Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : พระอริยบุคคล

พระอริยบุคคล

เราเคยได้ยินว่าพระอริยบุคคลมี 8 ประเภท

คือพระโสดาปัตติมรรคบุคคล พระโสดาปัตติผลบุคคล

พระสกทาคามิมรรคบุคคล พระสกทาคามิผลบุคคล

พระอนาคามิมรรคบุคคล พระอนาคามิผลบุคคล

พระอรหัตตมรรคบุคคล และพระอรหัตตผลบุคคล

 

ประเด็นที่คุณสงสัยก็คือ

ผู้ใดจะเริ่มนับเนื่องเข้าในพระอริยบุคคลขั้นต้น พ้นจากความเป็นปุถุชน

จะเป็นคนที่ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาถึงระดับใดกันแน่

 

ขอเรียนว่า ผู้ที่กำลังพากเพียรปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นพระโสดาบันนั้น

ยังเป็นปุถุชน ไม่จัดว่าเป็นพระโสดาปัตติมรรคบุคคล

พระอริยมรรคบุคคลทั้ง 4 ประเภทเกิดขึ้นในช่วงขณะจิตที่เกิดอริยมรรคเท่านั้น

แล้วถัดจากนั้นเพียงวับเดียว ก็เกิดผลจิตสืบต่อทันที

สำเร็จเป็นพระอริยผลบุคคล โดยไม่มีอะไรมาคั่นกลาง

แต่ที่จำแนกประเภทพระอริยมรรคบุคคลเอาไว้

ก็เพราะไม่ใช่ทั้งปุถุชน และไม่ใช่ทั้งพระอริยผลบุคคล

จึงจัดเป็นพระอริยบุคคลอีกจำพวกหนึ่ง

 

ผู้ที่บรรลุพระโสดาบันนั้น จิตเพียงแต่ละความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิได้

ประหารสังโยชน์เบื้องต้น 3 ประการซึ่งล้วนเป็นเรื่องของทิฏฐิได้

และละโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดได้ 4 ตัวเท่านั้น

พระโสดาบัน จึงมีความรัก โลภ โกรธ หลง ไม่ต่างกับปุถุชนมากนัก

 

ส่วนพระสกิทาคามีนั้น ราคะ โทสะ โมหะเบาบางลง

ความใคร่จะเบาบางลง เรียกว่าบางเฉียบทีเดียว

แต่ความรัก ความผูกพันต่อคู่ของตนยังคงอยู่

เพราะมีวาสนาบารมีที่เกื้อกูลกันมาก่อน

ส่วนถ้ายังไม่แต่งงาน แล้วจะมีแฟนหรือแต่งงานได้ไหม

ขอเรียนว่าได้ แต่คงต้องมีแรงจูงใจทางบวกเป็นพิเศษด้วย

ไม่ใช่แรงจูงใจด้วยกามซึ่งไม่มีกำลังพอเสียแล้ว

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 15 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ยอมได้ก็ไร้ทุกข์

 ยอมได้ก็ไร้ทุกข์

ความทุกข์เกิด ก็เพราะจิตมันดิ้นรน ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงที่มันเผชิญ

เช่น มันกลุ้มใจก็อยากหายกลุ้ม

เมื่อปฏิบัติด้วยความอยากหายกลุ้ม มันก็ยิ่งทุกข์ เพราะเราขาดปัญญา

จิตต้องดิ้นรนหนีทุกข์มากๆ จนหมดปัญญาดิ้นรนเสียก่อน

จิตใจจึงจะยอมรับสภาพความจริง

 

การปฏิบัตินั้น เราให้จิตได้เรียนรู้กายรู้จิต

ก็เพื่อให้มันเกิดปัญญายอมรับความจริงของชีวิต

และเลิกดิ้นรนไปด้วยความอยาก

เช่นยอมรับว่าคนเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

พอยอมรับแล้ว จิตก็เลิกอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

พอเลิกอยากก็เลิกยึด เลิกยึดก็ปล่อยวาง

พอปล่อยวางแล้ว ความทุกข์ก็หลุดร่วงออกไปจากจิต

จิตก็พ้นจากทุกข์เพราะความแก่ความเจ็บความตาย

ธรรมะตื้นๆ เท่านี้แหละ

กว่าจะฝึกจนจิตยอมรับความจริงได้ ไม่ใช่ง่ายๆ เลย

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (จบ)

แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (จบ)

๕. การป้องกันความผิดพลาดในการภาวนา

การปฏิบัตินั้น ถ้าจะป้องกันความผิดพลาด

ก็ควรจับหลักให้แม่นๆ ว่า

“เราปฏิบัติเพื่อรู้ทันกิเลสตัณหา ที่คอยแต่จะครอบงำจิตใจ

ปฏิบัติไปจนจิตฉลาด พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา”

ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อสิ่งอื่น

หากปฏิบัติโดยแฝงสิ่งอื่นเข้าไป

เช่นความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากเด่น อยากดัง อยากหลุดพ้น

โอกาสพลาดก็มีสูง เพราะจิตมักจะสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา

แทนที่จะรู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง

 

แล้วก็ควรสังเกตจิตใจตนเองไว้บ้าง

หากรู้สึกว่า จิตใจเกิดความหนักที่แตกต่างหรือแปลกแยกจากธรรมชาติแวดล้อม

ก็แสดงว่าจิตไปหลงยึดอะไรเข้าให้แล้ว

เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งภายในภายนอกนั้น มันไม่มีน้ำหนักอะไรเลย

ที่มีน้ำหนักขึ้นมา ก็เพราะเราไปแบกไปถือไว้เท่านั้นเอง

ลองสังเกตดูตอนนี้ก็ได้ครับ

ลองทำใจให้สบายๆ สังเกตไปยังสิ่งแวดล้อมภายนอก

เช่นอาคารบ้านเรือน โต๊ะเก้าอี้ ต้นหมากรากไม้

จะเห็นว่า สิ่งภายนอกนั้นโปร่ง เบา ไม่มีน้ำหนัก

เพราะเราไม่ได้เข้าไปแบกหามเอาไว้

ส่วนจิตใจของเรานั้น มองย้อนเข้ามาจะเห็นว่ามันหนักมากบ้างน้อยบ้าง

ถ้ายึดมากก็หนักมาก ยึดน้อยก็หนักน้อย

มันยังแปลกแยกออกจากธรรมชาติ ธรรมดา

สิ่งที่แปลกแยกนั่นแหละครับ

คือส่วนเกินที่เราหลงสร้างขึ้นมาโดยรู้ไม่เท่าทันมายาของกิเลส

 

เมื่อรู้แล้ว ก็สังเกตจิตตนเองต่อไปว่า

มันยินดียินร้ายต่อสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามานั้นหรือไม่

แล้วก็รู้เรื่อยไป จนจิตเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง

ธรรมชาติภายใน กับธรรมชาติภายนอกก็จะเสมอกัน

คือไม่มีน้ำหนักให้ต้องแบกหามต่อไป

 

พระศาสดาทรงสอนว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนัก

บุคคลแบกของหนักพาไป เขาย่อมไม่พบความสุขเลย

 

คำสอนของพระองค์นั้น คำไหนก็เป็นคำนั้น

ขันธ์เป็นของหนักจริงๆ สำหรับคนที่มีตาที่จะดูออกได้

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๔)

แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๔)

๔. ปัญหาและความผิดพลาดในการภาวนา

จากแนวทางอันเดียวกันข้างต้น

เมื่อแต่ละคนลงมือปฏิบัติธรรมจริงๆ

กลับปรากฏปัญหาปลีกย่อยแตกต่างกันเป็นจำนวนมาก

ปัญหาหลักก็มาจาก การเจริญสติสัมปชัญญะ ไม่ถูกต้อง

 

พวกเราจำนวนมากในขณะนี้ ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งเกิดความคลาดเคลื่อน

ยิ่งขยัน ยิ่งพลาดไปไกล

จุดที่พากันพลาดมากในช่วงนี้ก็คือ

แทนที่จะ รู้ ตามความเป็นจริง

พวกเรากลับไป สร้าง อารมณ์อันหนึ่งขึ้นมา

แล้วพากันเข้าไปติดอยู่ในอารมณ์อันนั้น

 

ความผิดพลาดนั้นเกิดจากบางคนรู้สึกว่าตนฟุ้งซ่านมากไป

จึงเห็นว่าจำเป็นต้องฝึกสมถกรรมฐานเสียก่อน

แล้วการฝึกสมถกรรมฐานนั้น ก็กระทำอย่างผิดพลาด

คือแทนที่จะกระทำสัมมาสมาธิ

กลับไปทำมิจฉาสมาธิอันไม่ประกอบด้วยความรู้ตัว

โดยการเพ่งเข้าไปที่อารมณ์อันเดียว

กล่อมจิตให้เคลื่อน เคลิ้ม เข้าไปเกาะอารมณ์อันเดียว

แทนที่จะมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวไปอย่างสบายๆ

โดยมีความรู้ตัวไม่เผลอ ไม่เพ่ง

จิตแค่ระลึกรู้อารมณ์อันเดียวอย่างสบายๆ เป็นธรรมเอก

 

เมื่อทำมิจฉาสมาธิ จิตเคลื่อน ไปเกาะอารมณ์ที่สร้างขึ้นมา

พอหยุดการทำสมาธิ หันมาดูจิต หรือเจริญสติปัฏฐาน

ก็เอาจิตที่เกาะติดอารมณ์นั้นเอง มาใช้ดูจิต

ซึ่งจิตชนิดนี้ ใช้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้จริง

เพราะกระทั่งจิตติดอารมณ์อยู่ก็มองไม่เห็นความจริงเสียแล้ว

 

สาเหตุของความผิดพลาดที่เป็นกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ

แทนที่จะรู้อารมณ์ไปตามธรรมดา ง่ายๆ สบายๆ

พวกเราจำนวนมากกลัวจะเผลอ กลัวจะหลงมากเกินไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่พบกับผม หรือใกล้จะพบกับผม

จิตจะเกิดการตื่นตัวขึ้น เกิดอาการเกร็ง ระวังตัวแจ

ไม่ผิดอะไรกับนักวิ่ง เวลาเข้าเส้นสตาร์ท

 

สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ การปฏิบัติธรรมด้วยความอยาก

เช่นอยากรู้ธรรมเห็นธรรมเร็วๆ

อยากเป็นคนเก่ง เป็นดาวเด่น อยากได้รับการยอมรับและคำชมเชยจากหมู่เพื่อน

พออยากมาก ก็ต้อง “เร่งความเพียร”

แต่แทนที่จะเจริญสติสัมปชัญญะอย่างเป็นธรรมชาติให้ต่อเนื่องตลอดเวลา

อันเป็นความหมายที่ถูกต้องของการเร่งความเพียร

กลับกลายเป็นการปฏิบัติด้วยความหักหาญ เคร่งเครียด

ดูผิวนอกเหมือนจะดี แต่จิตภายในไม่มีความสงบสุขใดๆ เลย

 

สาเหตุที่นึกได้ในตอนนี้ทั้ง 3 ประการนี้แหละ

ทำให้พวกเราจำนวนมาก หลงไปยึดอารมณ์อันหนึ่งไว้

แล้วคิดว่า สามารถรู้จิตรู้ใจได้อย่างแจ่มชัด

ตอนนี้บางคนพอจะแก้ไขได้บ้างแล้ว

เมื่อเริ่มรู้ทัน การที่จิตไปสร้าง ภพของนักปฏิบัติขึ้นมา

แทนที่จะ รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง

มีเรื่องขำๆ เรื่องหนึ่งคือน้องคนหนึ่งจิตติดอารมณ์ภายในอยู่

ผมก็แนะนำว่า ให้ดูให้รู้ว่ากำลังติดอยู่

ถ้ารู้แล้วจะได้กลับออกมาอยู่ข้างนอก

และแทนที่จะเพ่งเข้าไปข้างใน

ให้พยายามรู้ตัวออกไปยังภายนอก ออกไปสัมผัสสิ่งแวดล้อมให้ดี

จิตที่ติดอยู่ข้างในจะได้หลุดออกมา

น้องคนนั้นฟังแล้วกลุ้มใจมาก เพราะคิดว่าผมสอนให้ส่งจิตออกนอก

ยังดีว่าสงสัยแล้วถามผมเสียก่อน

ไม่นำไปเล่าถวายครูบาอาจารย์ ว่าผมสอนให้ส่งจิตออกนอก

มิฉะนั้น ถ้าท่านพบผม ท่านคงทุบผมตกกุฏิเลย

 

ความจริงการที่หลงสร้างอารมณ์ออกมาอันหนึ่ง

แล้วตนเองเข้าไปติดอยู่ภายในนั้น

ก็เป็นการส่งจิตออกนอกแล้ว คือออกไปนอกจาก รู้

ผมพยายามแก้การส่งจิตออกไปสร้างภพโดยไม่รู้ตัวให้

ไม่ได้ปรารถนาจะให้หัด ส่งจิตออกนอก แต่อย่างใด

 

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราส่วนน้อยเป็นกัน

ได้แก่การหลงตามอาการของจิต

เช่นหลงในนิมิต แสง สี เสียง ต่างๆ

หรือหลงในการกระตุกของร่างกาย ฯลฯ

พอเกิดอาการขึ้น บางคนก็ยินดี บางคนก็ยินร้าย

ต้องคอยปลอบคอยแนะให้หันมาสังเกตรู้ความยินดียินร้ายของจิต

จนจิตเข้าถึงความเป็นกลางเอง

แทนการไปเพ่งใส่อาการต่างๆ เหล่านั้น

และมีราคะ โทสะ หรือโมหะ ครอบงำโดยไม่รู้ตัว

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๓)

แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๓)

๓. การเจริญสติปัฏฐาน

 เมื่อพวกเรามีเครื่องมือ หรืออาวุธในการปฏิบัติธรรมแล้ว

ขั้นตอนต่อไปผมจะแนะนำให้พวกเราเจริญสติปัฏฐาน

คือมีสติสัมปชัญญะระลึกรู้ กาย  เวทนา จิต และ/หรือ ธรรม

ตามความถนัดของแต่ละบุคคล

 

เช่นให้รู้อิริยาบถ รู้ความเคลื่อนไหวระหว่างการเดินจงกรม รู้ลมหายใจเข้าออก

เบื้องต้นถ้าจิตยังไม่มีกำลัง ก็ให้รู้ไปอย่างสมถะ

คือเอาสติจดจ่อสบายๆ ลงในกายที่ถูกรู้นั้น

เมื่อจิตมีกำลังขึ้นแล้ว ก็ให้เห็นว่า อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวกาย หรือลมหายใจนั้น

เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ถูกเห็น ไม่ใช่จิต

มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตานั้นเอง

 

เมื่อทำได้อย่างนั้นแล้ว จิตจะมีกำลังสติสัมปชัญญะมากขึ้นอีก

หากนามธรรมใดปรากฏกับจิต ก็สามารถจะรู้เท่าทันได้

เช่นเกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ เกิดกุศล อกุศล ต่างๆ

ก็ให้รู้ทันนามธรรมนั้น ในลักษณะสิ่งที่ถูกรู้ เช่นเดียวกับการรู้รูปนั่นเอง

 

อนึ่ง คนไหนมีกำลังรู้นามธรรมได้เลย ผมมักแนะให้รู้นามธรรมไปเลย

หรือผู้ไม่ถนัดจะระลึกรู้นามธรรม

สมัครใจจะรู้รูปธรรมอย่างเดียว ก็ได้

 

เมื่อจิตรู้ รูปธรรม หรือนามธรรมอย่างต่อเนื่องแล้ว

พอมีกำลังสติปัญญามากขึ้น ก็จะเห็นว่า

เมื่อจิตไปรู้รูปธรรมหรือนามธรรมต่างๆ แล้ว

จิตจะมีความยินดี ยินร้าย หรือเป็นกลางขึ้นมา

ผมมักแนะนำหมู่เพื่อน ให้ระลึกรู้ความยินดี ยินร้าย หรือความเป็นกลางนั้น

เมื่อจิตรู้ความเป็นยินดี ยินร้ายแล้ว ก็จะเห็นความยินดี ยินร้ายนั้น

เกิดดับเช่นเดียวกับรูปธรรมและนามธรรมทั้งปวงนั้นเอง

แล้วจิตปล่อยวางความยินดียินร้าย เข้าไปสู่ความเป็นกลางของจิต

 

ตอนแรกความเป็นกลางๆ จะมีสั้นๆ แล้วก็มีความยินดี ยินร้ายเกิดขึ้นอีก

ต่อมาชำนิชำนาญขึ้น จิตจะเป็นกลางมากขึ้นตามลำดับ

ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้อยู่ที่ความเป็นกลางของจิต

เมื่อจิตมีกำลังขึ้น ก็จะสามารถจำแนกขันธ์ละเอียดต่อไปจนเข้าถึง ใจ ได้

 

ในขั้นที่จิตเฝ้าระลึกรู้ความเป็นกลางนั้น

ปัญญาชนจะเกิดโรคประจำตัว  2 ประการเป็นส่วนมาก

คือ (1) เกิดความเบื่อหน่าย แล้วเลิกปฏิบัติ

หรือ (2) เกิดความลังเลสงสัย ว่าจะต้องทำอะไรต่อไปอีกหรือไม่

แล้วเลิกปฏิบัติโดยการ รู้

หันมาคิดค้นคว้าหาคำตอบด้วยการคิดเอา

 

แท้จริงเมื่อจิตเข้าไปรู้อยู่ที่ความเป็นกลางแล้ว ก็ให้รู้อยู่อย่างนั้น

แล้วจิตเขาจะพัฒนาของเขาไปเองเมื่อกำลังของ สติ สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์เต็มที่

 

นี้เป็นข้อสรุปแนวทางการปฏิบัติธรรมโดยสังเขป

ที่ขอฝากไว้ให้กับหมู่เพื่อนเพื่อประกอบการพิจารณาปฏิบัติต่อไป

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๒)

แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๒)

๒. เครื่องมือในการปฏิบัติธรรม

ผู้ที่เข้าใจแล้วว่าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์

ก็จะได้รับการแนะนำให้รู้จักเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติธรรม

ได้แก่ สติ และ สัมปชัญะ

ผมมักจะพยายามแนะนำให้พวกเรา รู้ทัน สิ่งที่กำลังปรากฏกับจิต

เช่นความลังเลสงสัย ความอยาก ความกังวล ความสุข ความทุกข์ ฯลฯ

เป็นการหัดให้มี สติ ซึ่งเป็นเครื่องมือรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ

 

และเฝ้ากระตุ้นเตือนพวกเราให้ทำความรู้ตัว ไม่เผลอ

ไม่ว่าจะเผลอส่งจิตไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ

ส่วนมากก็จะเผลอกันทางตา กับ ทางใจคือหลงเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด

กับเผลอไปเพ่งจ้องอารมณ์ เอาสติจ่อแน่นเข้าไปที่อารมณ์ที่กำลังปรากฏ

การกระตุ้นความไม่เผลอ และไม่เผลอเพ่ง

ก็คือการพยายามให้พวกเรามี สัมปชัญญะคือความรู้ตัวไว้เสมอๆ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๑)

แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๑)

๑. การสร้างความเข้าใจขอบเขตของพระพุทธศาสนา

 เพื่อนที่มีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาน้อย

จะได้รับการปูพื้นความเข้าใจเสียก่อนว่า

พระพุทธศาสนาไม่ใช่ยาแก้สารพัดโรคครอบจักรวาล

ไม่ใช่เครื่องมืออย่างเดียว ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม

ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นนักเรียน ก็เลิกเรียน เพื่อมาศึกษาพระพุทธศาสนา

เพราะความรู้ทางโลก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในทางโลก

ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา จำเป็นต้องรอบรู้ในศาสตร์สาขาอื่นๆ ด้วย

 

และอย่าเข้าใจว่า พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องอื่น

นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องความทุกข์

และการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์(ทางใจ) เท่านั้น

พระพุทธศาสนา ไม่ได้มีไว้เพื่อตอบปัญหา

เกี่ยวกับไสยศาสตร์ โชคลาง เจ้ากรรมนายเวร

ชาติโน้นชาติหน้า ผีสางเทวดา ฯลฯ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จุดที่ยากลำบากของการปฏิบัติธรรม (๒)

จุดที่ยากลำบากของการปฏิบัติธรรม (๒)

เครื่องมือเดียวที่จะช่วยให้ จิตตื่น อย่างต่อเนื่อง

คือการเจริญสติปัฏฐาน

 

ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือสิ่งบางสิ่ง

เป็น เครื่องรู้ เครื่องอยู่ของจิต หรือเป็นวิหารธรรม

เพื่อกระตุ้นความรู้ตัวของจิตให้ต่อเนื่อง

จะใช้อะไรก็ได้ ตามความถนัดของแต่ละบุคคล

เพื่อให้รู้เท่าทันกายใจของตน อย่างเป็นธรรมชาติธรรมดาที่สุด

 

วิหารธรรมของจิต จะเป็นอะไรก็ได้ ในกาย เวทนา จิต ธรรม

เพราะจุดสำคัญของการเจริญสติปัฏฐาน

ไม่ได้อยู่ที่ว่า รู้สิ่งใด

หากแต่อยู่ที่ว่า รู้อย่างไร

หากรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ด้วยจิตที่เป็นกลาง ปราศจากความยินดียินร้าย ก็ใช้ได้ทั้งนั้น

เพราะทำให้มีสติสัมปชัญญะต่อเนื่อง พร้อมทั้งเจริญปัญญาไปด้วย

 

ฝากให้พวกเราสังเกตจิตใจของตนให้ดี

ว่าการทำความรู้ตัวอยู่นั้น มี 2 ลักษณะด้วยกัน

อย่างหนึ่งรู้ตัวแล้ว จิตนิ่งๆ รวมเข้ามา อัดเข้ามา หยุดอยู่ที่รู้

ลักษณะเช่นนี้จะเหมือนมีความรู้ตัวชัดเจน

โดยไม่เห็นความจงใจ หรือความตั้งใจ ที่จะรู้ตัวให้ชัดๆ

เหมือนมี รู้ อยู่ในรู้ อีกชั้นหนึ่ง

ความรู้ตัวชนิดนี้ยังใช้ไม่ได้

เพราะจิตล็อคตัวเองให้หยุดนิ่ง หรือเป็นการเพ่งจิตนั่นเอง

ไม่สามารถเจริญปัญญาได้จริง

 

ไม่เหมือนความรู้ตัวที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดา ไม่ได้จงใจจะรู้ตัว

หากแต่เจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ ไม่คาดหวังผล

เป็นลักษณะ รู้ อยู่ที่รู้ ไม่ใช่การเพ่งจ้องจิตผู้รู้

คือรู้ไปอย่างสบายๆ ถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ

แล้วหากจิตเกิดปฏิกิริยายินดียินร้ายขึ้นมา ก็รู้เท่าทันจิตตนเองไปเรื่อยๆ

ความรู้ตัวชนิดหลังนี้แหละครับ ที่จะเป็นทางแห่งปัญญาได้จริง

 

ใครที่รู้ตัวเป็นแล้ว ขอให้เจริญสติปัฏฐานกันเข้านะครับ

จะรู้การกระทบทางกาย เช่นเท้ากระทบพื้น หลังกระทบพนักเก้าอี้

มือกระทบเม้าส์ นิ้วกระทบคีย์บอร์ด นิ้วกระทบนิ้ว นิ้วกระทบก้อนกรวด

การกระพริบตา เอี้ยวตัว กลืนน้ำลาย

ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ขับถ่าย

การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รส การได้สัมผัส

การไหวกายทั้งกาย การไหวกายบางส่วน

การเฝ้ารู้เวทนาทางกาย การเฝ้ารู้เวทนาทางใจ

การเฝ้ารู้ความเกิดดับของกุศลและอกุศลในจิต

การเฝ้ารู้ทันกลไกการทำงานของจิต ฯลฯ

 

เพียรรู้ให้เป็นปัจจุบัน ด้วยจิตที่สบายๆ เป็นธรรมชาติธรรมดาที่สุด

ลองดูให้ต่อเนื่องสัก 7 วัน ถ้าไม่ได้ผลก็ลองสัก 7 เดือน

ถ้ายังไม่ได้ผลอีก ก็ลองสัก 7 ปี

แล้วค่อยมาดูว่า

จะไม่ได้ผลอะไรดีงาม ขึ้นมาบ้างทีเดียวหรือ

 

7 ปีนั้นสั้นนิดเดียว สั้นกว่าฟ้าแลบเสียอีก

เมื่อเทียบกับเวลาที่เราเป็นเด็กจรจัด หลงทางในสังสารวัฏนี้

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน อังคาร ที่ 23 พฤษภาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จุดที่ยากลำบากของการปฏิบัติธรรม (๑)

จุดที่ยากลำบากของการปฏิบัติธรรม (๑)

การปฏิบัตินั้น เท่าที่ผมสังเกตมา

พบว่ามีจุดที่ยากลำบากอยู่ 2 จุดด้วยกัน

ใครผ่าน 2 จุดนี้ได้ การปฏิบัติก็จะค่อนข้างง่าย

เพราะจิตจะพัฒนาไปได้เอง

แต่ถ้าผ่านไม่ได้

ถึงปฏิบัตินานเพียงใด ก็ยากที่จะได้ผลอันน่าเย็นใจ

 

จุดแรกที่ยากลำบากมากก็คือ

จุดที่จะเปลี่ยนจากผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะ

ให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ หรือรู้จักสติสัมปชัญญะ

จุดนี้ยากมาก เข้าขั้นยากแสนเข็ญทีเดียว

เพราะเท่ากับการปลุก จิตที่หลับไม่รู้ตื่นมาชั่วกัปป์กัลป์

ให้ลืมตาตื่นขึ้นมา

 

นักปฏิบัติเกือบทั้งหมด ในทุกๆ สำนัก

จะปฏิบัติไปด้วยจิตที่หลับฝัน

นั่งก็นั่งฝัน ยืนก็ยืนฝัน เดินก็เดินฝัน

เพราะอำนาจของโมหะครอบงำจิต

ซึ่งไม่ให้อะไรมากไปกว่าความสงบ

หรือปรากฏการณ์ทางจิต ที่เกิดจากความสงบ

 

พระป่า ท่านจะปลุกจิตให้ตื่นด้วยการบริกรรมพุทโธ

หรือกำหนดลมหายใจ หรือการทำสมถกรรมฐานอื่นๆ

จนจิตรวมเป็นหนึ่ง

แล้วจับเอาจิตผู้รู้ ที่พ้นจากการครอบงำของโมหะออกมาได้

ซึ่งการจะสังเกตเอาจิตผู้รู้ออกมาได้นั้น

ไม่ใช่ทุกคนที่ทำสมถะจะทำได้

แต่จะต้องเป็นสมถะที่มีปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องชี้นำเท่านั้น

สมาธิที่มีสัมมาทิฏฐิชี้นำ จึงจะเป็นสัมมาสมาธิ

หรือเป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อความมีสติสัมปชัญญะนั่นเอง

คือจิตจะมีสติรู้อารมณ์

และมีสัมปชัญญะรู้ตัวไม่เผลอตามอารมณ์ไป

ผลก็คือจะสามารถจำแนกอารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้

ออกจากจิตผู้รู้ได้ในที่สุด

อันจะเป็นฐานของการจำแนกรูปนามเพื่อการเจริญวิปัสสนาต่อไป

 

พวกเราชาวเมืองทำสมาธิยาก

ก็ยังมีวิธีที่จะปลุกจิตให้ตื่นด้วยปัญญา

คือใช้ความสังเกตกายใจของตนไปเลย

จนพบว่า กายก็ถูกรู้ เวทนา สัญญา สังขาร ก็ถูกรู้

หรืออย่างที่ผมพยายามไล่จี้พวกเรานั้น

วัตถุประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นให้จิตตื่น

และรู้จักสติสัมปชัญญะนั่นเอง

 

เมื่อมีจิตที่ตื่น รู้ตัว มีสติและสัมปชัญญะแล้ว

ก็จะมาถึงจุดที่ยากลำบากที่สุดอีกจุดหนึ่ง

คือ ทำอย่างไร จิตที่ตื่นเป็นแล้ว

จะตื่นได้ต่อเนื่อง ไม่หลงหลับฝันอีก

 

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน อังคาร ที่ 23 พฤษภาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ความเป็นกลางจอมปลอม

ความเป็นกลางจอมปลอม

มีพรรคพวก ขอให้ผมขยายความข้อความต่อไปนี้สักหน่อย คือ

“เมื่อรู้ความยินดียินร้ายด้วยจิตที่เป็นกลางแล้ว

ความยินดียินร้ายจะดับไป เหมือนกับอารมณ์อื่นๆ นั่นเอง

กระทั่งความเป็น “กลาง” จอมปลอม ก็จะถูกทำลายไป

จิตก็จะเข้าถึงธรรมชาติรู้ที่เป็นกลาง

ก็ให้ผู้ปฏิบัติ รู้อยู่ที่ จิต หรือธรรมชาติรู้ที่เป็นกลางนั่นเอง”

จุดที่สงสัยคือ ความเป็นกลางจอมปลอม เป็นอย่างไร

 

ในเวลาที่ดูจิตนั้น บางคราวจะเห็นความยินดี หรือความยินร้าย

แต่บางคราว ที่อารมณ์ไม่รุนแรงเร้าใจนัก จะเห็นว่าจิตเป็นกลางวางเฉย

หรือไม่ปรากฏกิเลสตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาให้เห็น

ในจุดนั้นผู้ปฏิบัติจำนวนมากจะรู้สึกว่าจิตของตนว่าง และเป็นกลางแล้ว

 

แท้จริงยังไม่ว่าง ยังไม่เป็นกลางจริง และยังไม่พ้นจากตัณหา

มันเพียงแต่มีอารมณ์เฉยๆ แต่เรามองไม่เห็น ไม่ได้เฉลียวใจ จึงคิดว่าไม่มีอะไร

เหมือนอย่างเรามองไปข้างหน้าเรานี้

แม้ไม่มีอะไรเลย ก็ยังมีอากาศอยู่ แต่มองไม่เห็น

 

ผู้ปฏิบัติที่จิตเข้ามาถึงความว่าง และเป็นกลางๆ ชนิดนี้

หากยินดี พอใจ หรือคิดว่าไม่มีอะไรแล้ว

ย่อมไม่สามารถเจริญในธรรมต่อไปได้

แต่หากเฉลียวใจสักนิดหนึ่งว่า

จิตที่ว่างและเป็นกลางนั้น ยังเป็นภพอีกอันหนึ่ง

จึงจะสามารถปล่อยวาง แล้วเข้าถึงความเป็นกลาง คือ ใจ ได้

 

จิตที่ปล่อยวางจริงๆ หรือเป็นกลางจริงๆ นั้น เป็นจิตที่อิสระและเบิกบาน

เหมือนอยู่ในอีกระนาบหนึ่ง และไม่เข้ามายึดเกาะในก้อนขันธ์นี้เลย

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เมื่อดูจิตจนชำนาญ

เมื่อดูจิตจนชำนาญ

เมื่อปฏิบัติชำนิชำนาญเข้าจะพบว่า ความเป็นกลางก็ยังมีหลายแบบ

ความรู้สึกเป็นกลางแบบเฉยๆ ก็มี

ความเป็นกลางของจิตในขณะที่จิตเบิกบานและเป็นตัวของตัวเองก็มี

แบบแรกนั้นจิตถูกอารมณ์ละเอียดห่อหุ้มไว้ แต่ยังมองไม่ออก

ส่วนแบบหลัง จิตพ้นการห่อหุ้มแล้ว

จิตชนิดหลังนี้ บางทีครูบาอาจารย์เรียกว่า จิตหนึ่ง บ้าง จิตเดิมแท้ บ้าง ใจ บ้าง

อันนั้นก็เป็นเพียงคำสมมุติเรียกขาน

 

ถ้าปฏิบัติจนเข้าถึงความเป็นกลางอย่างหลังนี้ ความทุกข์จะก่อตัวขึ้นไม่ได้

เพราะจิตพ้นความปรุงแต่งของสังขารแล้ว

ซึ่งอาจเป็นการพ้นชั่วขณะ หรือพ้นถาวรก็ได้

แล้วแต่คุณธรรมที่เข้าถึง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : อาการของจิต

อาการของจิต

ทุกคราวที่มีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น และกาย

แล้วส่งทอดความรู้สึกเข้าถึงใจ

หรือบางคราว แม้ไม่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย

หากสัญญาผุดขึ้นทางใจ ความคิดนึกปรุงแต่งทางใจก็เกิดขึ้น

ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถรู้ได้ชัดเหมือนตาเห็นรูปทีเดียว

เมื่ออารมณ์เข้าสัมผัสใจแล้ว

จิตจะมีปฏิกิริยาอาการขึ้นมาเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบ

นักดูจิตที่ชำนาญ จะรู้ทันปฏิกิริยา หรืออาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น

 

ปฏิกิริยามีอยู่ 3 รูปแบบเท่านั้น คือเกิดความยินดีต่ออารมณ์นั้น

เกิดความยินร้ายต่ออารมณ์นั้น

หรือเกิดความรู้สึกเป็นกลางวางเฉยต่ออารมณ์นั้น

 

ขอให้ผู้ปฏิบัติ รู้อารมณ์และปฏิกิริยาของจิต ถ้ารู้ได้

แต่ถ้ายังรู้ไม่ได้ ก็ขอให้รู้อารมณ์อย่างเดียวไปก่อน

 

บรรดาความยินดี ยินร้ายนั้น เมื่อจิตไปรู้เข้าแล้ว

จะเห็นมันมีสภาพเป็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกับอารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 นั่นเอง

ถ้ารู้ด้วยความเป็นกลางจริงๆ ไม่ช้ามันก็จะดับไป

จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง

คราวนี้ ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้ความรู้สึกที่เป็นกลางนั้นต่อไป

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : อารมณ์ของจิต(ในการดูจิต)

อารมณ์ของจิต(ในการดูจิต)

คำว่าอารมณ์ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ได้

เช่นเมื่อตามองไปเห็นแมว รูปแมวก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา

เมื่อได้ยินเสียงเพลง เสียงเพลงก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางหู

เมื่อเราคิดนึกปรุงแต่งทั้งดี ชั่ว และเป็นกลาง

ความคิดนึกปรุงแต่งเหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ เป็นต้น

 

นักปฏิบัติในขั้นเบื้องต้นนั้น ให้รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน

ถ้าเป็นผู้ที่จิตใจยังไม่เคยสงบเลย

ก็ให้เอาสติกำหนดรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่ง

หรือทางทวารอันใดอันหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ

รู้อย่างสบายๆ ให้ต่อเนื่องไว้

 

เช่นเดินจงกรม ก็จับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นเรื่อยไป

นั่งกำหนดลมหายใจ ก็จับความรู้สึกที่ลมกระทบจมูก

หรือจุดใดจุดหนึ่งตั้งแต่ปลายจมูก จนถึงท้อง

ขอให้สนใจที่จะจับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้น หรือลมกระทบกายไว้

ไม่ใช่เอาสติจับเข้าไปที่เท้า หรือที่ตัวลมหายใจ

เพราะการจับความรู้สึกนั้น ง่ายที่จะพัฒนาไปสู่การดูจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นต่อไป

เนื่องจากจิต เป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่ใช่รูปธรรม

ส่วนการใช้สติจับเข้าไปในวัตถุเช่นเท้าและลม

ง่ายที่จิตจะน้อมไปสู่ความสงบในแบบสมถกรรมฐาน

โดยเพ่งแช่จมอยู่กับเท้า หรือลมหายใจนั้น

 

บางคนถามว่า ถ้าไม่กำหนดให้รู้การกระทบทางทวารหนึ่งทวารใด

แต่ปล่อยให้สติตามรู้การกระทบในทุกๆ ทวาร

แล้วแต่ว่าขณะใด ความรู้สึกทางทวารใดจะเด่นชัดที่สุด จะได้หรือไม่

ขอเรียนว่า ถ้าทำไหวก็ได้ แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญ ก็เห็นจะทำยากสักหน่อย

เปรียบเหมือนนักมวย เวลาเขาฝึกซ้อม เขาก็ฝึกซ้อมไปทีละอย่างก่อน

เช่นวิ่งออกกำลังกาย กระโดดเชือก แล้วซ้อมเต้น ซ้อมเตะ ซ้อมต่อยไปทีละท่า

พอชำนิชำนาญแล้วจึงซ้อมชกจริงๆ แล้วขึ้นเวทีต่อไป

 

การวิ่งออกกำลังกาย เปรียบเหมือนการทำสมถกรรมฐาน

อันเป็นกำลังพื้นฐานเพื่อใช้งานต่อไป

นักปฏิบัติจึงไม่ควรละเลยเสียทีเดียว ควรจะมีเวลาเข้าหาความสงบจิตใจบ้าง

โดยทำกรรมฐานใดๆ ก็ได้ ที่ทำแล้วสงบง่าย

 

การซ้อมเต้น ซ้อมต่อย ซ้อมเตะ ซ้อมศอก ซ้อมเข่า เหล่านี้

เปรียบเหมือนการฝึกซ้อม รู้ความรู้สึกทางทวารใดทวารหนึ่ง

ที่ง่ายที่สุดก็คือทวารกาย เช่นเท้ากระทบพื้น ลมกระทบจมูก เป็นต้น

 

เมื่อมีความพร้อมพอแล้ว เวลาลงสนามจริง

จะได้ไม่ถูกกิเลสไล่ถลุงเอาเป็นไก่ตาแตก

ไม่ว่าอารมณ์จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ก็สามารถจับความรู้สึกที่ส่งเข้ามากระทบจิตได้ทันท่วงที

 

การฝึกหัดปฏิบัติเข้มเป็นบางเวลา กับการลงสนามปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

จึงมีส่วนเกื้อกูลกันดังที่กล่าวมานี้

แต่ถ้าใครเห็นว่าจิตของตนแข็งแรงพอแล้ว ไม่ต้องการทำสมถะ

และสติสัมปชัญญะว่องไวดีแล้ว ไม่คิดจะเข้าค่ายซ้อม

จู่ๆ จะลองโดดลงสนาม ไปปฏิบัติเอาในชีวิตประจำวันเลย ก็ได้

ถ้าชกชนะกิเลส ก็จะมีกำลังเข้มแข็งขึ้น โดยเริ่มชนะกิเลสระดับปลายแถวก่อน

แล้วค่อยเขยิบขึ้นไปต่อกรกับกิเลสที่ละเอียดแนบเนียนต่อไปตามลำดับ

แต่ส่วนมาก ผู้ที่ละเลยการทำความสงบ และการฟิตซ้อมที่ดี

มีโอกาสจะถูกกิเลสชกเอาเสียมากกว่า

เพราะกิเลสนั้น เป็นมวยระดับแช้มป์โลก

จะเข้าต่อกรด้วยมวยวัด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก

 

เมื่อเราหัดจับความรู้สึก เช่นความรู้สึกตอนที่เท้ากระทบพื้น

หรือลมหายใจกระทบปลายจมูก ไปมากพอแล้ว

ความรู้สึกจะรวมเข้ามาที่กลางอกเองโดยอัตโนมัติ

พอเท้ากระทบพื้น ก็จะเห็นความไหวของอารมณ์ขึ้นที่กลางอก

กระพริบตาวิบเดียว ก็จะเห็นความไหวเข้ามาที่กลางอก

ทำนองเดียวกับเวลาเราตกใจ จะมีความรู้สึกวูบเข้ามาที่กลางอกนั่นเอง

คนไทยโบราณ ท่านเข้าใจธรรมชาติของจิตไม่ใช่น้อยทีเดียว

ท่านจึงมีศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับความรู้สึกในอกอยู่มาก

เช่นอิ่มอกอิ่มใจ ร้อนอกร้อนใจ เสียอกเสียใจ คับอกคับใจ

เสียวแปลบในหัวอก วูบในหัวอก เสียใจจนอกจะแตกตาย

สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ฯลฯ

 

ความรู้สึกที่ผุดขึ้นที่กลางอกนี้ ขอให้มันเกิดขึ้นเอง เพราะการรู้อารมณ์

แล้วจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรู้อารมณ์นั้นได้

จนกระทั่งยกระดับขึ้นมารวมลงในอก

เราไม่ควรใจร้อน เพ่งใส่อก เพราะจะกลายเป็นการเพ่งวัตถุธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นอก

ไม่ใช่จับความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นในอก

 

อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่ามีความไหวอยู่ที่อื่น นอกจากอก ก็ไม่ต้องตกใจ

มันจะไหวอยู่ที่ใด เช่นเวลาโกรธ แล้วไปรู้สึกวูบที่สมอง ก็ไม่เป็นไร

อย่าไปกังวลกับที่ตั้งมากนัก

ปล่อยให้มันเป็นไปเองตามธรรมดา จะดีที่สุดครับ

แล้วเวลาเกิดกิเลส เช่นความสงสัย หรือความโกรธ

คอยเฝ้ารู้มันไว้ มันดับลงตรงไหน ก็รู้อยู่ที่ตรงนั้นเอง

ไม่ต้องเที่ยวไปหาจุดที่ตั้งอื่นใดให้วุ่นวายใจ

 

อนึ่ง บางคนอาจจะสงสัยว่า ความรู้สึกต่างๆ ที่แสดงออกมาในอกนี้

อาจจะเป็นเพียงอาการทางกายเท่านั้น

เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลัก ที่จะต้องอภิปรายถกเถียงกันในที่นี้

เพราะเราเพียงต้องการอาศัยรู้ความรู้สึกที่กำลังปรากฏเท่านั้น

เพื่อที่จะก้าวต่อไปให้ถึงจิต

ทำนองเดียวกับการตกปลา จะใช้เหยื่อจริง หรือเหยื่อปลอมก็ไม่มีปัญหา

ขอให้จับปลา คือจิต ได้ก็แล้วกัน

 

ความรู้สึกต่างๆ ในอกนี้ ก็กลายเป็นอารมณ์ คือเป็นสิ่งที่ถูกรู้เช่นกัน

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ขั้นตอนของการดูจิต

ขั้นตอนของการดูจิต

สิ่งที่เราต้องรู้ ต้องดู ในระหว่างการปฏิบัติธรรม (หรือการภาวนา – ผู้เรียบเรียง)

ประกอบด้วย 1. อารมณ์(ของจิต) 2. อาการ(ของจิต) และ 3. จิต

 

เริ่มต้นด้วยการรู้ อารมณ์ ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

อารมณ์นั้น ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย และธัมมารมณ์หรืออารมณ์ทางใจ

เมื่อรู้อารมณ์แล้ว จะเห็นชัดเจนว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

และเมื่ออารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั้น

จิตจะมี อาการ หรือมีปฏิกิริยาต่อการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของอารมณ์อยู่เสมอ

เป็นความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เป็น “กลาง” บ้าง

เมื่อยินดี จิตก็ทะยานออกไปยึดถือเป็นเจ้าของอารมณ์นั้นๆ

เมื่อยินร้าย จิตก็ทะยานออกไปปฏิเสธอารมณ์นั้นๆ

เมื่อเป็น “กลาง” จิตก็ยังหลงอยู่ในความเป็นเราของจิต

 

ผู้ปฏิบัติต้องรู้ทันอาการของจิตตามความเป็นจริง

ซึ่งอาการเหล่านี้ ล้วนแต่เป็น อารมณ์ทางใจ

ที่เกิดต่อเนื่องจากการรู้อารมณ์ในเบื้องต้นนั่นเอง

 

เมื่อรู้ความยินดียินร้ายด้วยจิตที่เป็นกลางแล้ว

ความยินดียินร้ายจะดับไป เหมือนกับอารมณ์อื่นๆ นั่นเอง

กระทั่งความเป็น “กลาง” จอมปลอม ก็จะถูกทำลายไป

จิตก็จะเข้าถึงธรรมชาติรู้ที่เป็นกลาง

ก็ให้ผู้ปฏิบัติ รู้อยู่ที่ จิต หรือธรรมชาติรู้ที่เป็นกลางนั่นเอง

 

ถัดจากนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวายอีก

ให้จิตรู้อารมณ์ด้วยความเป็นกลางไปตามธรรมชาติธรรมดา

โดยไม่หลงใหล หรือหลง “ไหล” ไปตามมายาของกิเลส คือไม่ส่งออกนอก

แล้วจิตก็จะเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งไปตามลำดับ

อย่างอื่น ก็จะรู้เองเป็นเองโดยไม่ต้องถามใคร

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การตรวจสอบแนวทางปฏิบัติด้วยปริยัติธรรม

การตรวจสอบแนวทางปฏิบัติด้วยปริยัติธรรม

น่าอัศจรรย์ที่ว่า แนวทางปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนามีความหลากหลายมาก

ทั้งที่มีต้นกำเนิดมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน

ปัญหาที่ตามมาก็คือ ผู้ที่ต้องการความพ้นทุกข์เข้าถึงมรรคผลนิพพาน

จะใช้สิ่งใดเป็นเครื่องตัดสินว่า แนวทางใดจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้จริง

 

จากประสบการณ์ที่ผมรู้จักนักปฏิบัติจำนวนมาก

พบว่าส่วนใหญ่ อาศัย “ความชอบใจ” เป็นเครื่องตัดสินว่าจะเลือกแนวทางใด

ยิ่งกว่าจะเลือกแนวทางด้วยเครื่องมือที่เป็น “ศาสตร์”

เช่นชอบใจเพราะความคุ้นเคย ที่บรรพบุรุษเคยนิยมการปฏิบัติสายนั้น

ชอบใจเพราะสนองความต้องการฤทธิ์อำนาจและสิ่งเหนือธรรมชาติ

ชอบใจเพราะเห็นคนจำนวนมากเชื่อถือแนวทางนั้น

ชอบใจเพราะเป็นของแปลกใหม่ เป็นแฟชั่น น่าทดลอง

ชอบใจเพราะบุคลิกภาพของครูบาอาจารย์

ชอบใจเพราะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้บางอย่าง หรือทำแล้วสบายใจขึ้น

ชอบใจเพราะสนองความเชื่อ เช่นการปฏิบัติต้องกดข่มควบคุมตนเองอย่างเข้มงวด

ชอบใจเพราะคำสอนและวิธีการสอนทันสมัย เหมาะกับปัญญาชนที่ชอบใช้ความคิด

และชอบใจเพราะมีหลักปฏิบัติเป็นขั้นตอน มีเหตุผลรองรับ ฯลฯ

 

พฤติกรรมการเลือกแนวทางปฏิบัติตามความชอบใจนี้

เป็นพฤติกรรมปกติ แม้แต่ในสมัยพุทธกาล

คนก็เลือกเพราะชอบใจในคำสอนของศาสดาองค์นั้นท่านนี้

ทั้งนี้ ก็เพราะเราไม่รู้ว่า “ความจริง” เป็นอย่างไร

เราจึงต้องตัดสินด้วย “ความน่าจะเป็น” เท่านั้น

 

จุดตั้งต้นอาจจะใช้ความชอบใจ แล้วลองผิดลองถูกได้

แต่เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว ผมเห็นว่าอันตรายเหลือเกิน

ถ้าเราไม่รู้จักตรวจสอบแนวทางปฏิบัติที่กำลังดำเนินอยู่

ด้วยเครื่องมือที่เป็นศาสตร์ และด้วยจิตใจที่ปราศจากอคติ

ทั้งนี้เนื่องจากแนวทางที่ปฏิบัติอยู่นั้น  อาจจะไม่ถูกต้อง

เพราะความสำคัญผิดหรือความจอมปลอมของอาจารย์บ้าง

เพราะเราตีความคำสอนของอาจารย์ผิดไปบ้าง

 

หากไม่รู้จักตรวจสอบ เราก็จะเสียเวลาทั้งชีวิต

แล้วไปไม่ถึงความพ้นทุกข์ตามหลักพระพุทธศาสนาที่เราต้องการ

 

ศาสตร์หรือเครื่องมือมาตรฐานที่ผมอยากเรียนเสนอให้ลองใช้กัน

ก็คือปริยัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อภิธรรม

 

ผมเองสารภาพตามตรงว่า เดิมผมก็ไม่ประทับใจอภิธรรมนัก

เพราะได้รับอิทธิพลความคิดว่าอภิธรรมเป็นของแต่งใหม่บ้าง

เพราะเห็นความรุนแรงของผู้ศึกษาอภิธรรมบางท่านบ้าง

เพราะได้เห็นว่า ผู้ปฏิบัติแนวอภิธรรมก็ติดสมถะเช่นเดียวกับสายอื่นๆ บ้าง

แต่เมื่อลงมือศึกษาอย่างเป็นระบบแล้ว ก็พบว่า

เนื้อหาของอภิธรรมในส่วนที่เป็นศาสตร์แห่งจิตใจ

จะลงกันได้เป็นเนื้อเดียวกับการปฏิบัติจริงๆ

 

ด้วยเหตุที่ได้พิสูจน์ชัดด้วยตนเองเช่นนี้แล้ว

ผมจึงมีความเชื่อ (ขอย้ำว่าความเชื่อ) ว่าปริยัติธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิธรรมนี้แหละ

คือเครื่องมือตรวจสอบแนวทางการปฏิบัติที่ดีและเป็นสาธารณะที่สุด

ทั้งนี้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีเจโตปริยญาณ + สัมมาทิฏฐิ

ที่จะตรวจสอบการปฏิบัติด้วยจิต ได้อย่างเที่ยงตรง

 โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

สัมมาสตินั้น เป็นสัมมาสติได้เพราะอาศัยพื้นฐานจากสัมมาสมาธิ

และเมื่อเจริญสัมมาสติไปจนเต็มภูมิแล้ว จิตก็จะมาหยุดอยู่ในสัมมาสมาธิ

ก่อนที่จะก้าวกระโดดไปสู่อริยมรรค อริยผล

ส่วนสัมมาสมาธิ จะเป็นสัมมาสมาธิได้ ก็ต้องอาศัยสัมมาสติ

 

ธรรมคู่นี้ จึงเป็นธรรมที่เกื้อกูลกันเองอย่างมาก

ถ้าขาดอันหนึ่ง อีกอันหนึ่งก็เกิดขึ้นไม่ได้

 

ก่อนที่เราจะเจริญสติปัฏฐานหรือทำสัมมาสติได้นั้น

เราต้องเตรียมจิตให้พร้อมที่จะเจริญสติปัฏฐานเสียก่อน

นั่นคือจิตจะต้องมี สัมมาสมาธิ

ได้แก่การที่จิตมีความเป็นหนึ่ง ตั้งมั่น เป็นกลาง ปราศจากความยินดียินร้ายในโลก

มีความอ่อนโยน ว่องไว ควรแก่การงาน

เครื่องมือที่จะใช้สร้างสัมมาสมาธิ ก็คือสติ

โดยการมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง

จนจิตเกิดปีติ สุข เอกัคตาขึ้นมาในปฐมฌาน

จากนั้นจึงสามารถสังเกตเห็นว่า ปีติ สุข นั้น เป็นสิ่งที่ถูกรู้

ธรรมอันเอกคือจิตผู้รู้ มีอยู่ต่างหาก ในทุติยฌาน

แล้วจิตก็ปล่อยวางสิ่งที่ถูกรู้ไปตามลำดับ จิตดำเนินเข้าสู่ความละเอียด

จนเหลือเพียงจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง และมีสติว่องไว ในจตุตถฌาน

 

สำหรับมิจฉาสมาธินั้น มันมีรอยแยกจากสัมมาสมาธิอยู่ตรงที่ว่า

เมื่อจิตมีปีติสุขขึ้นมาแล้ว จิตหลงอยู่กับปีติสุขด้วยอำนาจของราคะ

ไม่สามารถแยกจิตให้เป็นอิสระออกจากอารมณ์ได้

ตรงนี้จิตมักดำเนินไปใน 2 ลักษณะคือ

เพ่งจ้องอย่างแรงจนจิตขาดความคล่องแคล่ว ว่องไว

สติเซื่องซึมเพราะจิตไปเกาะกับอารมณ์เหนียวแน่น

อีกอย่างหนึ่งคือ จิตขาดสติ ตกภวังค์เงียบไปเลย

หรือถ้าไม่เข้าเงียบ ก็เคลื่อนเคลิ้มไปเรื่อยๆ ด้วยอำนาจของโมหะ

 

เมื่อจิตมีสัมมาสมาธิ คือมีตัวรู้ที่ตั้งมั่นเป็นกลางแล้ว

จึงน้อมสติออกไประลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เกิดเป็นสัมมาสติขึ้นมา

คนธรรมดามีสติระลึกรู้อารมณ์ได้ แต่ไม่มีกำลังหนุนของสัมมาสมาธิ

จิตจึงเคลื่อนเข้าไปยึดอารมณ์ที่ถูกรู้นั้น

สติที่เกิดในภาวะที่จิตเคลื่อนไปเกาะอารมณ์นั้น

ไม่ใช่สติที่บริสุทธิ์ที่จะรู้อารมณ์ตามความเป็นจริงได้ เพราะขาดอุเบกขาธรรม

มันจึงไม่อาจจัดเป็นสัมมาสติในองค์มรรค

มันเป็นสติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สติที่สะอาดบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา

เปรียบเหมือนคนที่ตกน้ำ ไหลไปตามน้ำ มองเห็นไม่ชัดว่า มีอะไรไหลมาในน้ำบ้าง

ส่วนสัมมาสตินั้น เหมือนคนนั่งบนตลิ่ง

แล้วมองสายน้ำไหลผ่านหน้าไปเฉยๆ ก็เห็นชัดว่า มีอะไรไหลตามน้ำมาบ้าง

 

เมื่อจิตดำเนินสัมมาสติไปจนเต็มภูมิแล้ว

จิตจะวางอารมณ์ภายนอกทั้งปวง แล้วรวมลงที่จิต

เป็นสัมมาสมาธิที่บริสุทธิ์เต็มที่ ประกอบพร้อมด้วยศีล สมาธิ และปัญญา

แล้วตัดกระแสอารมณ์ละเอียดภายในต่อไป

ถัดจากนั้นจึงจะเกิดวิปัสสนาญาณ (ในบางครั้ง ไม่ได้เกิดทุกครั้งที่จิตรวมลง)

 

สัมมาสติ กับสัมมาสมาธิ ต่างก็ทำหน้าที่ของตนดังที่เล่ามานี้ครับ

และสัมมาสมาธิกับสมาธิธรรมดานั้น มีทางแยกกันตรงฌานที่ 2

อันหนึ่งมีธรรมอันเอกผุดขึ้น อันหนึ่งหลงไปด้วยราคะและโมหะ

ส่วนสัมมาสตินั้น จิตเป็นอุเบกขาต่อสิ่งที่ไปรู้เข้า

ในขณะที่มิจฉาสตินั้น จิตเคลื่อนตามสิ่งที่ไปรู้เข้า

 

สิ่งที่ผมเล่านี้ เล่ามาจากประสบการณ์

จะให้หมดจดบริบูรณ์เหมือนตำราไม่ได้หรอกครับ

ถ้าใครมีตำราที่เป็นพุทธวัจนะ ขอให้ถือตำราเป็นหลักไว้นะครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จิตคิด กับ จิตรู้

จิตคิด กับ จิตรู้

เรื่อง “จิตคิด” กับ “จิตรู้”

ที่จริงถ้าเราแยกนามธรรมได้ชำนาญ เราจะไม่กล่าวถึง “จิตคิด” กับ “จิตรู้”

เพราะจิตนั้น มันมีคุณสมบัติหลายอย่าง ตั้งแต่ รู้สึก จำ คิด รับรู้ และเสพย์ อารมณ์

หากเราแยกนามได้ชำนาญ เราจะพบว่า คุณสมบัติแต่ละอย่างของจิตนั้น

ก็คือนามขันธ์ แต่ละตัวนั่นเอง

คือความรู้สึกสุข ทุกข์ ก็คือเวทนา ไม่ใช่จิต

ความจำก็คือสัญญา ไม่ใช่จิต

ความคิดนึกปรุงแต่งก็คือสังขาร ไม่ใช่จิต

ความรับรู้ก็คือวิญญาณ ไม่ใช่จิต

เอาเข้าจริง สิ่งที่เราเรียกว่าจิต ก็ไม่ใช่จิต

 

แต่เพราะเราไม่รู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้ขันธ์แต่ละขันธ์เขาทำหน้าที่ของเขา

จึงไปยึดเอานามธรรมว่าเป็นจิตเรา แล้วให้มันร่วมมือกันทำงานจนหลอกเราได้

เช่นพอรู้ว่ามีความสุข ก็ยึดเอาว่า จิตสุข หรือเราสุข

ไม่ได้เห็นว่าความสุข ก็เป็นสิ่งภายนอก เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เรา

พอมีความจำได้หมายรู้ ก็ยึดว่าเราจำได้หมายรู้

ไม่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เรา

พอมีความคิดนึกปรุงแต่ง ทั้งที่เป็นอกุศล กุศล และเป็นกลาง

ก็ว่าจิตเราดี จิตเราชั่ว จิตเราเป็นกลาง

ไม่เห็นว่าความคิดนึกปรุงแต่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เรา

พอมีความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ว่าจิตเรารับรู้

ไม่เห็นว่าความรับรู้เป็นสภาพธรรมที่เป็นอิสระอยู่นอกเหนือการบังคับบัญชาของเรา

 

จิตนั้นอาศัย “จิตสังขาร” คือเวทนา สัญญา และสังขาร จึงรู้สึกว่าเป็นจิต

ขอเพียงปล่อยวาง นามขันธ์เสียให้หมด ไม่เห็นว่าเป็นเรา

ธรรมชาติรับรู้ล้วนๆ ก็จะปรากฏขึ้น

และธรรมชาติอันนั้น จะไม่มีความรู้สึกแม้แต่นิดเดียวว่า เป็นตัวเรา หรือจิตเรา

 

อย่าไปสำคัญว่า นี่คือจิตรู้ จิตคิด จิตจำ จิตเห็น

สิ่งเหล่านั้น เป็นการประกอบกันขึ้นของนามขันธ์เท่านั้นเองครับ

รักษาสติ สัมปชัญญะไว้ให้แจ่มใส ต่อเนื่อง

รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

รูป และนาม เขาจะทำหน้าที่ของเขาไปตามเหตุปัจจัย ให้ดูต่อหน้าต่อตาทีเดียว

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ทำอย่างไรจึงรู้ตัวได้บ่อยขึ้น ?

ทำอย่างไรจึงรู้ตัวได้บ่อยขึ้น ?

แทนที่จะพยายามรู้ตัวให้บ่อยขึ้น

ขอให้พยายามรู้ว่าหลง เผลอ เพ่ง คิด ให้ไวขึ้นก็พอแล้วครับ

เพราะทันทีที่รู้ตัวว่าเผลอ หรือเพ่ง

ขณะนั้นรู้ตัวเรียบร้อยแล้วครับ

ถ้าไปพยายามรู้ตัว เดี๋ยวจะเผลอไปสร้างความรู้ตัว(ปลอมๆ) ขึ้นมาครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

นโม วิมุตฺตานํ   นโม วิมุตฺติยา

ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

 

พระปริตต์คาถาทั้งสองวรรคข้างต้นนี้

พระป่าท่านรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี

และส่วนมากท่านจะบริกรรมกันเสมอ

เนื่องจากมีผลให้จิตใจอ่อนน้อม สงบ เยือกเย็น และกล้าหาญ

และเป็นพระปริตต์คาถาที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ นิยมบริกรรม

เพียงแต่คนวงนอกไม่ค่อยทราบกัน

จะทราบก็แต่ว่า พระป่าท่านนิยมบริกรรม พุทโธ เท่านั้น

 

พระปริตต์คาถานี้ไม่เกี่ยวกับไสยศาสตร์เวทย์มนต์คาถา

แต่เป็นการน้อมระลึกถึงท่านที่หลุดพ้นแล้ว

คือพระพุทธเจ้าตลอดถึงพระอรหันตสาวก รวมทั้งพระธรรม

ทำนองเดียวกับได้ระลึก พุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ รวมกัน

 

ที่มาของพระปริตต์คาถาสองวรรคนี้มาจาก

โมรชาดก ทุกนิบาตชาดก พระสุตตันตปิฎก เล่ม 19

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 มีเนื้อความดังนี้

 

                     ว่าด้วยนกยูงเจริญพระปริตต์

       [167] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก

             เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก

             กำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี

             เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น

           ซึ่งทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี

           ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน

           พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง

           ขอพราหมณ์เหล่านั้น   จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า

           และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ

           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

           นกยูงนั้น เจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร.

       [168] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก

             เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก

             ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป

             เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น

             ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี

             ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน

             พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง

             ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า

             และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ

           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

           นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการอยู่.

                       จบ โมรชาดกที่ 9.

 

คาถานกยูงนี้ สะท้อนสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างคือ

นกยูงเห็นพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกแล้ว

ระลึกถึงคุณของพระอาทิตย์ที่ให้แสงสว่าง

ขึ้นชื่อว่าพระอาทิตย์แล้ว มีชื่อว่า สุริยะ แปลว่ากล้าหาญ

เพราะแสงอาทิตย์นั้น ทำให้มนุษย์(และสัตว์กลางวัน) กล้าหาญ

ส่วน จันทะ หรือพระจันทร์ ทำให้เบิกบานใจ

 

ไม่เพียงระลึกถึงคุณของพระอาทิตย์

นกยูงยังนอบน้อมพราหมณ์ คือผู้ลอยบาปทั้งปวง

นอบน้อมพระพุทธเจ้าและพระโพธิญาณ

นอบน้อมผู้ถึงความหลุดพ้นแล้ว

และนอบน้อมต่อธรรมแห่งความหลุดพ้นด้วย

 

นกยูงแม้จะเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ก็ยังไม่รู้ธรรมและไม่มีโอกาสฟังธรรม

จึงไม่สามารถไตร่ตรองในธรรมเพื่อความหลุดพ้นได้

แต่นกยูงก็เจริญในธรรมอันหนึ่ง คือความนอบน้อมในสิ่งที่ควรนอบน้อม

ได้แก่นอบน้อมต่อธรรมชาติที่ทรงคุณ

นอบน้อมต่อบุคคลที่ทรงคุณ

และนอบน้อมต่อธรรม ทั้งที่ตนยังไม่มีส่วนแห่งธรรมนั้น

 

หลวงปู่มั่น ท่านเห็นความสำคัญของความนอบน้อมมาก

ท่านสอนว่า สมัยก่อนคนเราจะทำอะไร ก็ต้องตั้ง นโม เสียก่อน

นโม คือความนอบน้อม

โบราณถือว่าอักระ น + ม นี้ เป็นสัญลักษณ์ธาตุดินและน้ำ

อันเป็นธาตุของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดร่างกายของเรานี้ ให้มา

เมื่อมีกายแล้ว ก็ต้องมีใจ

คือเมื่อแผลง นโม ออกไป ก็จะเป็น มโน คือใจ

ซึ่งก็เป็นใหญ่ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง

เหมือนเป็นพ่อแม่ของธรรมทั้งปวงนั่นเอง

 

พึงทำใจของพวกเราให้มีความนอบน้อมในธรรม

แล้วน้อมสติสัมปชัญญะลงมาที่จิตใจของเราแต่ละคน

ระลึกถึงธรรมในจิตใจของตนอยู่เสมอ

จนใจกับธรรม เป็นสิ่งเดียวกัน

เพราะแม้แต่พระศาสดาของเรา

ท่านก็ยังมีธรรมในพระทัยของท่าน เป็นสรณะ เช่นกัน

 

นโม วิมุตฺตานํ   นโม วิมุตฺติยา

นโม วิมุตฺตานํ   นโม วิมุตฺติยา

นโม วิมุตฺตานํ   นโม วิมุตฺติยา

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน เสาร์ ที่ 6 พฤศจิกายน 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง

จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง

เป็นการดีทีเดียว ที่พวกเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง

อย่ายึดตัวบุคคลเป็นที่พึ่ง เพราะบุคคลนั้น อยู่กับเราตลอดไปไม่ได้

ส่วนพระธรรมนั้นแสดงตัวอยู่แล้วในจิตใจของเราเองทั้งวันทั้งคืน

ทั้งที่เป็นอกุศล ที่แสดงแล้วก่อทุกข์ก่อโทษให้เห็น ทั้งกุศล ที่แสดงแล้วก่อความสุขความสงบให้ ทั้งที่เป็นกลางๆ ไม่มีคุณไม่มีโทษ

ถ้ามีสติสัมปชัญญะก็สามารถเรียนรู้ธรรมแท้เหล่านี้ได้แล้ว ที่ผมแนะนำให้นั้น ก็คือการฝึกสติสัมปชัญญะ

 เป็นการให้เครื่องมือเอาไว้ฟังธรรมแท้ในใจตนเอง แล้วก็บอกทางว่า ให้เอาสติสัมปชัญญะเรียนรู้เข้ามาในกายในใจตนเองนี้แหละ ขณะนี้หมดหน้าที่ของผมแล้ว

 เป็นเรื่องที่พวกเราจะต้องฟังธรรมของจริงกันเองแล้วครับ ไม่มีใครจะมาทำกิจอันนี้แทนได้เลย นอกจากทำเอาเอง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันวัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Page 2 of 1012345...10...Last »