช้อานาปานสติ
หรือใช้ลมหายใจเป็นเครื่องระลึกของสตินั่นเอง
เริ่มต้นก็ให้รู้ลมหายใจไปอย่างสบายๆ
ต่อมาก็สำเหนียก หรือสังเกตได้ว่า จิตผู้รู้ลมหายใจมีอยู่ต่างหาก
แล้วก็รู้จิตรู้ใจของตนเอง(ดูจิต)ต่อไปอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญสติปัฏฐาน (๑) แนะนำ!!!

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญสติปัฏฐาน (๑)

จิตที่พร้อมจะเจริญสติปัฏฐานได้จริง จะต้องเป็นจิตที่มีคุณสมบัติดังนี้

1.เป็นจิตที่สามารถระลึกรู้อารมณ์ จะเป็นกาย เวทนา จิตหรือธรรมอะไรก็ได้
อย่างเป็น  วิหารธรรม คือเครื่องรู้ เครื่องอยู่ เครื่องระลึกของสติ
แต่ส่วนมากเราเอาอารมณ์มาเป็นคุกขังจิตกัน
(แบบที่คุณหมอ Lee เล่าว่าเพ่งลงไปให้จิตหยุดอยู่ในอารมณ์เดียว)
มากกว่าจะเอามาเป็นวิหารธรรมหรือเครื่องอยู่อันสบายของจิต

2. จิตต้องมี  ตบะ หรือความเพียรแผดเผากิเลสให้เร่าร้อน
การปฏิบัติต้องปฏิบัติด้วยความรู้เท่าทันกิเลส
ไม่ใช่ปล่อยให้กิเลสตัณหาชักนำให้ปฏิบัติ
คือปฏิบัติไปด้วยความอยากมี อยากเป็น อยากเห็น อยากรู้ อยากพ้น สารพัดอยาก
เมื่อกิเลสชักจูงให้ปฏิบัติแล้ว ที่จะเอาชนะกิเลสนั้นยากนักครับ
เพราะไม่รู้ทันปัจจุบันว่า กำลังมีกิเลสตัณหา
มัวแต่เฝ้ารอจะต่อสู้กับกิเลสตัณหา ที่คิดว่าประเดี๋ยวจึงจะมา

3. จิตจะต้องมี สัมปชัญญะ ซึ่งทางกายหมายถึงการรู้ความเคลื่อนไหวของกาย
ทางจิตหมายถึงการรู้ความเคลื่อนไหวของจิต
ไม่ถูกโมหะครอบงำ จนไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

4. จิตจะต้องมี สติ คือรู้เท่าทันสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ซึ่งเรื่องสตินั้นผู้กำหนดอิริยาบถย่อยมักจะมีกันอยู่แล้ว
ที่ขาดคือขาดความรู้ตัวจริงๆ เท่านั้น

5 จิตจะต้อง  สลัดความยินดียินร้ายในโลก
คือเป็นกลางต่อ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์ได้
แต่ผู้ปฏิบัติส่วนมากไม่รู้เท่าจิตใจของตน
จิตหลงยินดียินร้ายแต่รู้ไม่ทัน คิดว่าตนเป็นกลางแล้ว 

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การเจริญสติแบบชาวเมือง

 การเจริญสติแบบชาวเมือง

อาชีพของพวกเราชาวเมือง ส่วนมากเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความคิด
และต้องติดต่อกับผู้คนมากมายในแต่ละวัน
จึงต้องพูด ต้องถกเถียง ต้องเจรจาต่อรองชิงไหวชิงพริบ
ดังนั้นการเจริญสติจะทำให้ต่อเนื่องเหมือนคนที่ใช้แรงกายไม่ได้
เพราะการรู้ กับการคิด คือสองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

การปฏิบัติของผู้มีอาชีพต้องคิด จึงต้องจำแนกเป็นสองส่วน
ยามใดไม่มีงานต้องคิด ในขณะนั้นให้เจริญสติให้เต็มที่ไปเลย
เช่นในระหว่างตื่นนอน อาบน้ำ กินข้าว นั่งรถ ลงเรือ เข้าห้องน้ำ ฯลฯ
ก็ให้มีสติในขณะนั้น จะรู้กาย เวทนา จิต หรือธรรม ก็ได้
แล้วแต่ถนัด หรือแล้วแต่จิตจะไปรู้เข้า
ผมก็ปฏิบัติอยู่อย่างนี้แหละครับ
แต่ส่วนมากเมื่อมีสติ จะรู้จิตและธรรมเป็นเครื่องอยู่
ยามเผลอสติ (ซึ่งเกิดบ่อยมาก แบบถี่ยิบทีเดียว)
หากเกิดการขยับตัวสักนิดหนึ่ง หรือตากระทบรูปใหม่ๆ สักรูปหนึ่ง
ก็จะเกิดความรู้ตัวขึ้นโดยอัตโนมัติ

ในยามที่ต้องใช้ความคิด ในการฟัง คิด พูด ทำงาน
สติจะต้องจดจ่อเข้ากับความคิด หรือเรื่องราวต่างๆ นั้น
เพราะจิตมีธรรมชาติรู้อารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น
แต่คราวใดที่ใช้ความคิดแล้ว เกิดอกุศล หรือกุศลขึ้นมาในจิต
สติจะระลึกรู้อกุศลหรือกุศลนั้นเป็นอัตโนมัติ
เมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นกลางแล้ว ก็คิด หรือทำงานต่อไป

ส่วนเวลานอนก็คือเวลานอน
ผมไม่เจริญวิปัสสนาอะไรทั้งนั้น
แต่จะปล่อยจิตให้ตกภวังค์ไปเลยเพื่อการพักผ่อน
ผมไม่นิยมขยันปฏิบัติในเวลาพักผ่อน
และไม่ชอบพักผ่อนในเวลาที่ควรปฏิบัติ
เพราะเวลาพักผ่อน เป็นเวลาที่เรามีหน้าที่สมควรพักผ่อน
เช่นเดียวกับเวลาทำงานที่มีหน้าที่ทำงาน
และเช่นเดียวกับเวลาอื่นๆ ที่เรามีหน้าที่เจริญสติ 

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เขียนไว้เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2544

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สันตินันท์บรรยายธรรม : ความเป็นเรา

ความเป็นเรา

ในร่างกายจิตใจเรานี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า
มีความรู้สึกอยู่หย่อมหนึ่ง ที่มันรู้สึกว่าคือ “ตัวเรา”
“เรา” นั้น เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ตัดสิน ผู้เสพย์อารมณ์ต่างๆ
สิ่งนี้แหละครับ ที่บัญญัติกันว่า “จิต”
มันคือคนที่พูดแจ้วๆ ตลอดเวลา คอยตัดสินว่าอันนั้นดี อันนี้ไม่ดี
เวลามันไปรู้อะไรเข้า มันก็เกิดความชอบและความชังขึ้นมา

ลองทำใจสบายๆ แล้วทำสติระลึกรู้เข้าไปที่ ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ดูสิครับ
ปุถุชนกับพระโสดาบันนั้น ความรู้สึกตรงนี้จะต่างกันมาก
เพราะปุถุชนถ้าดูเข้าไปที่ความรู้สึกนี้ จะรู้สึกชัดเจนเลยว่า มันเป็น “เรา”
แต่พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป
เวลามองดูความรู้สึกอันนี้ จะเห็นเพียงว่า มันเป็นเพียงธรรมชาติรู้
ไม่มีความเห็นสักนิดเดียวว่ามันคือตัวเรา
แต่พระอริยบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้น
ในเวลาเผลอ ก็ยังยึดความรู้สึกอันนี้ว่าเป็น เรา
เรียกว่าบริสุทธิ์เพียงความเห็นเท่านั้น เอาเข้าจริงยังยึดมั่นถือมั่นจิตอยู่

พูดให้มีศัพท์แสงสักหน่อยก็กล่าวได้ว่า ความรู้สึกว่าเป็น “เรา” นั้น
มันคือจิตที่ประกอบด้วยสักกายทิฏฐิ นั่นเอง
ลำพังจิตที่เป็นเพียงผู้รู้อารมณ์ล้วนๆ นั้น มันไม่มีความเป็นเรามาแต่แรกแล้ว
แต่อาศัยความคิด หรือสังขารขันธ์ต่างหาก เข้าไปแทรกปน
จนจิตก็หลงเชื่อตามความคิดไปว่า นี่แหละคือตัวเรา

เพราะยึดว่าจิตเป็นเรานี้เอง
ผู้ปฏิบัติจึงมีความพากเพียรเจริญสติปัฏฐานเพื่อออกจากทุกข์
ถ้าจิตไม่เป็นเรา จิตจะจมทุกข์จนตายไป มันก็เรื่องของจิตสิครับ
แต่เมื่อใดจิตเข้าถึงภาวะที่ปล่อยวางความยึดจิตชั่วขณะ
จิตเองกลับวางขันธ์ 5 ลง แม้ขันธ์จะเป็นทุกข์ จิตก็ไม่เอาด้วย
เพราะกระทั่งจิต ยังไม่ยึดจิตเอง จิตจะไปยึดขันธ์มาทำไมกันอีก
มันจึงเกิดภาวะว่าง อิสระ หมดงานที่จะต้องทำ และมีความบรมสุขจริงๆ

โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)  

เขียนไว้เมื่อ 10 มิ.ย. 2542

 

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Dhammada News : ธรรมะจากคุณแม่จันดี “ธาตุแท้ของความรัก” และข่าวสารอัพเดทของคุณแม่

ธาตุแท้ของความรัก

“หลายคนคิดว่า ความรักคือสิ่งที่ดีที่สุด ควรมอบให้กัน มีให้กันและกัน แต่ทุกคนหารู้ไม่ว่า ความรัก คือ สิ่งที่เลวร้ายที่สุด

พราะความรักทำให้คนแทบจะทุกคน ทำอะไรก็ได้เพื่อคนที่เรารักแม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เลวทราม สกปรกโหดร้ายขนาดไหน

ความสกปรกโหดร้ายมันน้อยไปสำหรับคนที่เรารัก

แต่ถ้าทุกหัวใจจะเปลี่ยนจากรักมาเป็นสงสาร เมตตา ผู้อื่นที่ไม่ใช่คนที่เรารัก ให้ใจของเรากับผู้อยู่ใกล้-ไกล

มองไปกว้างๆ หยิบยื่นความสงสารจากใจให้เขาบ้าง ลองทำดูสักครั้ง แล้วหันกลับมาดู ถามหัวใจของเราเองว่าจริงไหม

ภัยที่ร้ายกาจที่สุดคือ รัก เมื่อไม่มีรัก ความลำเอียงก็ไม่เกิดขึ้น ความเป็นธรรมที่ทุกคนใฝ่หาจะเบ่งบานแทนไฟแห่งภัยร้าย คือ รัก” 

 คุณแม่จันดี โลหิตดี

.

ในตอนนี้คุณแม่จันดี ยังรับการรักษาอยู่ที่ รพ.บำรุงราษฎร์ และได้เลื่อนวันกลับ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เป็นวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2555 นี้ 

ทั้งนี้เพื่อให้คุณแม่ได้รับการพักผ่อนเต็มที่จึงขอแนะนำให้ ผู้ที่มีจิตศรัทธาเข้าเยี่ยมกราบท่าน

ในช่วงเวลา 10.00 น. – 12.45 น. และ 17.00 – 18.45 น.

พร้อมกับขออนุโมทนากับทุกท่านที่มีจิตศรัทธาต่อคุณแม่จันดี

.

.

ผู้ที่มีจิตศรัทธา สามารถทำบุญกับคุณแม่จันดีได้ที่ บช.ออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาอุดรฯ 284-7-40422-1

ชื่อบช. นางจันทน์ดี พิมพ์สี (ชื่อตามบัตรปชช.ของคุณแม่)

.

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณแม่จันดี >>>

.
.

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ความสุขเป็นเพียงภาพลวงตา

mp 3 (for download) : ความสุขเป็นเพียงภาพลวงตา

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : วันเวลาจะค่อยๆให้บทเรียนกับแต่ละคน

แต่ละคนแสวงหาความสุข บางคนมุ่งความสุขมากไม่ยอมดูทุกข์ ปฏิบัติไม่เอา ไม่เอาเรื่องปฏิบัติเลย ก็ต้องให้โลกนี้รวมทั้งให้นรกนะอบรมสั่งสอนให้ จิตเราจะผ่านความทุกข์แต่ละคนจะต้องผ่านความทุกข์ครั้งแล้วครั้งเล่าๆ จนกระทั่งวันนึงมันเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ชีวิตนี้ทุกข์ล้วนๆนะ จะค่อยๆวาง ค่อยๆวางลงไป

เพราะงั้นถ้าจะพูดไปแล้วการเดินทางในสังสารวัฎฎ์นี้ก็คือการอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ความจริงของชีวิตของธรรมชาตินั่นเอง เรียนรู้ไปเรื่อย เที่ยวหาความสุข เที่ยวหนีความทุกข์ไปเรื่อย แต่บทเรียนที่ได้รับก็คือสุขก็ไม่จริงมีแต่ทุกข์ ทุกข์เยอะ สุขน้อย สุขแป๊บเดียวเดี๋ยวทุกข์อีกแล้ว ซำ้ๆๆวันนึงใจ โอ้ มันเข็ดขยาดนะ เข็ด

หลวงปู่เทสก์ท่านเคยเขียนไว้บอกว่า ท่านตายไปท่านคงไม่เกิดอีกแล้วล่ะ นี้ท่านเขียนบันทึกของท่านนะ คนอื่นเอามาเผยแพร่หลังจากท่านมรณะภาพไปแล้ว บอกเราคงไม่ต้องเกิดอีกแล้วล่ะ เพราะว่าเราเห็นแล้วว่ามันมีแต่ทุกข์ล้วนๆเลย

ตราบใดที่เรายังเห็นว่าทุกข์บ้างสุขบ้างนะ เรายังได้รับบทเรียนไม่พอ มีความสุขขึ้นนิดนึงหลงระเริงไป ระเริงแป๊บเดียวนะ เดี๋ยวปัญหาใหม่มาอีกแล้ว ความทุกข์ใหม่เข้ามาจ่อเอาอีกแล้ว แก้ปัญหานี้แก้ทุกข์อันนี้ยังไม่เสร็จเลย อีกตัวนึงมารอคิวอีกแล้ว ช่วงไหนความทุกข์ประดังเข้ามามาก เราก็บอกว่าเราทุกข์ ช่วงไหนมันห่างออกไปนิดนึง เราก็บอกช่วงนี้สุข สุขนิดเดียวเพื่อรอจะทุกข์อีกแล้ว

ความสุขของมนุษย์ไม่มีหรอก ความสุขเป็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าตลอดเราวิ่งไม่ทัน ตอนเด็กๆเคยรู้สึกมั้ย ถ้าเรียนหนังสือจบแล้วจะสุข ถ้าอย่างนี้แล้วจะสุข ถ้าอย่างนี้แล้วจะสุข มันถ้าอย่างนี้ตลอดชีวิตเลย ตอนเด็กๆก็ถ้าเรียนหนังสือจบแล้วจะมีความสุข เอ้าจบปริญญาตรีแล้วได้ดอกเตอร์จะมีความสุขอีก จบมาแล้ว เอ้า ได้งานดีๆทำถ้าได้งานดีๆทำจะมีความสุขนะ ได้งานดีแล้วถ้ารวยๆด้วยจะมีความสุข ถ้าตำแหน่งใหญ่ๆจะสุขอีก มีแต่ถ้า…จะสุข ถ้าอย่างนี้แล้วจะสุขนะ ถ้ามีแฟนสวยๆหล่อๆรวยๆเก่งๆนิสัยดีๆแล้วจะสุข มีแต่ถ้าอย่างนี้แล้วจะสุข มีแฟนแล้ว เอ้า ถ้ามีลูกไบรท์ๆจะมีความสุขอีก มีแต่ถ้าอีกแล้ว วิ่งตามความสุขทั้งชีวิตเลย วิ่งไม่ทัน

มันน่าสงสารนะ คนในโลกนะมันถูกหลอก มารเอาความสุขมาหลอกให้เราวิ่งพล่านๆๆไปตกเป็นขี่ข้ามันจิกหัวเราตลอดเวลาเลย เห็นแล้วน่าอนาถ เห็นแล้วสังเวชนะ จนวันนึงแก่แล้ว แก่แล้วมันเนี่ยจะปวดจะเมื่อยนะ อยู่เฉยๆมันก็ปวดก็เมื่อยโดยตัวของมันนั่นแหล่ะ เนี่ยนึกเลยว่าวันไหนมันไม่เจ็บไม่ปวดไม่เมื่อยนะ มันคงมีความสุขนะ พอเจ็บหนักๆนะ เจ็บหนักๆเนี่ย โอ้ รักษาไม่ไหวแล้วทรมานมากเลย รู้สึกอีกถ้าตายซะได้จะมีความสุข เนี่ย ไปโน่นแล้วข้ามไปอีกชาตินึงแล้ว

เห็นมั้ยไล่หาความสุขตั้งแต่เล็กๆลงมาเลย ถ้าได้อย่างนี้จะสุข ได้อย่างนี้จะสุข จนสุดท้ายเนี่ยถ้าตายซะได้คงจะมีความสุข นั้นความสุขเนี่ยเป็นของที่หลอกๆเหมือนภาพลวงตา พวกมิราจ หลอกตาอยู่ไกลๆ วิ่งไปเรื่อยนะ หาไปเรื่อย ตะครุบไป เดี๋ยวหนีออกไปอีกแล้ว

เนี่ยการที่เราเข้ามารู้ใจของเรานะ เรียนรู้กายรู้ใจเนี่ย เราจะเห็นความจริงของชีวิตเรานี้ ชีวิตเราๆอยากได้่มีความสุข อยากให้จิตใจมีความสุข หาทางตอบสนองตลอดเวลาเลย แล้วก็ไม่อิ่มไม่เต็ม จะขาดตลอดจะพร่องตลอดเลย พระพุทธเจ้าถึงสอน นัตถิ ตัณหา สมานที ห้วงน้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี อยากยังไงก็ไม่สมอยากหรอก อยากไปเรื่อยแล้วก็ดิ้นไป อยากแล้วก็ดิ้นไป ทุกข์ตั้งแต่เกิดยันตาย เที่ยวหาความสุขเที่ยววิ่งหนีความทุกข์


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๙ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๔๘ หลังฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๙
Track: ๘
File: 480709B.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๒๐ ถึง นาทีที่ ๑๓ วินาทีที่ ๕๓

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันเดียวกันด้วยความบริสุทธิ์

mp 3 (for download) : พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันเดียวกันด้วยความบริสุทธิ์

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันเดียวกันด้วยความบริสุทธิ์

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันเดียวกันด้วยความบริสุทธิ์

หลวงพ่อปราโมทย์ : จิตเป็นหนึ่งนะ จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน อันนั้นเกิดในสภาวะที่สิ้นตัณหาแล้ว แจ้งพระนิพพาน

จิตจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ ธรรมะก็เป็นความบริสุทธิ์ จิตก็เป็นความบริสุทธิ์ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็คือความบริสุทธิ์ เป็นความบริสุทธิ์อันเดียวกันแล้วเสมอกัน

ระหว่างสาวกกับพระพุทธเจ้านะมีสิ่งเดียวที่เสมอกันนะคือความบริสุทธิ์ ส่วนปัญญานะไม่เท่าท่าน กรุณาไม่เท่าท่าน แต่ว่าความบริสุทธิ์นั้นเป็นอันเดียวกัน เพราะงั้นจะกลืนเป็นอันเดียวกันนะ ไม่แบ่งแยกหรอก จะรู้สึกเป็นอันเดียว

ตรงที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กับจิตรวมเป็นอันเดียวกันนะ จะแจ้งพระนิพพานอยู่นะ จิตกับพระนิพพาน จิตจะสลายตัวลง ไม่มีขอบไม่มีเขต ไม่มีจุดไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง สลายตัวรวมเข้ากับพระนิพพานเข้ากับความว่างของจักรวาล เป็นหนึ่ง เรียกว่านิพพาน

เพราะงั้นไอ้ที่ว่าน้อมใจให้ว่างโดยที่มีจิตเป็นคู่ ไม่ใช่หรอกนะ หลงทางแล้ว จะแจ้งพระนิพพานได้ต้องรู้รูปนามตามความเป็นจริง จนกระทั่งละความยึดถือในรูปนามได้ ก็จะละความอยากในรูปนาม หมดความอยากได้ก็จะแจ้งพระนิพพาน แจ้งพระนิพพานนะ จิตกับพระนิพพาน จิตจะรวมเข้ากับพระนิพพานเป็นหนึ่ง รวมเข้ากับความว่าง ไม่ยึดถืออะไร ว่างอยู่อย่างนั้นแหล่ะตัวนั้นแหล่ะ

ภาวนาตัวนี้บางทีท่านเรียกว่าธรรมธาตุ ครูบาอาจารย์บางองค์นะ ท่านเรียกสภาวะที่จิตที่สัมผัสพระนิพพานเนี่ยว่าธรรมธาตุ อาจารย์มหาบัวเรียกธรรมธาตุ หลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตหนึ่ง สมเด็จพระญาณสังวรฯท่านไม่ธรรมดานะ ถ้าฟังธรรมะเป็นจะรู้ว่าท่านสุดยอดเลย ท่านเรียกสภาวะอันนี้ว่าวิญญาณธาตุ อาจารย์พุทธทาสท่านเรียกสภาวะนี้ว่าจิตเดิมแท้ หลวงปู่เทสก์ท่านเรียกสภาวะนี้ว่าใจ หลวงปู่บุุดดาท่านเรียกว่าจิตเดียวหรือใจเดียวจำไม่ได้แล้ว แต่ละองค์ๆเนี่ยท่านพูดถึงสภาวะอันเดียวกัน แต่โดยสมมติบัญญัติที่แตกต่างกัน

แต่ถ้าเราไม่ได้ภาวนาเราไม่เข้าใจเรา(จะ)รู้สึกแต่ละองค์พูดไม่เหมือนกัน ไปติดอยู่ที่คำพูด

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ หลังฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๒
Track: ๑๘
File: 541118B.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๒ วินาทีที่ ๓๖ ถึง นาทีที่ ๑๕ วินาทีที่ ๑๖

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

โอวาทครูบาอาจารย์ : หลวงตา มหาบัว เทศน์เตือนชาวพุทธอย่าดูหมิ่นในหลวง

หลวงตา มหา บัวเทศน์เตือนชาวพุทธอย่าดูหมิ่นในหลวง



เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคำสอนของคุณแม่จันดี อริยะอุบาสิกา น้องสาวของหลวงตามหาบัว

คุณแม่จันดี โลหิตดี วัดป่าบ้านตาด

เกร็ดธรรมคำสอนของคุณแม่จันดี อริยะอุบาสิกา น้องสาวของหลวงตามหาบัว

ความเมตตาและให้อภัยเป็นจิตที่ยิ่งใหญ่

ศีล คือ เจตนางดเว้นการทำชั่วทางกาย
ทางวาจา ทางใจ

รู้ที่เกิดจากจิต คือ รู้จริง
รู้ที่เกิดจากสมอง คือ รู้หลอก
พุทโธ คือ ยาชลอความหลง
ธรรม คือ ธรรมชาติ ธรรมไม่มีที่หมาย
กาย คือ ลายแทง จิต เป็นขุมทรัพย์

คำว่าใช่ หรือ ไม่ใช่
คือ การตั้งค่าของสมมุติ
อยาก และไม่อยาก
คือ ตัวขับเคลื่อน
ของความหลง

อยาก และ ไม่อยาก เรียกว่าตัณหา
สมมุติบัญญัติ คือ การตั้งค่า
สมมุติบัญญัติ เรียนไม่จบสิ้น
เพราะมีการตั้งค่า เช่น ตัณหา

น้อมใจไปที่กาย
ดูกาย ดูจิต คือ ที่เดียวกัน
เพราะผู้ดู คือ ผู้รู้ ผู้เดียวกัน
ผู้ฉลาดเรียนรู้จากกาย-จิต
ผู้อยากรู้ผิด เรียนภายนอก
ธรรม คือ ประโยชน์
อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ธรรม

สมมุติบัญญัติตั้งค่า
๑ ๒ เรียก หนึ่ง-สอง หรือ สิบสอง
ค่าถูกเปลี่ยนไปทันที ตามการตั้งค่า
หรือ ๒ ๑ เรียก สอง-หนึ่ง หรือ ยี่สิบเอ็ด
ค่าถูกเปลี่ยนไปตามสมมุติบัญญัติ การตั้งค่า
หรือ ๐ ศูนย์ ถูกตั้งค่าว่า ไม่มีค่า
แต่เมื่อ ๐ ศูนย์ มาอยู่ หรือ ถูกวางตามตำแหน่งอื่น
ค่าของ ๐ ศูนย์ ก็เปลี่ยนไปทันที
ตามการตั้งค่า หรือสมมุติบัญญัตินั้น ๆ ทันที
ของทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนตกอยู่ภายใต้
กฎของสมมุติที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดและตั้งค่าทั้งสิ้น
นอกจากกฎธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถ
กำหนดและเปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการ
เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ
ความตาย ความเป็นจริง
ที่อยู่เหนืออำนาจการกำหนดและบังคับของมนุษย์

อยาก ไม่อยาก หมาย ไม่หมาย คือ การตั้งค่า
จิตที่ไม่หมาย และ ไม่อยาก
จึงเป็นจิตที่เป็นปกติสุข
เกาะกระแสจิตไปกับพุทโธ

เกศา-เล็บ คุณแม่จันดี โลหิตดี แปรสภาพเป็นพระธาตุ

ความอดกลั้น
เป็นธรรมเครื่องแผดเผากิเลสอย่างยิ่ง
ความอืดอาด เชื่องช้า เหนื่อยหน่าย
ไม่เคยมีใครได้ดี

นักปฏิบัติ
หลงติดอยู่ที่ความพอใจ และไม่พอใจ เป็นเครื่องอยู่
เอาความพอใจ และไม่พอใจเป็นเครื่องอยู่
เมื่อพอใจ ได้สมใจก็เป็นสุข
เมื่อไม่พอใจก็เกิดทุกข์
แต่ทั้งสุขและทุกข์ ก็ยังเป็นเงื่อนของสมมุติ
ไม่มีใครคิดที่จะอยู่ตรงกลาง ระหว่างสุขกับทุกข์
เพราะตรงนั้นไม่มีทั้งความพอใจ และไม่พอใจ
แต่เป็นความพอ พอดี
ผู้ที่หลงเพลิน เล่นอยู่กับความพอใจ และไม่พอใจ
จึงได้หนังสือเดินทางแห่งการท่องเที่ยวของภพชาติ
ติดตัวไปตลอด
ความพอใจ และไม่พอใจ
เป็นอาหารชั้นยอดเยี่ยมของกิเลส

อยาก เมื่อไม่ได้อย่างที่อยาก ก็เป็นทุกข์
ไม่อยากได้ แต่ได้ ก็เป็นทุกข์
ใครจะว่าอะไร ไม่ต้องไปสนใจ
ใครเขาอยากได้อะไร เขาทำอะไร เขาก็ได้สิ่งนั้น
ใครอยากได้อะไร ก็ทำเอา ใครทำอะไร ก็ได้สิ่งนั้น
ไม่ต้องไปสนใจ ฝ่าโลกธรรม ๘ ออกไปให้ได้
เรื่องของโลกธรรม ๘ เรื่องมงคลตื่นข่าว
แตกซ่านกันไปไม่รู้จักจบ ฝ่าให้ได้ ทิ้งให้เร็วที่สุด

ผู้ที่ทิ้ง ท่านจึงเบา
ผู้ไม่เอา ท่านจึงสบาย

กลิ่นผู้ที่มีศีล มีธรรม
จะหอมฟุ้งกระจาย ไปทั่ว ๓ โลกธาตุ

ตายก่อนห่อนรู้ธรรม
ธรรมอยู่ฟากตาย
สละตายจึงได้ธรรม

ใจเฮ้ย ใจใคร กายเฮ้ย กายใคร
ผู้ใด กล่าวตู่ ผู้นั้น ยังหลง
หลงแผ่นดิน แผ่นฟ้า ยังไม่น่าห่วง เท่าหลงกายา
ตะวัน บ่ายคล้อย คอยกาย สลาย
จิตไม่มี ที่หมาย ตายจม กองทุกข์

เฮ้ย เฮ้ย เหวย เหวย คนอยากลาโลก
ความทุกข์ ความโศก เอาออกไม่ได้
จวบจนวันตาย ที่ไม่หมายต้องเจอ


ผู้ที่ภาวนาได้ยาก
เพราะมองออกแต่ข้างนอก
ไม่ดูใจตัวเอง จิตจึงไม่สงบ

คุณแม่จันดี โลหิตดี วัดป่าบ้านตาด

**********************************************************

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Page 7 of 10« First...56789...Last »