Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ

ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ

เรื่องการกำหนดจิตผิดก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ

ส่วนมากก็เรื่องเผลอ กับเรื่องเพ่ง โดยไม่รู้ทันนี่เอง

จิตจึงไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยความเป็นกลาง หรือสักแต่รู้ได้

 

นักปฏิบัติอย่าไปกังวลสนใจว่า เราจะเดินอย่างไรให้ถูกตรงทุกองศา

ถ้าคิดจะเดินให้ถูก ก็จะผิดทันที เพราะจะเกิดการเสแสร้งแกล้งปฏิบัติขึ้นมา

เช่นการกดข่มจิตใจ การเพ่งจ้อง ฯลฯ

ที่เหมาะที่ควร เอาแค่ว่า อย่าให้ผิด ด้วยการเผลอและการเพ่ง

เมื่อไม่ผิดแล้ว ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องถูก มันจึงจะถูกได้จริง

ถ้ายังคิด ยังทำเรื่องถูก ยังไงก็ไม่ถูกครับ

 

ดังนั้นเวลาปฏิบัติอย่าไปกังวลใจใดๆ

ให้รู้เท่าทันกายใจของตนไปตามธรรมชาติธรรมดา

ยิ่งเป็นธรรมชาติธรรมดามากเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น

เพราะความจริงแล้ว ธรรมะก็คือเรื่องธรรมดานี่เอง

กิเลสต่างหาก ที่ทำให้การปฏิบัติธรรมกลายเป็นสิ่งยุ่งยากไปหมด

 

เมื่อวันเสาร์ก่อนผมไปที่วัดป่า____ เพื่อกราบเยี่ยมครูบา__

ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่ง อายุมากกว่าผม เธอเข้ามาถามธรรมะ

เมื่อผมอธิบายถึงสภาวะ “รู้” จนเธอเข้าใจและเห็นตามได้แล้ว

เธอก็อุทานออกมาว่า “ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ

แต่เธอเสียเวลาปฏิบัติ ทำโน่นทำนี่อยู่หลายสิบปี

เพราะไม่มีใครบอกให้เธอลืมตาตื่นต่อธรรมะที่เต็มบริบูรณ์อยู่ต่อหน้าแล้ว”

 

ดังนั้น จิตมีกิเลส ก็รู้ว่ามีกิเลส

จิตมีกุศล ก็รู้ว่ามีกุศล

จิตตั้งมั่น ก็รู้ว่าตั้งมั่น

จิตไม่ตั้งมั่นเพราะทะยานไปตามแรงผลักของตัณหา ก็รู้ทันมัน

ทำไปเถอะครับ ถ้ารู้ทันจริงๆ แล้ว ไม่ต้องไปคิดเรื่องผิดถูกอะไรหรอก

เพราะบรรดาความผิดทั้งหลายนั้น

มันมาจากความไม่รู้ทันมารยากิเลสที่มาหลอกจิตใจ

จึงไม่เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง

เท่านั้นเอง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : หลายคนในตัวเรา

หลายคนในตัวเรา

เวลาเรามีสติสัมปชัญญะแล้วใช้สติระลึกรู้นามธรรมในจิตนั้น
ถ้าดูได้ละเอียดจะพบคนหลายคนในตัวเรา
คนหนึ่งรู้สึกสุขทุกข์ เฉยๆ
คนหนึ่งเป็นคนคุ้ยความจำต่างๆ ขึ้นมา
คนหนึ่งเป็นคนคิด คิดตลอดเวลา แล้วพูดแจ้วๆ ไม่เลิก
คนหนึ่งเป็นคนรู้ อะไรผุดขึ้นก็มีหน้าที่รู้อย่างเดียว

ที่ดูแล้วมันกลายเป็นหลายคนนั้น ไม่แปลกหรอกครับ
คือนามทั้งหลายมันถูกจำแนกออก เป็นเวทนา สัญญาสังขาร และวิญญาณ
 เดิมสิ่งเหล่านี้ร่วมหัวจมท้ายกัน คอยก่อปัญหาให้เรา
คือมันรวมกันเข้ามาเป็นความรู้สึกว่า เรา เรา เรา

เวลาปฏิบัติแล้ว จะมีกี่ตัวก็ช่างมันเถอะครับ
ให้มีตัวหนึ่งเป็นคนดู อีกตัวหรือหลายตัวก็แสดงหน้าที่ของมันไป
 อย่างนี้ก็ใช้ได้แล้วครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การภาวนาในขั้นละเอียด(จบ)

การภาวนาในขั้นละเอียด(จบ) : จนถึงวันสุดท้าย

วิปัสสนาที่แท้จริงนั้น มีแต่รู้

ไม่ต้องจงใจเติมสิ่งใดลงไปในรู้ ไม่ว่าจะเป็นศีล สมาธิ หรือปัญญา

ไม่ต้องเอาสมมุติบัญญัติ หรือความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ มาช่วยทำวิปัสสนา

ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณาโดยสิ้นเชิง

เพราะความจงใจเคลื่อนไหวใดๆ จะทำให้จิตก่อภพก่อชาติ

ก่อวัฏฏะหมุนวนขึ้นมาอีก

 

เมื่อจิตจะแหวกสิ่งห่อหุ้มออกเป็นครั้งที่ 4 นั้น

ไม่มีสิ่งใด แม้กระทั่งอวิชชาที่จะต้องละ มีแต่รู้

 (ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เมื่อรู้พอแล้ว จิตพลิกนิดเดียวก็พ้นแล้ว)

จิตกับสิ่งห่อหุ้ม หรืออุปาทานขันธ์ ก็เป็นอันหมดความผูกพันต่อกัน

ต่างคนต่างทำหน้าที่ไปตามธรรมชาติธรรมดา

เป็นจิตที่เป็นอิสระ ทำทุกอย่างเป็นกิริยาล้วนๆ

เพราะไม่มีความกระเทือนเข้าถึงกันระหว่างจิตกับอารมณ์

และไม่ต้องเอาความดีคือสติปัญญาใดๆ มาบำรุงรักษาจิตอีกต่อไป

 

จิตจะมีเพียงความรู้สึกที่เป็นกลางอย่างหนึ่ง

กับความสุขโสมนัสอีกอย่างหนึ่ง

จนถึงวันที่จะดับการสืบต่อของจิต

เหมือนไฟที่ดับลงเพราะหมดเชื้อเท่านั้น

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 18 ธันวาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การภาวนาในขั้นละเอียด(๓)

การภาวนาในขั้นละเอียด(๓) : จิตที่หลุดพ้น

จิตที่หลุดพ้นยังไม่ใช่นิพพาน นิพพานเป็นสิ่งที่จิตที่หลุดพ้นไปรู้เข้าเท่านั้น

เมื่อรู้แล้ว ก็ไม่อาจจับจองเป็นเจ้าของนิพพานได้

และเมื่อถึงวันดับขันธ์ จิตก็สลายไป เหมือนไฟที่ดับไป

ส่วนนิพพาน

ก็คงเป็นธรรมที่ทรงธรรมอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาของมหาสุญญตานั่นเอง

ไม่มีเกิดดับ และไม่มีใครเป็นเจ้าของครอบครองได้

 

ผู้ปฏิบัติที่จิตแหวกตนเองออกจากสิ่งห่อหุ้มแล้ว

ไม่นานสิ่งห่อหุ้มก็เข้ามาปกปิดจิตไว้อีก

การปฏิบัติในขั้นถัดจากนี้ ก็คือการเรียนรู้อริยสัจจ์แห่งจิตต่อไปนั่นเอง

 

วิธีรู้จิตในขั้นนี้ จะต้องรู้ให้เป็นรู้แท้ๆ คือไม่เจือด้วยความปรุงแต่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจงใจที่จะรู้

สภาพรู้นั้น จะไม่มีน้ำหนักแม้แต่น้อย

ถ้าเติมความจงใจลงไปในรู้ จะเกิดน้ำหนักในการเพ่งจิตขึ้นนิดหนึ่ง

การดูจิตในขั้นนี้ คล้ายกับเรามีกระดาษที่บางกริบ 2 แผ่นซ้อนกัน

ปัญญาอัตโนมัติจะต้องตัดแผ่นหน้าให้ขาด คือรู้และตัดความปรุงแต่งขาด

โดยที่ไม่เกิดรอยในแผ่นหลัง คือไม่ให้กระเทือนถึงจิต

ถ้าจงใจขึ้นสักนิดหนึ่ง แรงกดจะเกิดขึ้นทันที

 

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่จงใจดูให้เบา หรือจงใจประคองให้เบาด้วย

เพราะนั่นคือการเสแสร้งปฏิบัติ

การรู้ ที่เป็นรู้ อย่างแท้จริงนั้น ทำได้โดยอาศัยทักษะอย่างเดียวเท่านั้น

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 18 ธันวาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การภาวนาในขั้นละเอียด(๒)

 

การภาวนาในขั้นละเอียด (๒) : เมื่อจิตไปรู้นิพพาน

การปฏิบัติทุกขั้นตอน

คือการส่งทอดสติปัญญาเข้ามาเรียนรู้จิตเท่านั้นเอง

  เพราะจิตนั่นแหละคือประธานแห่งธรรมทั้งปวง

เช่นทำสมถะ ก็เพื่อระงับความฟุ้งซ่านของจิตไว้ชั่วขณะ

เพื่อให้จิตมีคุณภาพที่จะเจริญวิปัสสนา

คือการเรียนรู้ความจริงของสิ่งที่จิตไปติดยึดอยู่

เมื่อรู้จริงแล้ว จิตก็วาง รวมเข้ามาที่จิต

ก็จะได้เรียนรู้อริยสัจจ์แห่งจิต

คือเห็นว่า ความทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะจิตออกไปอยากไปยึดอารมณ์เท่านั้นเอง

 

เมื่อจิตฉลาดขึ้น จิตก็หน่ายที่จะเที่ยวแสวงหาทุกข์มาใส่ตัวเอง

จิตก็หยุดความปรุงแต่งลงอย่างสิ้นเชิง

เมื่อปราศจากความปรุงแต่ง จิตก็พ้นจากการห่อหุ้มของสิ่งปรุงแต่ง

เข้าถึงธรรมชาติแห่งความเป็นตัวของตัวเองล้วนๆ หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์

และรู้ถึงนิพพานอันเป็น สันติธรรม ที่แท้จริงเหนือกาลเวลา

 

สภาวะตรงที่จิตเข้ามารู้นิพพานนั้น

จิตจะรวมเข้าภวังค์นิดหนึ่ง โดยไม่มีความจงใจ

และเมื่อจิตทำงานขึ้นมารับรู้อารมณ์ใหม่นั้น

จิตจะประกอบด้วยฌานอันใดอันหนึ่งโดยอัตโนมัติ

และปัญญาที่ประณีตถึงที่สุด จะตัดความปรุงแต่งขาดลง

จิตก็เข้าถึงความเป็นอิสระครั้งแรกต่อเนื่องกันอย่างอัตโนมัติ

 

ตรงจุดนี้มีจิต ไม่ใช่ไม่มีจิต จัดเป็นมรรคจิต ผลจิต

เมื่อเป็นจิตก็ต้องรู้อารมณ์ ถ้าไม่รู้อารมณ์ก็ย่อมไม่ใช่จิต

อารมณ์ที่จิตรู้ ก็คือนิพพาน อันเป็นสันติธรรมที่แท้จริง

แต่บางแห่งสอนกันว่า ขณะที่เกิดมรรคผลนั้น จิตดับแบบพรหมลูกฟัก

คือวูบแล้วหมดความรู้สึกไปเลย อันนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง

ที่ไปเอาสภาวะจิตดับขณะถึงนิพพานขันธ์มาเปรียบกับมรรคจิต ผลจิต

เพราะถ้าขณะที่เกิดมรรคผลไม่มีจิต

ตำราอภิธรรมท่านคงไม่บัญญัติมรรคจิตผลจิตไว้ถึง 20 ดวงเป็นแน่

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 18 ธันวาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การภาวนาในขั้นละเอียด(๑)

การภาวนาในขั้นละเอียด(๑) : การรู้ขันธ์กับการรู้อริยสัจจ์

การรู้ขันธ์กับการรู้อริยสัจจ์ เป็นปัญญาคนละขั้นกัน

คือการรู้ขันธ์เป็นวิปัสสนาปัญญา

อันเป็นวิธีการที่จะให้จิตปล่อยวางขันธ์ที่จิตเคยยึดถืออยู่

เมื่อปล่อยวางขันธ์แล้ว จิตก็จะรวมเข้ามาที่จิต

เพื่อเริ่มกระบวนการที่เรียกว่า จิตเห็นจิต

ก็จะได้เห็นอริยสัจจ์ อันจัดเป็นโลกุตรปัญญา

 

หากไม่ผ่านวิปัสสนาปัญญา จู่ๆ จะพยายามย้อนรู้เข้ามาที่จิต

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การเพ่งจิต

จึงจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์ปรมัตถ์ของจริง

จนสามารถวางความยึดมั่นในอารมณ์ได้ แล้วจิตก็จะสงบรวมเข้ามาที่จิต

เพื่อเรียนรู้ อริยสัจจ์แห่งจิต

 

แต่บางคน แม้จะมีกำลังพอที่จะรู้ถึงจิตได้แล้ว

ก็ยังรัก ยังหวงที่จะกลับไปรู้ความเกิดดับของอารมณ์

อันเป็นเหตุให้ จิตเกิดปฏิกิริยาหมุนวนเป็นวัฏฏะต่อไปไม่สิ้นสุด

เช่นแทนที่จะระลึกรู้อยู่ที่จิต กลับหันไปรู้ลมหายใจอีก

จิตก็ต้องทำงานหมุนวนออกไปอีก

แทนที่จะ – หยุด – รู้ – อยู่ที่จิต – ซึ่งเหนือความคิดนึกปรุงแต่ง

เป็นการถ่วงตนเองให้เนิ่นช้าในการประจักษ์ถึงอริยสัจจ์แห่งจิต

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 18 ธันวาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : หลักการภาวนาสำคัญของหลวงปู่มั่น

หลักการภาวนาสำคัญของหลวงปู่มั่น

หลักปฏิบัติที่เป็นแก่นสารสำคัญของหลวงปู่มั่นก็คือ

ให้มีสติสัมปชัญญะ ศึกษาอยู่ในกายในใจตนเอง

ไม่ส่งจิตออกนอกเที่ยวรู้เที่ยวเห็น อันเป็นความฟุ้งซ่าน

หรือปล่อยจิตให้ชุ่มแช่อยู่กับสมาธิ จนไม่สนใจจะเจริญวิปัสสนาปัญญา

 

ท่านสอนว่า การทำสมาธิมากไปก็เป็นเหตุให้เนิ่นช้า

การเจริญปัญญา(อย่างเดียว) มากไปก็เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่าน

สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือการมีสติสัมปชัญญะอยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง

 

เวลานี้ เราไม่ค่อยได้ยินธรรมเหล่านี้

ส่วนมากได้ยินกันเพียงผิวๆ ว่าให้พุทโธ กันไป

พอจิตสงบแล้วให้คิดพิจารณากาย

ซึ่งทั้งหมดนั้น เป็นอุบายปฏิบัติในเบื้องต้น

เพื่อจะเข้ามาสู่ความมีสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันนี่เอง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ระวังการไปสร้างจิตผู้รู้เทียมๆ

ระวังการไปสร้างจิตผู้รู้เทียมๆ

เรื่องการจงใจสร้างความรู้ตัว หรือสร้างจิตผู้รู้เทียมขึ้นมานั้น

เป็นเรื่องใหญ่มากครับ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติผิดพลาดกันมาก

ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ด้วยจิตที่เป็นกลาง หรือจิตปกติ ได้

เช่นเมื่อตาเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ จิตก็หลงไปตามความคิดนึกปรุงแต่ง

แทนที่จะรู้รูป ตามที่รูปปรากฏ

 

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว

เช่นทรงสอนว่า จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะ

นี่แหละที่ท่านสอนให้รู้เข้าไปตรงๆ เลย และรู้แบบสักว่ารู้

แต่แทนที่ผู้ปฏิบัติจะรู้ตรงๆ ที่อารมณ์ของจริงที่กำลังปรากฏ

และรู้สักว่ารู้ ตามที่ท่านสอน

กลับไปพลิกแพลงการรู้ขึ้นมาหลายรูปแบบ

เช่นไปสร้างอารมณ์ขึ้นมาก่อน (เช่นแสงสว่าง) แล้วจึงรู้อารมณ์นั้น

อารมณ์นั้นจึงไม่ใช่ของจริง แต่เป็นของปลอมที่สร้างขึ้นมา

และขณะที่รู้ ก็ไม่ใช่รู้แบบสักว่ารู้ หรือรู้ไปด้วยจิตปกติธรรมดา

แต่ไปสร้างคุณภาพการรู้ขึ้นมาใหม่ คือทำผู้รู้ปลอมๆ เทียมๆ ขึ้นมา

สรุปได้ว่า อารมณ์ก็ผิด วิธีรู้อารมณ์ก็ผิดอีก

จึงไม่ได้ทำวิปัสสนากันเสียที

 

กรณีคุณXXXXนั้น ไม่ใช่ว่าปฏิบัติไม่ดีนะครับ

เพียงแต่ดีอยู่ตรงนี้มานานแล้ว จึงต้องกระตุ้นให้เดินปัญญาเล็กน้อย

คือให้หันมาเฉลียวใจว่า จิตยังติดบางสิ่งบางอย่างอยู่

ซึ่งการติดนี้ ติดกันทุกคน จนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์ครับ

เพียงแต่ถ้าไม่รู้ทันว่าติด ก็ก้าวต่อไปไม่ได้

ถ้าปัญญารู้ทันถึงจุดไหน ก็ปล่อยวางในจุดนั้นลงได้

 

มีเพื่อนคนหนึ่งเมล์มาบอกผมว่า

พวกเราบางคนคิดจะปฏิบัติด้วยการหยุดอยู่กับจิตผู้รู้

เพราะว่าได้พบจิตผู้รู้แล้ว

ผมฝากให้สังเกตจิตใจอย่างละเอียดนะครับ

เพราะผู้รู้อันนั้น ยังเป็นผู้รู้เทียมที่สร้างขึ้นมาด้วยสมถะ

ไม่ใช่จิตผู้รู้ที่เป็นปกติ เป็นธรรมชาติธรรมดาแต่อย่างใด

และผู้ที่จะปฏิบัติด้วยการหยุดพฤติกรรมของจิต(ด้วยปัญญา) แล้วรู้อยู่ที่รู้ นั้น

ต้องเป็นพระอนาคามีแล้วครับ

นอกนั้นจิตยังเคลื่อน ยังฝัน ยังมีพฤติกรรม ยังปรุงแต่งออกไปภายนอกทั้งสิ้น

หากนึกๆ ให้หยุดเอาตามใจชอบ จะกลายเป็นการจอดรถในที่ห้ามจอดนั่นเอง

สิ่งที่ควรทำขณะนี้ก็คือ การหัดรู้ตัวให้เป็น รู้ว่าอันใดจิต อันใดอารมณ์

รู้เท่าทันพฤติกรรมของจิต ที่มันหลงไปบ้าง มันเพ่งไปบ้าง

เมื่อสามารถรู้ทันพฤติกรรมของจิตได้แล้ว

จึงจะเริ่มรู้ปรมัตถ์ในฝ่ายนามธรรมได้

แล้วจึงมีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ด้วยจิตที่เป็นกลางๆ คือเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์

เป็นจิตที่ไม่ถูกนิวรณ์ครอบงำนั่นเอง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันพุธ ที่ 31 มกราคม 2544

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จิตป่วยกับจิตสุขภาพดี

จิตป่วยกับจิตสุขภาพดี

จิตที่ใช้เจริญวิปัสสนานั้น ได้แก่ จิตที่เป็นปกติธรรมดาที่สุดของมนุษย์นี้เองครับ

 (ภูมิของมนุษย์ จึงเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าท่านมาตรัสรู้กัน เพราะเหมาะสมมาก)

ดังนั้น เมื่อจะทำวิปัสสนา ก็ให้รู้อารมณ์ของจริง ไปด้วยจิตที่เป็นปกติธรรมดานี่เอง

ไม่ต้องไปดัดแปลงจิตให้ เงียบ ขรึม ซึม นิ่ง ดิ่ง สว่าง ฯลฯ

 

แต่คนทั้งหลายนั้น มี จิตผิดปกติ ป่วยไข้ไปด้วยอำนาจของกิเลสอยู่เสมอๆ

ไม่มี จิตปกติ ที่จะเจริญวิปัสสนาได้จริงๆ

ดังนั้นในขั้นต้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรักษาพยาบาลจิตที่ป่วยไข้ ให้เป็นจิตปกติเสียก่อน

 

เชื้อโรคร้ายที่ทำให้จิตป่วยไข้ มีอยู่ 5 ตัวด้วยกัน คือนิวรณ์ 5

ได้แก่ ความพึงใจในความสุขอย่างโลกๆ ความพยาบาทขุ่นเคืองใจ

ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ และความลังเลสงสัย

ถ้าสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในจิตใจ ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้ตรงเข้าไปที่นิวรณ์เหล่านี้เลย

เช่นเมื่อเกิดความลังเลสงสัยว่า เอ เราจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องนะ

แทนที่จะไปคิด หรือถามหาคำตอบ (ซึ่งจะหาไม่ได้)

ก็ให้ผู้ปฏิบัติมีสติระลึกรู้ตรงเข้าไปที่ความรู้สึกลังเลสงสัย เลยทีเดียว

 (ไม่ใช่ไปดูเรื่องที่สงสัยนะครับ ให้รู้เข้าไปที่ตรงความรู้สึกสงสัย

ซึ่งเราทำคนรู้ได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ

เหมือนอย่างที่เรารู้ว่า เราโกรธ เรารัก เราสบายใจ เราไม่สบายใจ นั่นเอง)

 

ทันทีที่จิตรู้ทันว่า กำลังสงสัยอยู่นั่นเอง

จิตก็เข้าถึงความเป็นปกติแล้ว คือเปลี่ยนจากผู้สงสัย เป็นผู้รู้ความสงสัย

 

จิตปกติธรรมดาของมนุษย์ อันเป็นจิตที่สุขภาพดีนั้น

เป็นเพียงจิตปกติ เป็นธรรมชาติธรรมดาที่สุด

มันจะทำหน้าที่รู้อารมณ์ทั้งปวงด้วยความเป็นกลาง

ไม่หลง ทั้งหลงแบบเผลอ หรือหลงเพ่ง

ไม่หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

และไม่จมลงไปในโลกของความคิดและจินตนาการ

เป็นจิตที่มีความรู้ ตื่น และเบิกบานน้อยๆ

 

ทันทีที่รู้ว่าเผลอ ทันทีที่รู้ว่าเพ่ง ทันทีที่รู้ว่าโกรธ ทันทีที่รู้ว่ารัก

ทันทีที่รู้ว่าสุข ทันทีที่รู้ว่าทุกข์ ทันทีที่รู้ว่าจงใจปฏิบัติ ฯลฯ

ตรงนั้นแหละ จิตจะเป็นจิตปกติธรรมดาที่สุดแล้ว

แต่ถัดจากนั้น ผู้ปฏิบัติก็จะก้าวไปสู่ความหลงผิดรอบใหม่

โดยเกิดความตั้งใจที่จะรักษาจิตที่รู้ตัว หรือรักษาความรู้ตัวเอาไว้นานๆ

นับว่าผู้ปฏิบัติพลาดเสียแล้ว

คือพลาดจาก การรู้ สภาวธรรมที่กำลังปรากฏในปัจจุบันด้วยจิตที่ปกติที่สุด

ไปสู่ การคิด เตรียมการเพื่อให้ความรู้ตัวต่อเนื่อง อันเป็นเรื่องของอนาคต

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อังคาร ที่ 30 มกราคม 2544

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ข้อพึงระวังของผู้เจริญวิปัสสนา

ข้อพึงระวังของผู้เจริญวิปัสสนา

พอผู้ปฏิบัติ นึกถึงการปฏิบัติธรรม

ก็เกิดความรู้สึกว่า จะต้องทำอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่าง

จึงจะสมกับที่เรียกว่า “การปฏิบัติ” ธรรม

แล้วสิ่งที่กระทำทั้งหมดนั้น ก็คือการทำสมถะล้วนๆ

ในขณะที่การเจริญวิปัสสนานั้น ไม่มีการกระทำใดๆ เลย

นอกจากรู้อารมณ์ตัวจริงทั้งปวงไปด้วยจิตที่เป็นกลางเท่านั้น

 

การรู้ตามความเป็นจริง คือสิ่งที่พวกเราไม่คุ้นเคย

เพราะเราเคยชินกับ “การทำอะไรบางอย่าง” มากกว่าการ รู้

วิปัสสนาซึ่งเป็นเรื่องง่าย จึงกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยากไปเลย

 

ดังนั้น ก่อนที่จะเจริญสติ หรือทำวิปัสสนา

เราจะต้อง รู้ หรือเจริญสติ ให้เป็นเสียก่อน

ถ้ายังไม่ทราบว่า รู้ หรือการมีสติสัมปชัญญะที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

แล้วไปลงมือเจริญสติเข้า ก็อดที่จะเจริญสติอย่างผิดๆ ไม่ได้

เข้าลักษณะ ยิ่งทำ ก็ยิ่งผิด คือยิ่งเพ่งจ้องหนักขึ้นทุกทีๆ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ญาณ ปัญญา และวิชชา

ญาณ ปัญญา และวิชชา

หลวงพ่อพุธท่านเคยอธิบายความหมายและความสัมพันธ์

ของ ญาณ(ความหยั่งรู้) ปัญญา และวิชชา เอาไว้อย่างน่าฟังมากครับ

ทั้ง 3 ตัวนี้เป็นเรื่องของปัญญาด้วยกัน แต่มีความแตกต่างกัน

 

ท่านอธิบายว่า ญาณเป็นความหยั่งรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เมื่อหยั่งรู้อยู่นั้น ก็จะมีปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของธรรมกำลังที่ปรากฏ

เมื่อเจริญปัญญาคือเห็นอารมณ์เป็นไตรลักษณ์นั้น

จิตก็จะเริ่มเรียนรู้อริยสัจจ์ไปทีละน้อย

คือเห็นว่าเมื่อใดจิตอยากและยึดอารมณ์ จิตก็ทุกข์

เมื่อใดพ้นจากความอยากและความยึด ก็ไม่ทุกข์

ถึงจุดหนึ่ง จิตจะรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจจ์ อันนี้จึงเป็นวิชชา

 

ตามคำอธิบายของท่าน การ รู้ ตามหลักสติปัฏฐาน

จะทำให้เกิดทั้งญาณ ปัญญา และวิชชา

อันนี้เพิ่งนึกได้เพราะฟังมานานแล้ว เห็นว่าคำอธิบายของท่านน่าฟังดี

ก็เลยนำมาฝากหมู่เพื่อนฟังประดับความรู้ไว้ครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ความเมตตา

ความเมตตา

เรื่องของความเมตตานั้น มีได้หลายระดับครับ

ในทางโลกก็มีความเมตตา แบบมีผู้เมตตา และมีผู้ที่รับความเมตตา

เช่นมีพ่อมีแม่ ที่ให้ความเมตตาต่อลูกของตน

มีคนใจบุญ ที่เมตตาต่อคนอื่น หรือสัตว์อื่น

ความเมตตาระดับนี้ ยังค่อนข้างแปรปรวนง่าย

เช่นพ่อแม่เมตตาลูกแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นราคะ คือเกิดผูกพันเป็นเจ้าของ

หรือคนใจบุญ อาจจะเลิกเมตตาคนบางคน

เพราะไอ้หมอนั่นมันพูดกวนโทสะ ขึ้นมา เป็นต้น

 

อุบายที่จะให้เกิดความเมตตาระดับนี้ ก็มีอยู่มากมาย

เช่นสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่น มองผู้อื่นเหมือนลูกหลาน

หรือคิดถึงอกเขาอกเรา เห็นเขาเคยคิดผิด ทำผิด เหมือนเราเมื่อก่อน

แล้วเขาก็จะต้องจมกับผลทุกข์ที่ตามมา เหมือนที่เราเคยทุกข์มาก่อน ฯลฯ

 

ความเมตตาอีกชนิดหนึ่ง เป็นความเมตตาแบบเหนือโลก

ผู้เมตตานั้นท่านประจักษ์ชัดถึงความประจวบมีขึ้นเป็นคราวๆ ของสรรพสิ่ง

ไม่มีเขา ไม่มีเรา แต่กระแสเมตตาก็เกิดขึ้นได้

เพราะจิตของท่านปราศจากศัตรูของความเมตตา

 (คล้ายกับที่สมาธิเกิดขึ้น เพราะจิตปราศจากนิวรณ์อันเป็นศัตรูของสมาธิ)

เมตตาชนิดนี้ ผ่องใส เยือกเย็น อบอุ่น (แปลกนะครับ ทั้งเย็นทั้งอุ่น)

เบิกบาน แผ่ไพศาลไม่มีประมาณ

และเสมอกันหมดแก่ “สัตว์” ทั้งปวง

 

จิตที่จะเกิดเมตตาชนิดนี้ได้ ไม่ต้องอาศัยอุบายอะไรเลย

ไม่ยุ่งยากและแปรปรวนเหมือนความเมตตาแบบโลกๆ เสียด้วยสิ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อังคาร ที่ 12 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : พุทโธยอดกรรมฐาน

พุทโธยอดกรรมฐาน

พุทโธ เป็นกำลังเสริมการดูจิตได้ดีมากครับ

หากทำพุทธานุสติเป็น ไม่เพียงจิตใจจะสงบเท่านั้น

กระทั่งนิพพานก็ทำให้ถึงได้ (ถ้าทำเป็น)

ดังที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมไว้ว่า

พุทธานุสติ ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

 (เอกธัมมาทิบาลี เอกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก-เล่ม 20 หัวข้อที่ 179 – 180)

  (แต่การท่องพุทโธแบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่ใช่พุทธานุสตินะครับ)

 

หลวงปู่หล้า แห่งภูจ้อก้อ ก็เคยสอนว่า

 พุทโธอันเดียวนี้ ก็ทำให้ถึงที่สุดได้

 

คือถ้าเราบริกรรมพุทโธระลึกถึงพระพุทธเจ้า

  จนเป็นอารมณ์อันเดียวของจิต ก็เป็นสมถะ

ถ้าเราบริกรรมพุทโธ เพื่อประคองความรู้ตัว ก็เป็นเครื่องมือทำวิปัสสนาได้

กระทั่งจะเอาความตรึกว่าพุทโธ มาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาก็ยังได้

เพราะความตรึกหรือวิตก เป็นสังขารขันธ์ที่แสดงความเกิดดับเป็นไตรลักษณ์

มันมีสภาวะหรือปรมัตถ์เหมือนสังขารตัวอื่นๆ นั่นเอง

แต่ที่สำคัญ อย่าให้จิตหลงเข้าไปในบัญญัติของคำว่าพุทโธก็แล้วกันครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน 14 ม.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ความแตกต่างในการทำงานของนักภาวนา

ความแตกต่างในการทำงานของนักภาวนา

ผมสังเกตเห็นความแตกต่างในการทำงาน

ระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติ อยู่ 3 – 4 ประการครับ

อย่างแรกคือถ้าเกิดความเครียด ผู้ปฏิบัติจะรู้ทัน แล้วปล่อยวางได้เร็ว

ถ้าเกิดความฟุ้งซ่าน ก็จะตั้งสติจดจ่อลงกับงานได้เร็ว

ถ้าพบจุดที่ติดขัดทางความคิด ก็จะถอนตัวออกมาเป็นคนดู

หรือเหมือนคนขึ้นไปยืนบนที่สูง หาทางออกจากจุดที่ติดขัดง่าย

และเพราะไม่ยึดติดรุนแรงในความคิดและวิธีการทำงาน

ก็หาแนวความคิดใหม่ๆ หรือวิธีการทำงานใหม่ๆ ได้เสมอๆ

ประการสำคัญคือ ทำงานเป็นทีมได้ดีครับ เพราะเห็นแก่ตัวน้อยหน่อย

 

แต่ทั้งนี้ หมายถึงผู้ปฏิบัติที่เจริญสติสัมปชัญญะนะครับ

ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติที่ติดสมถะ จะหนีโลก และโมโหง่ายกว่าคนปกติ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การปฏิบัติธรรมที่ดีต้องทำในชีวิตจริง

การปฏิบัติธรรมที่ดีต้องทำในชีวิตจริง

ทำใจให้สบายๆ อย่าเผลอ และอย่าเพ่งจ้อง

แล้วปฏิบัติธรรมไปตอนที่มีผัสสะ

คือตอนที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง … ใจคิดนึก นั่นแหละครับ

 

อย่างเช่น เราเห็นเด็กสองคนเดินมาด้วยกัน

คนหนึ่งเป็นลูกเรา อีกคนหนึ่งเป็นหลานเรา

ลองสังเกตความรู้สึกที่แตกต่างกันในใจของเราดู

จะพบความแตกต่างของระดับราคะ และความลำเอียงได้ไม่ยากเลย

 

หรือถ้าเราได้ยินเสียงเพลง จะพบว่า บางเพลงจะชอบมากกว่าบางเพลง

กระทั่งอ่านทางนฤพาน หรือดูละคร

ก็จะพบว่าแต่ละบท แต่ละตอน มีความชอบไม่เท่ากัน

บางตอนก็มีราคะ บางตอนมีโทสะ บางตอนสนุก บางตอนเบื่อ ฯลฯ

 

การปฏิบัติธรรมที่ดี ต้องทำในชีวิตจริง ตอนที่มีผัสสะนี่แหละครับ

พอมีผัสสะแล้ว ก็คอยวัดจิตวัดใจตนเองเรื่อยๆ ไป

ไม่นานก็จะรู้เองว่า อะไรคือนาม อะไรคือรูป อะไรคืออารมณ์ อะไรคือจิต

กิเลสอกุศลเป็นอย่างไร บุญกุศลเป็นอย่างไร ตัณหาเป็นอย่างไร

และรู้ชัดว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงล้วนแต่แปรปรวนไม่แน่นอน เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

แล้วในแต่ละวัน ควรหาเวลา

เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิสักช่วงหนึ่งให้เป็นกิจวัตรไว้ด้วย

จะช่วยให้มีกำลังในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากขึ้น

 

หัดอยู่อย่างนี้ ไม่ยากอะไรหรอกครับ

อย่าเบื่อ อย่าชี้เกียจ และอย่าคิดสงสัยมากนักก็แล้วกัน

ถึงไม่ได้มรรคผลนิพพานอย่างใจนึก

แต่การจะประคองตัวอยู่กับโลก

ก็จะอยู่ได้อย่างทุกข์น้อยลง ให้เห็นได้ทันตาแล้วครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อังคาร ที่ 25 กรกฎาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เปรียบการภาวนาดั่งมวย (๑)

เปรียบการภาวนาดั่งมวย (๑)

  ชีวิตจริง มันเป็นมวยที่ไม่มีกำหนดยก
ในระหว่างชก คือเวลาเจริญปัญญา
ในระหว่างพักยก คือเวลาพักด้วยสมถะ
ถ้าเอาแต่ชก ไม่นานก็ตาย เพราะจิตไม่มีความสงบเป็นเครื่องหนุน
ถ้าเอาแต่พัก ไม่ยอมชก ก็ถูกไล่ลงจากเวทีของนักสู้
ต้องไปหาเวทีเริ่มชกใหม่เอาชาติหน้า

กิเลสเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้ เพราะมันมีหลายซับหลายซ้อน
และพร้อมจะนำทุกข์มาสู่จิตตนเองได้เสมอ
เราควรทราบว่า ไม่มีใครจะทำให้จิตใจเราเป็นทุกข์ได้
นอกจากเราทำของเราเอง เพราะหลงกลของกิเลส

ถ้าชาตินี้อ่อนแอยอมแพ้กิเลส ก็จะเพาะนิสัยขี้แพ้ให้มากขึ้นไปอีก

 แต่ถ้าฮึดสู้ด้วยสติปัญญา แก้ปัญหาที่จิตตนเอง
ขี้เกียจก็ทำ ขยันก็ทำ ท้อแท้ก็ทำ ฮึกเหิมก็ทำ
อย่างนี้ก็จะชนะได้ในวันหนึ่งข้างหน้า

พวกเราควรซุ่มซ้อมให้ดี เผื่อจะได้เหรียญทองกับเขาบ้าง
 แต่การปฏิบัติต่างกับมวยตรงที่ไม่มีลูกฟลุ้ค
แล้วกิเลสก็เป็นมวยระดับปรมาจารย์ทีเดียว
มัวเหยาะแหยะเสียเวลา เอาแต่คุย เดี๋ยวก็แพ้ 15 แต้มเท่านั้นเอง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อาทิตย์ ที่ 1 ตุลาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ธรรมจากจิตใจ

ธรรมจากจิตใจ

ธรรมที่ออกมาจากจิตใจ เป็นธรรมที่น่าฟัง
 และเมื่อฟังแล้วก็ได้ทั้งรสธรรมและความสงบเย็น
 แต่ถ้าฟังแล้วนำไปคิด
 บางที สิ่งที่รู้สึกว่าเข้าใจง่าย กลับจะกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจยากก็ได้

 ธรรมแท้ไม่มีอะไรให้ต้องพูดมาก
 เพราะสิ่งที่พูดได้ ล้วนแล้วแต่เป็นของสมมุติทั้งนั้น
 แต่เราก็จำต้องอาศัยสมมุติ เป็นสื่อในการถ่ายทอดธรรม

 วิธีการสอนของเซ็น เป็นวิธีการที่โดดเด่นในตัวเอง
 สิ่งที่เซ็นกล่าว ไม่ใช่สิ่งที่เซ็นต้องการ
 จำเป็นที่เราต้องเพิกสมมุติทิ้ง จึงจะเข้าใจเนื้อธรรมที่เซ็นต้องการสื่อ

 ที่คุณกล่าวถึงคำสอนแบบเซ็นมานั้น ก็น่าฟังมาก
 เช่น ไปข้างหน้าก็ผิด ถอยหลังก็ผิด อยู่เฉยๆ ก็ผิด
 แล้วอย่างนี้ จะให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่ถูกคืออะไร
 เพราะไม่เหลือช่องทางอะไรให้คิดมากกว่านี้อีกแล้ว
 ยิ่งคิด ก็ยิ่งสับสน ยิ่งพยายาม ก็ยิ่งห่างไกลจากธรรม

 ผมเข้าใจว่า เซ็นต้องการให้ผู้ปฏิบัติปล่อยวางความคิดเรื่อง ผิด และ ถูก
 คือปล่อยวางสิ่งที่เป็นคู่ทั้งหลาย อันเกิดจากความคิดของตน
 เพื่อรู้จักสิ่งที่พ้นจากความเป็นคู่ หรือรู้จักสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวรวด
 ซึ่งจะรู้ได้ด้วยการ รู้ ไม่ใช่ด้วยการ คิด
 เพราะความคิดเป็นที่มาของ ตัณหา และ ทิฏฐิ
 อันชักพาให้จิตท่องเที่ยวอยู่ในโลกสมมุติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 ขอยกตัวอย่างจากคำสอนของหลวงพ่อชา สุภัทโท สักเรื่องหนึ่ง
 คือคราวหนึ่ง หลวงพ่อชา ท่านชูไม้เท้าของท่านให้ญาติโยมดู
 แล้วถามว่า ไม้นี้สั้น หรือยาว
 ญาติโยมบ้างก็บอกว่าสั้น บ้างก็ว่ายาว
 ท่านจึงอธิบายให้ฟังในทำนองว่า
 ไม้เท้านี้มันไม่สั้น และไม่ยาว มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้แหละ
 แต่คนที่ต้องการไม้ยาว ก็รู้สึกว่าไม้นี้สั้นไป
 ส่วนคนที่ต้องการไม้สั้น ก็จะรู้สึกว่า ไม้นี้ยาวเกิดไป

 ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งต่างๆ ก็เป็น อย่างที่มันต้องเป็นนั่นแหละ
 แต่ตัณหาและทิฐิ ทำให้จิตก่อภพก่อชาติไม่หยุดหย่อน
 เมื่อใดเข้าใจว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา
 จิตจะสักแต่ว่ารู้สิ่งนั้นเท่านั้น
 ตัณหา และทิฏฐิก็ไม่เข้ามาครอบครองเป็นนายเหนือจิต
 เมื่อถึงจุดนั้น ก็ไม่ต้องถามต่อไปแล้วว่า
 อะไร จะเป็นอะไร ต่อไปอีก

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันจันทร์ ที่ 8 พฤศจิกายน 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ภัยมืดที่มีชื่อว่าโมหะ

 ภัยมืดที่มีชื่อว่าโมหะ

ส่วนมากชาวโลกเขาคิดว่า เขามีความรู้ตัว

เพราะถ้าไม่รู้ตัวก็คงอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง หรือขับรถไม่ได้

และน้อยคนนักที่จะรู้ว่า จิตของตนถูกกิเลสครอบงำ

 

ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่เราจะมีกุศลจิตจริงๆ นั้น ยากมาก

เพราะถึงไม่มีราคะและโทสะ ก็ยังมี โมหะ ยืนพื้นอยู่เสมอ

อันได้แก่ ความหลง ความไม่รู้เท่าทันจิตใจตนเอง

 

แม้ในเวลาที่กำลังทำบุญ ก็ยังทำกันด้วยกิเลสเป็นส่วนมาก

คือเมื่อทำ “ทาน” เช่นจะบริจาคเงินสร้างเจดีย์

ก็ทำด้วยความโลภ เช่นหวังความร่ำรวย หรืออยากหายเจ็บไข้

หรืออยากได้เกียรติยศ

จะรักษา “ศีล” ก็รักษาแบบทรมานตนเองบ้าง รักษาเอาความภูมิใจบ้าง

รักษาโดยเชื่อเอาว่า จะทำให้รู้ธรรมบ้าง

แม้จะนั่ง “สมาธิ” ก็นั่งจมแช่ราคะและโมหะ

หรือแม้จะเจริญ “วิปัสสนา” ก็ยังหลงส่งจิตไปเพ่งจ้องอารมณ์บ้าง

เคลื่อนหลงตามอารมณ์บ้าง

 

คนเราไม่รู้ว่ากิเลสนั้นมีผลเผ็ดร้อนเพียงใด

โดยเฉพาะโมหะนั้น เป็นภัยมืดจริงๆ

เรามักจะเห็นว่า โทสะ และราคะหยาบๆ มีโทษมาก

เช่นมีโทสะแล้วไปฆ่าเขาตาย หรือมีราคะแล้วไปข่มขืนเขา

แต่น้อยคนที่จะทราบว่า โมหะนั้นเป็นภัยที่น่ากลัวมาก

 

เวลาผมเห็นคนนั่งเหม่อลอย หลงไปเรื่อยๆ ในความคิดของตนเอง

หรือลุ่มหลงเมามัน ไม่รู้ตัว ไปกับ “ความสุข” แบบลมๆ แล้งๆ

เห็นแล้วสงสารมากครับ

ใครที่สังเกตจิตได้ ลองดูสัตว์ต่างๆ เช่น สุนัข เป็นต้น

มันมีภาวะจิตแบบเดียวกันนั้นเอง

 

คนเราสั่งสมสิ่งใดไว้ ก็ได้สิ่งนั้น

สังสารวัฏจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากสำหรับผู้ที่รู้ทัน

ทว่า มันเป็นอันตราย แต่ไม่น่ากลัว สำหรับผู้ที่กำลังหลงอยู่

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : คำที่ฟังแล้วเข้าใจผิดไป

คำที่ฟังแล้วเข้าใจผิดไป

หลายคำครูบาอาจารย์ ที่เราฟังแล้วเข้าใจผิดไป เช่น

- ให้ดูจิต ท่านก็บอกตรงๆ แล้วว่า ให้ดู

 แต่เราก็กลับพยายามที่จะทำจิตให้เป็นตามที่คิดว่าควรจะเป็น

 

- ให้มีสติรักษาจิต ท่านก็บอกตรงๆ แล้วว่า

 ให้สตินั่นแหละรักษาจิต ไม่ใช่ให้เราทำเป็นเก่งปั้นโน่นทำนี่มารักษาจิต

 

 ยิ่งกว่านั้นคือ พระพุทธเจ้าตรัสชี้ทางให้ว่า

 จิตมีราคะ ให้รู้ชัดว่าจิตมีราคะ

 จิตมีโทสะ ให้รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ

 จิตมีโมหะ ให้รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ

 แต่เรากลับทำตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

 เหมือนเราไม่เชื่อ (แต่เพราะเราไม่รู้ไม่เข้าใจ) เราก็เลยทำผิดไปเป็น

 จิตมีราคะ/จิตมีโทสะ/จิตมีโมหะ เราก็รีบเข้าไปตีกับมัน

 เพื่อจะทำให้จิตปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ

 เพื่อให้จิตไม่ถูกกิเลสครอบงำ

 ทั้งที่จิตแบบนั้นเป็นจิตของพระอรหันต์

 ส่วนเรายังไม่ใช่พระอรหันต์ เราจึงต้องฝึก “รู้ชัดจิต” เอาไว้

 เพราะเมื่อรู้ชัดจิตได้ สติปัญญาก็จะเจริญไปตามลำดับ

 จนถึงที่สุด จิตจึงจะไม่ถูกกิเลสครอบงำได้อีก

 จากการเกิดมรรคจิต ละสมุทัย เกิดผลจิต แจ้งนิโรธ

 

 จำไว้นะว่า

 เราทำให้จิตไม่ถูกกิเลสครอบงำด้วยวิธีอื่นไม่ได้หรอก

 เราต้องเจริญมรรคให้ถูกต้องเท่านั้น

 จิตจึงจะไม่ถูกกิเลสครอบงำได้อีกตลอดไป

 

(ผลพวงจากการนั่งคุยกับศิษย์หลวงพ่อปราโมทย์ ที่สวนสันติธรรม

 ในวันมาฆะบูชา พุทธศักราช ๒๕๕๖) ^_^

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จิตเป็นไตรลักษณ์

จิตเป็นไตรลักษณ์

การที่จิตเกิดดับติดต่อกันรวดเร็วนั้น
ทำให้ผู้ปฏิบัติส่วนมากไม่เห็นความเกิดดับของจิต
และเกิดความสำคัญมั่นหมายว่า จิตไม่เกิดไม่ดับ
จิตเป็นอัตตาตัวตนของตน

เราควรรู้ทฤษฎีว่า จิตเองก็เกิดดับ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เรา
แต่ไม่จำเป็นต้องเรียนจนถึงวิถีจิตละเอียดยิบ เพราะจะฟุ้งซ่านจนปฏิบัติยาก
(ถ้าจำเป็นต้องเรียนละเอียดอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้แล้วครับ)
เมื่อรู้ทฤษฎีแล้ว ก็ควรลืมเสีย อย่าจำเอามาใช้ในเวลาปฏิบัติ
แล้วลงมือเจริญสติปัฏฐานจริงๆ

เมื่อปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะเข้าใจชัดว่า
ขันธ์ 5 ซึ่งรวมทั้งจิตด้วย เป็นไตรลักษณ์
จิตก็จะลด ละ เลิก ความยึดถือขันธ์ 5 รวมทั้งจิต
เมื่อไม่ยึดขันธ์ ก็ไม่มีผู้ทุกข์อีกต่อไป

 โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Page 4 of 10« First...23456...10...Last »