Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ธรรมอันมีอุปการะมาก

ธรรมอันมีอุปการะมาก

สติสัมปชัญญะ เป็นธรรมมีอุปการะมาก

เพราะเป็นเครื่องมือ ให้ได้สมบัติในสุคติและ นิพพาน

เสียดายแต่ผู้ปฏิบัติส่วนมาก ไม่มีสัมมาสติ

และไม่มีสัมปชัญญะคือ สัมมาทิฏฐิ อันเป็นตัวปัญญา

พูดง่ายๆ ก็คือขาดสติปัญญาในการปฏิบัติธรรม

จึงได้เพียงปฏิบัติตามๆ กันไป และไม่เห็นผลประจักษ์แก่ตนเอง

ว่าทุกข์น้อยลง และกิเลสตัณหาเบาบางลง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : อัตตา-อนัตตา

  อัตตา-อนัตตา

ที่จริงเรื่องอัตตา อนัตตาเป็นเรื่องตื้นๆ ต่อหน้าต่อตา

ดูเข้าไปที่จิตตนเองสิครับ แล้วจะเห็นว่า

สิ่งทั้งปวงทุกอย่าง แม้แต่ตัวจิตเอง ล้วนเป็นอนัตตา

อัตตา มันเกิดจากจิต-ถูกความคิดและความหมายรู้ผิดๆ หลอกเอาเท่านั้นเอง

 

ถ้าไม่ “ดูจิตตนเอง” เอาแต่ “ดูสิ่งอื่น”

ถ้าไม่หยุด “คิด” แล้วมาอยู่กับ “รู้”

ก็ยังเห็นว่านิพพานเป็นอัตตาได้ครับ

เพราะเมื่อจิตเป็นอัตตาเสียแล้ว ก็พลอยดึงสิ่งที่จิตปรารถนาให้เป็นอัตตาไปด้วย

 

ดังนั้นแทนที่จะโต้เถียงด้วยความคิด หรือความเชื่อ

มาเฝ้าดูจิตตนเองดีกว่าครับ

แล้วชีวิตจิตใจจะพบกับความสงบสุขมากขึ้น

เอาให้เห็นจิตที่ไม่เป็นอัตตาก่อนเถอะครับ

แล้วก็จะเข้าใจเอง ไม่ต้องเชื่อใคร ว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เทคนิคในการรู้ตามความเป็นจริง

เทคนิคในการรู้ตามความเป็นจริง

ให้รู้ตามความเป็นจริงเท่าที่รู้ได้

ไม่ใช่ เจตนา และอยาก จะรู้ให้เกินกว่าที่สติปัญญาจะรู้ได้จริง

ให้ฝึกฝนพัฒนาสติสัมปชัญญะให้มาก

  แล้วก็จะรู้ได้ว่องไว รู้ได้ละเอียด

และรู้ความจริงของจริงได้มากขึ้น โดยไม่ต้องฝืน

 

ขณะที่รู้อารมณ์ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธัมมารมณ์จริงๆ

ตรงนั้นจิตเพียงแต่รู้เท่านั้น ยังไม่เสพย์อารมณ์

จิตตรงนี้ยังเป็นอุเบกขาหรือเป็นกลางอยู่ตามธรรมชาติ

 

อย่าพยายามไปกำหนดจิตให้หยุดนิ่งลงตรงนี้เพื่อจะรู้แต่ปรมัตถ์นะครับ

เพราะกำหนดไม่ได้จริงหรอก

ตอนที่คิดจะกำหนดนั้น

จิตมันขึ้นวิถีใหม่ หรือขึ้นกระบวนการของจิตรอบใหม่แล้ว

ตรงนี้แหละที่ผู้เรียนตำราชั้นหลังปฏิบัติผิดกันมาก

กลายเป็นหลงคิดตามสัญญาเท่านั้น

 

จึงควรปล่อยให้จิตเขาทำงานไปตามธรรมชาติธรรมดา

คือเมื่อถัดจากรู้รูป เสียง .. ธัมมารมณ์ นั้น

จิตจะอาศัยความจำรูปได้ ความจำเสียง .. ธัมมารมณ์ได้

เอามาเป็นปัจจัยสนับสนุนความคิดนึกปรุงแต่ง

แล้วเกิดกิเลสตัณหาอุปาทานขึ้นตรงช่วงหลังนี้

ตามตำรารุ่นหลังเขาเรียกว่า “ชวนะ”

จิตก็จะเกิดกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง

 

แต่ตัวความคิดนึกปรุงแต่ง เช่นกิเลสตัณหา

และกลไกที่จิตแล่นไปก่อทุกข์ (ไม่ใช่เรื่องหรือเนื้อหาที่คิดนะครับ)

มันก็เป็นความจริงหรือปรมัตถ์ในฝ่ายนามธรรมของมันเหมือนกัน

ให้มีสติสัมปชัญญะ รู้มันไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางไปเลย

อันนี้ก็เป็นวิปัสสนาเหมือนกัน ในหมวดของ เวทนา จิต และธรรม

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 13 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : นักภาวนากับคนทั่วไปต่างกันที่คุณภาพจิต

นักภาวนากับคนทั่วไปต่างกันที่คุณภาพจิต

ผมก็มีตาเห็นรูป มีหูได้ยินเสียง มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นรู้รส

มีกายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง มีจิตคิดนึก

ไม่ได้มีผัสสะอะไรแปลกแตกต่างจากคนอื่นๆ เลยครับ

แต่ความแปลกมันไปต่างกันที่คุณภาพของจิตที่รู้อารมณ์ต่างหากเล่าครับ

คือบางคน จิตรู้อารมณ์แล้ว จิตประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ

บางคน จิตรู้อารมณ์แล้ว จิตซึมอยู่เฉยๆ เป็นอกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ

บางคนจิตเป็นกุศลจิต มีสติรู้อารมณ์ก็จริงแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

แต่บางคน จิตมีปัญญาประกอบจิตซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

เป็นจิตรู้ สงบ เบิกบาน และฉลาดแจ่มใส

 

การปฏิบัตินั้น เราพัฒนาจิตกันครับ ไม่ใช่พัฒนาอารมณ์หรือผัสสะ

ถึงเป็นพระอรหันต์ ก็พบอารมณ์ พบผัสสะอย่างเดียวกับคุณนั่นเอง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จิตที่ถูกอาสวะห่อหุ้มเอาไว้

จิตที่ถูกอาสวะห่อหุ้มเอาไว้

จิตที่ถูกห่อหุ้ม จมแช่อยู่ในก้อนทุกข์นั้น ยังเป็นจิตที่เกิดในอบายภูมิ

จิตที่พ้นออกจากการจมแช่นั้น ก็คือจิตที่เกิดในสุคติภูมิระดับมนุษย์และเทวดา

จิตที่ลอยตัวขึ้นนั้น ก็คือจิตที่เกิดในพรหมโลก

ในขั้นแรกที่ปฏิบัตินั้น จิตยังผลุบโผล่อยู่ระหว่างอบายและมนุษย์/เทวดา

พอทำมากเข้า จิตก็ไม่ไปอบาย แต่มาอยู่ในภูมิมนุษย์/เทวดา

ทำมากเข้าอีก จิตก็ผลุบโผล่อีก

แต่เป็นการผลุบโผล่ระหว่างภูมิมนุษย์/เทวดากับพรหมโลก

ทำมากเข้าอีก ก็จะอยู่ในภูมิของพรหมโลก

ไม่กลับมาสู่ความเป็นมนุษย์และเทวดา

 

การพัฒนาจิตไปตามลำดับนี้

จะพัฒนาไปด้วยการทำทาน รักษาศีล และทำสมถะก็ได้

แต่ทำแล้วยังเวียนลงได้อีก

แต่ถ้าจิตพัฒนาไปด้วยวิปัสสนา

ก็มีแต่จะเขยิบขึ้นไปตามลำดับ ไม่มีลงครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543

 

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : รับมือกับความป่วย

รับมือกับความป่วย

ในขณะที่เจ็บป่วย โมหะครอบงำ เวทนาครอบงำ

ถ้าสู้ได้ด้วยวิปัสสนา ก็ต้องสู้ด้วยวิปัสสนา

ถ้าสู้ด้วยวิปัสสนาไม่ไหว ก็ต้องทำสมถะ

ถ้าทำสมถะก็ไม่ไหว ก็ต้องพักผ่อนให้สบาย หาอารมณ์ที่ชอบใจมาล่อ

อย่างผมเวลาปฏิบัติจนเหนื่อย หรือก่อนจะนอน

บางทีก็หาหนังสือเบาๆ มาอ่าน

ให้จิตใจผ่อนคลายเสียก่อน แล้วค่อยเจริญสมถะวิปัสสนาใหม่

จะทำได้ง่ายกว่าการดันทุรังทำครับ

 

ถ้าทั้ง 3 วิธียังไม่ได้ผล ก็ทานยา แล้วนอนให้หลับเสีย

ตื่นขึ้นมาแล้วให้รีบฝึกสติสัมปชัญญะต่อไปใหม่

ไม่เห็นจะยากอะไรเลยครับ

(ถ้าไม่ถูกความ “อยากดี” มาครอบงำจิต)

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จิตเหมือนเด็กที่ชอบหนีเที่ยว

จิตเหมือนเด็กที่ชอบหนีเที่ยว

จิตก็เหมือนเด็กซนๆ นั่นเอง เวลาที่ผู้ใหญ่(มีสติ)คอยดูอยู่ ก็ไม่หนีไปไหน
ถ้าผู้ใหญ่มีงานยุ่ง หรือเจ็บไข้ได้ป่วย เด็กมันก็หนีเที่ยวเป็นธรรมดา
บางทีเด็กก็ไปเล่นคลุกฝุ่นมอมแมม
เล่นไปเล่นมา บางทีก็เจ็บตัวกลับมาบ้าน

จิตที่มันชอบหนีเที่ยวนั้น
ถ้าวันหนึ่งมันรู้ว่าไปแล้วจะเป็นทุกข์ มันก็ไม่ไปเอง
แต่วันนี้ปัญญาของจิตยังไม่พอที่จะเห็นทุกข์
จิตก็ยังพอใจที่จะไปเที่ยวอยู่

การจะจัดการกับจิตนั้น ก็เหมือนจัดการกับเด็ก
คือจะหักหาญกับเขาด้วยกำลังไม่ได้
ต้องรู้จักขู่ ต้องรู้จักปลอบ ต้องรู้จักชม ต้องรู้จักให้รางวัล
ตรงนี้มีอุบายสารพัดที่จะจัดการได้

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จิตเฉยๆเงียบๆ

จิตเฉยๆเงียบๆ

จิตที่เฉยๆ เงียบๆ เป็นจิตชนิดที่ดูยากที่สุดครับ

การจะแก้ไข อาจจะกำหนดลมจนจิตสงบ

เกิดปีติและความสุขแล้ว ค่อยรู้ปีติสุขก็ได้

หรือจะกำหนดลม แยกว่าลมเป็นของถูกรู้ ก็ได้

จะใช้ความคิดพิจารณาธรรมที่ถูกใจ เพื่อให้จิตแสดงอาการออกมาก็ได้

หรือจะใช้กรรมฐานอื่นๆ เช่นการรู้อิริยาบถก็ได้

สรุปแล้วต้องหางานให้จิตทำ

อย่าให้จิตไปจมแช่ความนิ่งเฉยอยู่นานๆ ครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เล่าเรื่องพระอาจารย์สิงห์

เล่าเรื่องพระอาจารย์สิงห์

หลวงปู่ดูลย์ ท่านเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ท่านอาจารย์สิงห์ ไว้หลายเรื่องครับ

ท่านทั้งสององค์ได้พบกันที่จังหวัดอุบลราชธานี

  ซึ่งยุคนั้นเป็นสำนักเรียนสำคัญของสงฆ์ทางอีสาน

  และท่านอาจารย์สิงห์ เป็นครูสอนเด็กนักเรียนด้วยทั้งที่ท่านเป็นพระ

 

ต่อมาท่านได้ข่าวท่านพระอาจารย์มั่น กลับมาจังหวัดอุบลฯ

จึงพากันไปฟังธรรม แล้วลงมือปฏิบัติกัน

ไม่นานนัก วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่สิงห์สอนนักเรียนอยู่

ท่านเกิดมองเห็นนักเรียนทั้งชั้นเป็นโครงกระดูกนั่งกันเต็มห้อง

จิตท่านเกิดความสลดสังเวช และกล่าวอำลานักเรียน ลาออกจากการเป็นครู

จากนั้นทั้งหลวงปู่สิงห์ และหลวงปู่ดูลย์ก็พากันออกธุดงค์ไปเลย

มีคณะที่ออกธุดงค์เป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นรุ่นแรก

รวมทั้งหมด 5 องค์ด้วยกัน

 

ท่านอาจารย์สิงห์ เป็นผู้มีกำลังความสามารถในการสั่งสอนกว้างขวางมาก

เป็นกำลังหลักช่วยท่านพระอาจารย์มั่น จนพระป่าเรียกท่านว่า

“ท่านอาจารย์ใหญ่สิงห์”

(เหมือนที่เรียก “ท่านอาจารย์ใหญ่เสาร์” “ท่านอาจารย์ใหญ่มั่น”

  แต่บางทีท่านเรียก “พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น”)

ทั้งนี้เพราะท่านอาจารย์สิงห์สร้างบารมีมาในทางเป็นผู้นำเวไนยสัตว์ข้ามภพข้ามชาติ

จึงมีบารมีในทางสั่งสอนมาก

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่  6 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : มารในแง่ของการภาวนา

มารในแง่ของการภาวนา

มาร คือสิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ

หรือตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

ตามตำราชั้นหลังประมวลจากพระไตรปิฎกไว้เป็น มาร 5 ได้แก่

1 กิเลสมาร มารคือกิเลส (พบคำนี้ในพระไตรปิฎก 6 แห่ง)

2 ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ (พบ 4 แห่ง)

3 อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม

 (ไม่พบมารชนิดนี้ในพระไตรปิฎก แต่มีร่องรอยที่ทำให้ตำราชั้นหลัง

ท่านสถาปนามารชนิดนี้ขึ้นไว้เหมือนกัน ซึ่งจะกล่าวในตอนท้าย)

อภิสังขารเป็นมารเพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม ทำให้เกิดชาติชรา เป็นต้น

ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์

4 เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร (พบ 1แห่ง)

5 มัจจุมาร มารคือความตาย (พบ 1 แห่ง)

 

มารทั้ง 5 นี้ ขัดขวางผู้ปฏิบัติ เช่นเมื่อกิเลสมารคุกคาม จิตก็ไม่ตั้งมั่น

เมื่อมัจจุมารคือความตายคุกคาม ก็หมดโอกาสปฏิบัติธรรม เป็นต้น

 

ความจริงเรื่องมาร 5 นี้ ที่ผมเคยอ่านแล้วจับใจที่สุด

เป็นมาร 5 ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อพระราธะ

จึงอัญเชิญมาให้อ่านกันเอาเองครับ

 (จากพระสุตตันตปิฎก  เล่ม 9 สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

2. ราธสังยุต ปฐมวรรคที่ 1  มารสูตร  ว่าด้วยขันธมาร

 

 [366] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ

ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว

นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้

ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า มาร?

 

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ

เมื่อรูปมีอยู่ มาร (ความตาย) จึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี

เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นรูปว่า เป็นมาร

เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร

เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์

บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นรูปนั้นอย่างนี้

บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.

 

เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ  เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ

เมื่อวิญญาณมีอยู่ มารจึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี  ผู้ตายจึงมี

เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นวิญญาณว่า เป็นมาร

เป็นผู้ทำให้ตาย  เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร

เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์

บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นวิญญาณนั้นอย่างนี้

บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.

 

อายาจนวรรคที่ 3  มารสูตร ว่าด้วยการละความพอใจในขันธมาร

[389] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ

ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส

ทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์

ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท

มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด.

 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นมาร

เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด

ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในสิ่งนั้นเสีย.

 

ดูกรราธะ ก็อะไรเล่าเป็นมาร?

ดูกรราธะ รูปเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด

ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในรูปนั้นเสีย.

เวทนาเป็นมาร … สัญญาเป็นมาร … สังขารเป็นมาร …

วิญญาณเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด

ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในวิญญาณนั้นเสีย.

 

ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด

ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในสิ่งนั้นเสีย.

 

นี่แหละครับ มาร 5 ในเชิงปฏิบัติ ที่น่าสนใจมากทีเดียว

 

ความจริงในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงมารชนิดต่างๆ

เช่นกิเลสมาร และเทวปุตตมารไว้เช่นกัน

ทั้งยังกล่าวถึงมารอีกหลายชนิด ที่ตำราชั้นหลังไม่ได้กล่าวถึง

ลองอ่านดูเองนะครับ จากพระสุตตันตปิฎก  เล่ม 22  ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

 

 [427] คำว่า มารย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล

ความว่า ขันธมาร ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปบัติมาร ปฏิสนธิมาร

ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร อันมีในปฏิสนธิ

ย่อมไปตาม คือ ตามไป เป็นผู้ติดตามไป ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้น นั่นแล.

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ความสำคัญของขณิกสมาธิ

ความสำคัญของขณิกสมาธิ

ถ้ามีขณิกสมาธิที่ดีพอก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้

แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่า ขณิกสมาธินั้น ดีหรือมีคุณภาพพอหรือไม่

ผมสังเกตเห็นผู้ปฏิบัติจำนวนมากที่เจริญสติด้วยขณิกสมาธิอยู่นั้น

มักจะมีโมหะแทรกอยู่เสมอๆ กำลังหลง แต่คิดว่ากำลังรู้

 

ความรู้เห็นจากประสบการณ์ตรงนี้ สอดคล้องกับตำราอภิธัมมัตถสังคหะ

ในปริจเฉทที่ 9 ระบุไว้ชัดเจนว่า

สมาธิที่ทำให้จิตวิสุทธิ์ได้จริงอันเป็นกำลังของการเจริญวิปัสสนานั้น

ต้องเป็นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ

แต่อนุโลมให้ใช้ ขณิกสมาธิที่ไม่ถูกกิเลสแทรก ได้เหมือนกัน

 

ขณิกสมาธิ จึงใช้ทำวิปัสสนาได้หากมีคุณภาพพอ

แต่ส่วนมากจะมีคุณภาพไม่พอกันจริงๆ หรอกครับ

โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถทำฌานได้

หรือ คนที่ไม่สามารถใช้ปัญญาแยกแยะนิวรณ์กับจิตออกจากกันได้

 

ดังนั้น ผมเชื่อครับว่าผู้ปฏิบัติสามารถใช้ขณิกสมาธิเจริญวิปัสสนา

โดยไม่ต้องทำอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิก่อนเสมอไป

แต่จิตที่ทำวิปัสสนานั้น ต้องวิสุทธิ์เพียงพอนะครับ

 

อีกอย่างหนึ่ง แม้จะใช้เพียงขณิกสมาธิก็ตาม

เมื่อจิตเจริญปัญญาวิปัสสนาไปเต็มภูมิแล้ว

จิตจะตัดกระแสรวมตัวเข้ามาเป็นอัปปนาสมาธิเองได้ด้วย

ก่อนที่จะก้าวกระโดดไปสู่อริยมรรคต่อไป

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เพียรรู้ผัสสะเพื่อพ้นทุกข์

เพียรรู้ผัสสะเพื่อพ้นทุกข์

การปฏิบัตินั้น ในช่วงแรกจำเป็นต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก

เพราะเรายังไม่เคยรู้เห็นว่า ปฏิบัติแล้วจะมีประโยชน์อย่างไร

ต่อเมื่อเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว เช่นสติในชีวิตประจำวันดีขึ้น

เห็นกิเลสตัณหาได้ไว และละเอียดยิ่งขึ้น

ปล่อยวางความอยากและความยึดได้เร็วขึ้น ทำให้ทุกข์น้อยและสั้นลง

สิ่งเหล่านี้ จะเสริมกำลังใจในการปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเป็นลำดับ

 

การที่เราคอยรู้ ความรู้สึก ที่เท้ากระทบ(ผัสสะ)พื้น

หรือหลังกระทบพนักเก้าอี้

ตัวความรู้สึก หรือความรับรู้การกระทบ นั่นแหละ คือ วิญญาณทางกาย

มันเป็นวิญญาณที่เกิดจากสิ่งที่หยาบที่สุด

คือการกระทบ(ผัสสะ)ของกายกับวัตถุภายนอก สังเกตได้ง่ายที่สุด

และเอื้อที่จะให้เรารู้ทันจิตใจตนเองต่อไปได้ง่ายๆ

เพราะจิตกับวิญญาณ นั้น ทางปริยัติท่านก็จัดว่าเป็นสิ่งเดียวกันอยู่แล้ว

แต่ในทางปฏิบัติ เราจัดว่า วิญญาณ เป็นตัวรู้การกระทบ

ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ส่วนจิต เป็นตัวที่รู้แล้วเสพย์อารมณ์

เกิดกิเลสตัณหา เกิดความยินดียินร้าย ต่อจากการกระทบ

เมื่อจับต้นทาง คือความรู้สึกที่กระทบได้แล้ว

ก็ไม่ยากที่จะสังเกตเห็นการทำงานของจิตในลำดับต่อไปได้

จนรู้ชัดว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดกับจิต ล้วนแต่เป็นไตรลักษณ์

จิตเองก็เป็นไตรลักษณ์

และรู้ชัดว่า จิตอยากก็ทุกข์ ไม่อยากก็ไม่ทุกข์

จิตที่อบรมจนฉลาดแล้วนั้นเอง จะถอดถอนตนเองออกจากกองทุกข์ได้

 

ในทางปฏิบัตินั้น เบื้องต้นเราอาศัยการกระทบ(ผัสสะ)

เป็นเครื่องกระตุ้นสติสัมปชัญญะของตนให้เข้มแข็งขึ้น

เพราะการที่จิตรู้การกระทบอย่างเดียวโดยต่อเนื่อง

ก็คือการเจริญสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง

เมื่อเรามีสติรู้การกระทบ มีสัมปชัญญะรู้ตัวไม่เผลอ ดีแล้ว

การกระทบต่อไปนั้น ก็คือการเจริญสติปัฏฐาน

คือการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง

จะเห็นชัดว่ากายไม่ใช่เรา อารมณ์ต่างๆ ไม่ใช่เรา

ถึงจุดหนึ่งก็จะเห็นชัดว่า จิตเองก็ไม่ใช่เรา

 

การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่เรื่องลึกลับ

ในเบื้องต้นที่ศึกษา อาจจะยากลำบากบ้าง เพราะเป็นเรื่องไม่เคยชิน

ต้องอดทนต่อการเคี่ยวเข็น และความผิดหวังบ้าง

แต่ความผิดพลาด แล้วพยายามใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้นเอง

จะเปิดใจของผู้ปฏิบัติที่อดทนได้ ให้ปฏิบัติถูกและมองเห็น ธรรม

ธรรม ซึ่งมีอยู่แต่ไหนแต่ไรแล้ว

เพียงแต่เราไม่เคยเห็นเท่านั้นเอง

 

พยายามต่อไปครับ แต่อย่าอยาก

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันจันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เรื่องของปัญญาอบรมสมาธิ

เรื่องของปัญญาอบรมสมาธิ

อันที่จริงการดูจิตกับการทำสมาธิเป็นสิ่งที่หนุนเสริมกัน

พระป่าส่วนมาก ท่านจะเริ่มการปฏิบัติด้วยการทำสมาธิ

เพราะท่านมีเวลามาก มีผัสสะรุนแรงน้อย มีงานคิดน้อยกว่าชาวเมือง

 เมื่อจิตมีสมาธิแล้ว จึงน้อมจิตมาเจริญปัญญา

   เรียกว่าใช้ สมาธิอบรมปัญญา ที่สุดก็มีทั้งสมาธิและปัญญา

 

ส่วนพวกเราชาวเมือง จะทำสมาธิก็ไม่มีเวลาความต่อเนื่อง หรือเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย

จึงต้องช่วยตนเองด้วยการใช้ ปัญญาอบรมสมาธิ

คือใช้สติปัญญารู้นิวรณ์เข้าไปเลยจนนิวรณ์สงบ

แล้วจิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ พอที่จะเจริญปัญญาต่อไปได้เช่นกัน

แต่สมาธิชนิดนี้ มักจะเป็นขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ

นานๆ จิตจึงจะรวมลงเอง ถึงอัปปนาสมาธิสักครั้งหนึ่ง

บางคนไปรวมครั้งแรกเมื่อบรรลุอริยมรรคเลยก็มี

 

พวกเราเมื่อใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็เป็นเรื่องที่เหมาะกับตนเอง

วิธีการของท่านอื่น โดยเฉพาะการใช้สมาธิอบรมปัญญา

ก็เป็นเรื่องดีของท่านเหมือนกัน

การปฏิบัติ จึงไม่มีคำว่า แนวทางใด ดีที่สุด

เพราะท่านใดใช้แนวทางใดแล้ว จิตใจผ่อนคลายจากกิเลสตัณหา

ผ่อนคลายจากความทุกข์อันเกิดแต่ความยึดมั่น

ก็นับว่าแนวทางนั้น ดี สำหรับท่านนั้นแล้ว

นักปฏิบัติจึงไม่ขัดแย้งกัน เรื่องแนวทางของใครดีกว่าของใคร

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : วิธีใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

วิธีใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

ปัญญาที่อบรมสมาธิ เป็นอุบายวิธีที่ช่วยย่นเวลาทำสมาธิได้อย่างดี

วิธีใช้ปัญญาอบรมสมาธินั้น

ถ้าใครสามารถแยกจิตกับอารมณ์ออกจากกันได้ชำนาญแล้ว

จะรู้สึกว่าทำสมาธิได้ง่ายมาก คือแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

เพียงแต่ระลึกรู้นิวรณ์ธรรมที่กำลังปรากฏกับจิต

แล้วเห็นว่านิวรณ์ไม่ใช่จิต จิตเป็นกลาง นิวรณ์ก็จะดับจากจิต

จิตเข้าถึงรู้ ที่เป็นกลาง และสงบเพราะพ้นจากความรบกวนของนิวรณ์ต่างๆ

ถ้าย้อนออกมารู้ภายนอก ก็เป็นการใช้งานของขณิกสมาธิ

ถ้าจะรู้ธรรมละเอียดภายใน ก็ดำเนินไปในอุปจารสมาธิ

หากจะเข้าอัปปนาสมาธิต่อ ก็ทำสติระลึกรู้ลมหายใจต่อไปเลย

หรือถ้าจะเข้าอรูปฌาน ก็ทำสติระลึกรู้ความว่างของจิตต่อไปเลย

เมื่อจิตเคล้าเคลียกับลมหายใจ หรือความว่าง โดยไม่มีการควบคุมแล้ว

จิตก็จะเข้าถึงอัปปนาสมาธิเอง

เป็นภาวะที่เหลือแต่รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้เพียงอันเดียว

จิตจะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม

แต่ทำอะไรไม่ค่อยได้ครับ ดูจะเป็นที่พักเอากำลังเสียมากกว่า

 

มีอีกวิธีหนึ่งคือ การใช้ความคิดพิจารณาธรรมเอาตรงๆ นี่แหละครับ

เช่นพิจารณาร่างกาย ให้เห็นเป็นธาตุ เป็นอสุภะ หรือพิจารณาความตาย

เมื่อพิจารณาไปแล้ว ถ้าจิตเกิดสลด หรือจิตเห็นจริงในระดับหนึ่ง(ไม่ถึงขั้นเห็นแจ้ง)

จิตจะวางการพิจารณา แล้วรวมสงบเข้ามาเป็นสมาธิเป็นคราวๆ ไป

แต่สมาธิด้วยวิธีนี้มักจะไปได้เพียงอุปจารสมาธิ

และใช้เวลามากกว่าวิธีแรกที่แยกอารมณ์อันเป็นศัตรูของสมาธิออกไปเลย

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่  25 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จะทำลายผู้รู้ได้อย่างไร?

จะทำลายผู้รู้ได้อย่างไร?

ครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว ผมได้เรียนถามหลวงปู่เหรียญว่า
จะทำลายหรือไม่ยึดมั่นจิตผู้รู้ได้อย่างไร
 แทนที่จะได้คำตอบถึงวิธีทำลายความยึดมั่นจิตผู้รู้ ตามที่ต้องการ
หลวงปู่กลับตอบว่า จะไปทำลายมันทำไม
ให้ทำลายอุปาทานขันธ์เสียดีกว่า
ตอนนั้นฟังแล้วไม่ซาบซึ้งถึงใจเลย
คิดว่าถามอย่างหนึ่ง หลวงปู่กลับตอบอีกอย่างหนึ่ง
ก็เหมือนที่มีคนถามว่า คนตายแล้วเกิดหรือ
 แล้วพระท่านกลับตอบเรื่องขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ นั่นแหละครับ
ท่านตอบถูกของท่านแล้ว แต่ผมมันโง่เอง

มาหลังๆ นี้แหละครับจึงพิจารณาออกมาได้ว่า
พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมต้นทางของการปฏิบัติ
ท่านไม่นิยมสอนถึงปลายทาง
เพราะผู้ฟังจะเที่ยวแสวงหาปลายทาง
 โดยมองข้ามต้นทางของการปฏิบัติไปเสีย
 เพราะหากผู้ใดสามารถเพิกถอนอุปาทานขันธ์เสียได้
ด้วยปัญญาอันเกิดจากการเจริญสติสัมปชัญญะ
ปลายทางที่ต้องการจะไปไหนเสีย

เราไม่ต้องไปสนใจหรอกว่า จิตมันมีกี่ดวง จิตที่หลุดพ้นเป็นอย่างไร
ให้เจริญสติสัมปชัญญะ รู้ปัจจุบันธรรมอันเป็นสภาวะแท้จริงที่กำลังปรากฏเรื่อยไป
พอรู้จริงในสิ่งที่จิตไปหลงยึดมั่นแล้ว จิตเขาคลายความยึดมั่นเอง

เหมือนกับการพินิจพิจารณาสิ่งบางสิ่งที่กำลังจับไว้ในมือ
จนเข้าใจว่ามันคืองู
ขี้คร้านจะรีบสะบัดมือทิ้งสิ่งที่กำลังจับไว้นั้น แล้วมือก็ว่างเปล่าเอง
 โดยไม่ต้องเสียเวลาศึกษาก่อนหรอกว่า
 มือที่ว่างเปล่า เป็นอย่างไร

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 28 สิงหาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : อุบายสลายกาม

อุบายสลายกาม

 กามนั้นจำแนกเป็นสองส่วนคือ วัตถุกาม กับกิเลสกาม

วัตถุกามได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่

และแม้จะไม่เจอของจริง หรือวัตถุจริงๆ

แต่บางทีจิตก็เข้าไปตั้งยึดอยู่ในกามสัญญา

เช่นมโนภาพเกี่ยวกับสาวงาม เป็นต้น

ส่วนกิเลสกาม หรือกามราคะ เป็นความกำเริบของจิต

ที่เข้าไปรักใคร่ ผูกพันกับวัตถุกาม

 

นักปฏิบัติเมื่อผจญการคุกคามของกิเลสกาม

ก็มีอุบายหลายอย่างที่จะต่อสู้เอาตัวรอด

เช่นพิจารณาวัตถุกามให้เห็นเป็นของไม่สวยงาม

บางทีก็เพ่งที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เบี่ยงเบนความสนใจเสีย

เช่นเพ่งลมหายใจ เพ่งพุทโธ

บ้างก็พยายามดูจิต โดยหวังให้พ้นจากการคุกคามของกิเลสกาม

 

แต่หลายคราวคงพบว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไร

จิตก็ยังถูกกิเลสกามครอบงำอยู่นั่นแหละ

วันนี้จึงมีอุบายง่ายๆ มาแนะนำกันอีกอย่างหนึ่ง

พอเป็นเครื่องเล่นของนักปฏิบัติ

 

คือเวลาที่จิตถูกกิเลสกามครอบงำ จนไม่มีกำลังจะดูจิตได้จริง

ยิ่งพยายามดิ้นรน อยากจะให้จิตพ้นการครอบงำของกิเลส ก็ยิ่งทุกข์มากยิ่งขึ้น

ก็ให้ลองเปลี่ยนอารมณ์ ไปรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียก่อน

เช่นหันไปมองสาวสวยหรือหนุ่มหล่อที่ชอบใจให้เต็มตาเสียเลย

แล้วจับความรู้สึก/ความรับรู้แรก ที่เห็นรูปในแว้บแรกให้ทัน

 (ตรงนี้เป็นการเล่นเกมส์ที่ไม่เหมาะกับพระหนุ่มๆ เพราะถ้าพลาดก็แย่ไปเลย)

 

ความรู้สึกแรกนั้น มันเป็นกลาง เฉยๆ เบิกบาน อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว

ถ้าจับความรู้สึกนี้ทัน ก่อนที่มันจะปรุงเป็นกิเลสกามขึ้นมา

จิตจะพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลสกามทันที

เพราะจิตดวงเก่าที่ถูกกิเลสกามครอบงำ

มันตายไปแล้วเมื่อเรามีจิตดวงใหม่ไปรู้อารมณ์ใหม่

ส่วนจิตดวงใหม่ก็ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอันว่องไว

ยังไม่ถูกกิเลสกามครอบงำ

ถ้าจับจุดนี้ทัน ต่อให้นาวงามสามโลกมาเดินอยู่ต่อหน้า

จิตก็จะเพียงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็นรูป

เพราะจิตใหม่มีสติสัมปชัญญะ

พ้นจากการครอบงำของกิเลสกามที่เคยกลุ้มรุมไปได้แล้ว

หลังจากนั้น ก็คอยดูจิตต่อไปอย่างที่เคยฝึกหัดกันมา

 

ผมเคยสังเกตจิตใจของผู้ปฏิบัติในสายอภิธรรมหลายสำนัก

พบว่าเขาพยายามใช้สติ ระลึกรู้ความรู้สึกแรกที่ตากระทบรูป

หรือเท้ากระทบพื้น อยู่เหมือนกัน

แต่ถ้าเขาไม่มีสัมปชัญญะจริง ไม่มีธรรมเอกหรือสัมมาสมาธิจริง

จิตของเขาจะเคลื่อนเข้าไปจ่ออยู่ในรูปที่รู้

อันเป็นการเสียสมรรถนะที่จะรู้อารมณ์ด้วยจิตที่เป็นกลางไปในทันที

ดังนั้น เมื่อจับความรู้สึกแรกได้แล้ว

ระวังอย่าให้จิตเคลื่อนหลงเข้าไปในความรู้สึกนั้นนะครับ

มันจะกลายเป็นการทำสมถะ ทั้งที่แขวนป้ายว่า กำลังทำวิปัสสนาอยู่

 (ที่เล่ามานี้เป็นการยกตัวอย่างการดำเนินของจิต

แบบเล่าสู่กันฟังภายใน “บ้านของชาววิมุตติ” ที่เป็นญาติมิตร พี่น้องกัน

ไม่มีเจตนาไปล่วงเกิน หรือชวนทะเลาะกับท่านผู้หนึ่งผู้ใดนะครับ

เพราะวิมุตติ ไม่ใช่ที่สาธารณะ แต่เป็นที่เฉพาะสมาชิกเท่านั้น)

 

น้องๆ หลานๆ นักปฏิบัติ จะลองวิธีนี้เล่นบ้างก็ได้

ถือเป็นการเล่มเกมส์กับกิเลส ประเภทใครดี – คนนั้นอยู่ทีเดียว

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 14 กรกฎาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การปฎิบัติในรูปแบบ

การปฎิบัติในรูปแบบ

การนั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำวัตรสวดมนต์

ไม่จำเป็นนักกับคนที่มีสมาธิ และมีสติสัมปชัญญะต่อเนื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน

แต่คนส่วนมาก ไม่ได้มีสมาธิและสติสัมปชัญญะจริงนะครับเจื้อย

การปฏิบัติธรรมตามรูปแบบ จึงจำเป็นสำหรับคนบางคน

แต่ก็เป็นเครื่องรุงรังสำหรับคนบางคน ที่เขาพร้อมมากแล้ว

 

อาจะยกตัวอย่างให้ฟังท่านหนึ่ง คือหลวงพ่อทูล

ในขณะที่ท่านเข้าถึงธรรมนั้น ท่านได้ฌาน 8 โดยอัตโนมัติด้วย

เพราะท่านอบรมสมาธิจิตมาดีแล้วตั้งแต่อดีต

เพียงทำความสงบนิดหน่อย ท่านก็สามารถมีสติปัญญาอยู่ในชีวิตประจำวัน

แล้วพัฒนาจิตใจไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

แต่คนอื่นที่จะเอาอย่างท่านนั้น ลำบากสักหน่อยครับ

เพราะแทนที่จะเป็นการเจริญปัญญาจริงๆ ในชีวิตประจำวัน

ก็อาจจะกลายเป็นการคิดๆ เอา แล้วกิเลสหลบในอยู่เฉยๆ ได้ง่ายๆ

 

สมาธินั้นจำเป็นสำหรับการบรรลุมรรคผลครับ

ถ้ายังไม่มีก็ต้องทำให้มี

ถ้ามีแล้วก็ต้องรู้จักใช้ประโยชน์เพื่อหนุนปัญญา

ให้ฉลาดแหลมคมขึ้นไปเป็นลำดับๆ

แต่การทำสมาธิหรือปฏิบัติธรรมตามรูปแบบ

สำหรับคนที่หลอมรวมการปฏิบัติเข้าในชีวิตจริงได้แล้ว

ก็ไม่มีความสำคัญมากนัก

เพราะในขณะที่เจริญสติสัมปชัญญะอยู่นั้น

หากจิตฟุ้งซ่าน หรือต้องการพักในสมาธิ

ผู้ปฏิบัติก็สามารถกำหนดจิตเข้าพักในความสงบได้เป็นระยะๆ ไป

ซึ่งก็คือการทำสมาธินั่นเอง แต่ไม่ได้ทำให้คนอื่นเห็นได้เป็นรูปธรรม

เพราะเป็นงานภายในล้วนๆ ทีเดียว

 

อาเคยอ่านธรรมะของคุณ XXXX แล้วรู้สึกถึงใจมาก

จึงนำมาให้ได้อ่านด้วย ดังนี้

ขอทุกย่างก้าว จงเป็นโอกาสแห่งการเดินจงกรม

ขอทุกลมหายใจ จงเป็นโอกาสแห่งการเจริญสติ

ขอทุกคำพูด จงเป็นโอกาสแห่งเมตตาและสัจจะ

ขอทุกความคิดและการกระทำ จงเป็นสัมมาทิฏฐิ

 

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงการปฏิบัติตามรูปแบบ

ถ้ายังไม่ได้อย่างนี้ การทนๆ ทำตามรูปแบบ ก็มีประโยชน์มากเช่นกัน

อาจึงไม่อาจสรุปชี้ขาดไปทางใดทางหนึ่งตามที่ต้องการได้

ว่าการปฏิบัติตามรูปแบบ จำเป็นหรือไม่

อย่างพระหนุ่มเณรน้อยตามวัดป่านั้น

ถ้าไม่มีกิจวัตรต้องทำวัดสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม

ก็อาจจะไม่ปฏิบัติเลยก็ได้

เพราะยังไม่มีฉันทะที่จะปฏิบัติเองโดยไม่ถูกบังคับ

 

หรืออย่างพวกเราส่วนมาก มีสิ่งดึงดูดไปทางโลกมาก

ถ้าบังคับตนเองให้ทำกิจวัตรหรือปฏิบัติตามรูปแบบไว้บ้าง

จะช่วยเสริมกำลังใจได้มากครับ

มิฉะนั้นก็จะขี้เกียจปฏิบัติ

แต่ปลอบใจตนเองว่า เราปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน

 

เราหลอกตนเองได้ แต่หลอกกิเลสไม่ได้หรอกครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : แก่นของการปฎิบัติธรรม

แก่นของการปฎิบัติธรรม

การทำสมาธิ จะนั่งท่าไหนก็ได้ จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้

แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ต้องนั่งท่านั้น หันไปทิศนี้ ฯลฯ

หรือการเดินจงกรม ก็คือการก้าวไปอย่างมีสติ

ให้เราสนใจแก่นคือการมีสติขณะที่เดินอยู่ทุกย่างก้าว

เพราะการเดินจงกรม ไม่ได้หมายถึงการเดินเหม่อกลับไปกลับมา

แต่ทุกย่างก้าวจะต้องมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่เสมอ

ถึงอยู่ในอิริยาบถอื่น ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่เสมอเช่นกัน

ส่วนการสวดมนต์ไหว้พระ ก็ต้องไหว้ให้ถึงใจ

คือระลึกถึงพระรัตนตรัยด้วยความมีสติ มีความสงบเบิกบาน

ไม่ใช่นั่งท่องปาวๆ ไปเฉยๆ แบบเด็กท่องอาขยาน

 (ไม่ทราบว่าเด็กเดี๋ยวนี้ยังท่องกันหรือเปล่า)

 

 แล้วการปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้อาศัยลูกฟลุ้ค

เช่นปล่อยตามใจชอบ นึกได้เมื่อไรก็ทำเมื่อนั้น

แต่จำเป็นจะต้องปลูกฉันทะคือความพอใจที่จะมีสติสัมปชัญญะไว้ในใจ

พอมีฉันทะแล้ว วิริยะคือความเพียรก็จะเกิดขึ้น

เราจะขยันเจริญสติสัมปชัญญะโดยอัตโนมัติ

ไม่ใช่รีบมาดูเอาตอนที่กำลังจะได้พบครูบาอาจารย์เท่านั้น

แล้วจิตก็จะเกิดความใส่ใจ เกิดความใคร่ครวญในธรรม

มีความเบิกบานบันเทิงใจในการปฏิบัติธรรมไปได้ตลอดสาย

ไม่รู้สึกฝืดหรือฝืนใจที่จะปฏิบัติ แต่สนุกที่จะปฏิบัติ

 

พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเสมอในเรื่องการมีความเพียร

แต่การเพียรนั้น ไม่ใช่เอาแรงเข้าแลกอย่างเดียว

และก็ไม่ได้สู้แบบมวยวัด ไม่รู้เหนือรู้ใต้

แต่ให้มีสติสัมปชัญญะรู้ของจริงในกายในจิตไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ

เพราะแก่นของการปฏิบัติอยู่ที่การเจริญสติสัมปชัญญะให้ถูกต้องและต่อเนื่อง

ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ พิธีการ อันเป็นเพียงเปลือกนอก

ของการทำสมาธิ สวดมนต์ เดินจงกรม ฯลฯ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : คุยเรื่องพระโสดาบัน

คุยเรื่องพระโสดาบัน

ได้คุยกับคุณสุรวัฒน์ด้วยว่า

คนเราวาดภาพพระอริยบุคคลเสียเกินจริงไปมาก

เมื่อตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก การปฏิบัติก็ต้องทำให้ยากเพื่อให้สมศักดิ์ศรีกัน

เหมือนอย่างจะเรียนปริญญาเอก ก็ต้องมีอะไรๆ ให้สมกับจะเป็นดอกเตอร์สักหน่อย

 

ทั้งที่ความจริงแล้ว พระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์เพียงแค่ความพ้นทุกข์

ไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้อะไรมากมายเลย

และพระโสดาบันบุคคล ก็เพียงแค่ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตนเท่านั้น

ส่วนกิเลสก็เพียงละโลภะหยาบๆ ที่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิได้เท่านั้น

ดังนั้นแม้จะมีศีล 5 แต่ความรู้สึกนึกคิดอื่นๆ ในการดำรงชีวิต

ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับเมื่อยังเป็นปุถุชนมากนัก

ยังมีรัก โลภ โกรธ และหลงที่ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิอยู่เต็มหัวใจ

ถ้าไม่เข้าใจความจริงเหล่านี้ เกิดไปเจอพระโสดาบันที่ยังโสดๆ

แล้วคิดว่าท่านเหมือนพระอิฐพระปูน มันจะยุ่งทีหลังครับ :)

 

ถ้าเข้าใจความจริงเหล่านี้แล้ว ก็ขอให้พากันแก้มิจฉาทิฏฐิ

ด้วยการมีสติสัมปชัญญะเรียนรู้ขันธ์ 5 หรือกายกับจิตตนเองให้มาก

อย่าไปเสียเวลาทำอะไรให้ยุ่งยากซับซ้อนเกินไปเลยครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การปฎิบัติธรรมเป็นเรื่องง่าย

การปฎิบัติธรรมเป็นเรื่องง่าย

การปฏิบัติจะยากอะไรกันครับ

เพียงลืมตาตื่น สัจจธรรมก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้ว

เพราะธรรมะก็คือธรรมชาติแท้ๆ แต่ถูกความคิดปิดบังเอาไว้จนมิดชิด

เช่นความเกิดแก่เจ็บตาย มันเป็นเรื่องธรรมดาแท้ๆ เรารู้จักกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว

แต่จิตยอมรับความจริงไม่ได้

คอยคิดแต่เรื่องไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย

บางบ้านถึงกับสั่งสอนกันไม่ให้คิด ไม่ให้พูดเรื่องความตาย หรือโรคร้ายแรง

ก็เพราะเกลียดกลัวความจริงเสียเหลือเกิน

 

การปฏิบัติธรรมก็เป็นเพียงการหันกลับมาเผชิญหน้ากับความจริง

เอาของจริงๆ มายืนยันให้จิตเห็นจนสุดปัญญาที่จะคิดดีดดิ้นไปทางอื่นได้

แล้วยอมจำนนต่อความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างของสังขาร

เมื่อปล่อยวางเลิกดิ้นรนแล้ว

ก็จะเข้าใจถึงธรรมชาติที่เหนือความคิดนึกปรุงแต่งได้

 

ธรรมแท้ซุกซ่อนอยู่ในกายในจิตนี้ เหมือนเพชรที่ซ่อนอยู่ในกองขยะ

ถ้าเอาแต่เบือนหน้าหนีกองขยะ ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากสนใจ

เพราะอยากรู้เห็นแต่ของสวยงามลวงโลกทั้งหลาย

เมื่อไรจะค้นพบเพชรงามเม็ดนี้ได้

ส่วนคนที่ตั้งใจปฏิบัติ เจริญสติรู้ลงมาในกายในจิตอันสกปรกโสโครกนี้

ค่อยคุ้ยค่อยเขี่ยสิ่งที่ปกปิดออก เขาก็ค้นพบเพชรงามได้ไม่ยากอะไรนัก

 

เมื่อวานนี้ผมก็บอกกับพวกเราหลายคน เหมือนที่บอกมาตลอดว่า

การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่ายแสนง่าย

เพียงแต่คอยรู้ความจริงที่กำลังปรากฏเรื่อยไปเท่านั้นเอง

แต่คนเราไม่ชอบของง่าย เพราะรู้สึกว่ามันง่ายเกินไปจนไม่น่าเชื่อถือ

ก็พยายามปฏิบัติธรรมให้ยุ่งยาก ด้วยการใช้ความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ นานา

สร้างกระบวนการปฏิบัติที่มากมายซับซ้อนขึ้นมา

เช่นต้องกำหนดอย่างนั้น ต้องทำท่าอย่างนี้ ต้องมีข้อวัตรต่างๆ อย่างนั้นๆ

แทนที่จะมีสติสัมปชัญญะรู้เข้ามาในกายในจิตตนเองอย่างซื่อๆ ตรงๆ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Page 3 of 1012345...10...Last »