Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ดูความคิดเพื่อรู้จิต

ดูความคิดเพื่อรู้จิต

ความคิดก็คือสังขารขันธ์อันหนึ่ง เหมือนสังขารอื่นๆ
เช่นราคะ โทสะ โมหะ วิจิกิจฉา ความสงบ ความฟุ้งซ่าน ฯลฯ
เราเพียงรู้สังขารหรือกระแสความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นก็พอ
ไม่จำเป็นจะต้องไปดูว่าคิดอะไร
และไม่จำเป็นต้องวิจารณ์ความคิดด้วย  ว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด
เพราะจุดสำคัญ อยู่ที่เราต้องการดูจิตให้ออก
ว่าจิตมีความยินดียินร้ายต่อสิ่งที่ถูกรู้ (ในกระทู้นี้ความคิดเป็นสิ่งถูกรู้) หรือไม่
และจิตถูกกิเลสตัณหาครอบงำหรือไม่  (กิเลสมันวิ่งตามความคิดมา)
เพราะถ้าเฝ้าดูความคิดตรงๆ บางคนจะเหนื่อยมาก
หรือไปหลงกับบัญญัติ อันเป็นถ้อยคำหรือเรื่องราว
แทนที่จะเห็นสภาวะหรือปรมัตถ์ คือกระแสความปรุงแต่งของจิตที่เกิดดับยิบยับไป

แต่บางแห่งท่านก็แนะนำให้เฝ้ารู้ความคิดเอา ว่าคิดอะไร ดีหรือเลว
เพื่อหาอุบายสอนจิตให้รู้จักพิจารณาเพื่อปล่อยวาง
จึงอยู่ที่ว่าคุณต้องการจะทำแบบไหน ก็ตามสะดวกครับ
คือจะใช้อุบายตามดูความคิดเพื่อให้จิตสงบเสียก่อนในขั้นต้น ก็ได้

สำหรับผมเอง จะเพียงเห็นความคิดผุดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น
บางครั้งเมื่อสัญญาแปลกระแสความปรุงแต่งแล้ว ก็จะรู้ว่าคิดอะไร
แต่บางคราว เพียงเห็นสิ่งบางสิ่งเกิดแล้วดับไปยิบยับๆ ไม่แปลว่าคิดเรื่องอะไร
ผมไม่ได้ใช้วิธีคิดอบรมจิต และไม่เฝ้าดูเรื่องที่คิดให้เป็นภาระกับจิต
แต่ใช้รู้ความปรุงแต่งที่กำลังปรากฏ
แล้วถ้าจิตเกิดยินดียินร้ายขึ้นมา ก็จะมารู้อยู่ที่จิตอีกชั้นหนึ่งครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 17 เมษายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : สอนการเดินจงกรม

สอนการเดินจงกรม

ผมเดินจงกรมเหมือนกับนั่งสมาธิครับ
เพียงแต่ตอนเดิน จะรู้การเคลื่อนไหวของกายกับจิต
(แล้วแต่ว่า ขณะนั้น สติจะจดจ่อลงที่ใด)
ส่วนตอนนั่งและนอน จะรู้ลมหายใจกับจิต

จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่การยืน เดิน นั่ง นอน
แต่อยู่ที่ความต่อเนื่องของสติและสัมปชัญญะ

 ระดับความเร็วของการเดิน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีปัญหามาก
 บางคนจะพยายามเดินช้า – ช้ามาก – ช้าที่สุด
 ก้าวหนึ่งกำหนดได้ 6 – 7 จังหวะ
 แต่บางคนก็เดินเร็วเหมือนตามควาย (คุณดังตฤณใช้คำว่าตามโจร
 ซึ่งผมเห็นว่า ตามโจรบางทีก็ต้องซุ่ม ต้องย่องย่าง ไม่เร็วเสมอไปหรอก :) )

การเดินเร็วโดยนับจังหวะก้าวไปด้วย หรือบริกรรมไปด้วย
อาจจะมีประโยชน์บ้าง ในตอนที่จิตฟุ้งซ่าน
คือเดินและนับหรือบริกรรมเร็วๆ จิตจะได้ไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอื่น

ส่วนการเดินช้า – ช้ามาก – ช้าที่สุด นั้น
เขาว่ากันว่าเพื่อให้กำหนดสติทัน
แต่ผมเดินแบบนั้นไม่เป็น จึงไม่เห็นประโยชน์ของการเดินช้าเพื่อให้สติตามทัน
กลับเห็นว่า เราควรฝึกสติสัมปชัญญะให้ไว ให้ทันการเดินปกติให้ได้
เพื่อจะเจริญสติสัมปชัญญะได้จริงในชีวิตประจำวัน
แต่อันนี้ เป็นเรื่องความถนัดส่วนตัวครับ ใครอยากเดินอย่างไรก็ไม่ว่ากัน
ให้มีสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่องได้จริงๆ ก็แล้วกัน

ถ้าสติไวจริงๆ แค่เอื้อมมือหยิบแก้วน้ำมาดื่มด้วยความเร็วปกติ
หรือก้าวเท้าเดินจงกรมด้วยความเร็วปกติ
ก็จะเห็นรูปเกิดดับต่อเนื่องกันถี่ยิบ ไม่ผิดกับภาพการ์ตูนเลย
นับไม่ทันด้วยซ้ำไปว่า มันกี่สิบกี่ร้อยจังหวะกันแน่
และการไล่นับ ก็จะเป็นภาระอันใหญ่หลวง เข้าขั้นทรมานจิตทีเดียว
เหมือนกับการพยายามนับเม็ดฝนที่ตกลงต่อหน้าเรา

 เวลาเดินจงกรมนั้น จุดสำคัญอยู่ตอนที่จะหยุด หมุนตัว และเริ่มก้าวเดินใหม่
อันนี้จริงอย่างที่คุณดังตฤณกล่าวไว้
ยิ่งถ้าอายุมากแบบผม ขืนเดินพรวดพราดไปสุดทางจงกรม
ก็เหวี่ยงเท้าหมุนตัวกลับหลังหันทันที
ถึงสติจะไม่เคลื่อน แต่สังขารร่างกายเคลื่อนแน่นอน
ดีไม่ดีหน้ามืด ล้มคว่ำเอาง่ายๆ
ดังนั้นเดินไปสุดทางจงกรมแล้วหยุดอย่างสบายๆ เสียก่อน
ทำความรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วค่อยหมุนตัวกลับ
จะเห็นรูปกายเกิดดับต่อเนื่องกันถี่ยิบในตอนหมุนตัว
แล้วก็มาหยุดรู้รูปยืนสักหน่อยหนึ่ง พอตั้งมั่นไม่ซวนเซแล้วจึงค่อยเดินต่อไป

งานกรรมฐานเป็นงานละเอียด
ปฏิบัติไปอย่างสบายๆ ประณีต เป็นธรรมชาติธรรมดา
อย่าไปปฏิบัติด้วยแรงจูงใจของกิเลส จนต้องวางมาดเป็นผู้ปฏิบัติ
แต่ถ้ากำลังจงใจ กำลังวางมาด กำลังกดข่มบังคับกายและจิต
ก็ให้คอยรู้เท่าทันไว้
เดี๋ยวมันก็เป็นธรรมดาเองแหละครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน 14 ก.พ. 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เจริญปัญญาต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยว

เจริญปัญญาต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยว

ก่อนที่จิตจะยอมรับความจริงว่า จิตเป็นอนัตตา
อันเป็นการทำลาย สักกายทิฏฐิ โดยตรงนั้น
ไม่มีทางทำอย่างอื่นได้ นอกจากการเจริญสติสัมปชัญญะพิจารณาลงที่จิต
เพื่อถอดถอนทำลายความเห็นผิดของจิตให้ได้

แต่ไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไร ก็ไม่สามารถถอดถอนความเห็นผิดได้
เพราะ เรา กับ จิต แนบเป็นเนื้อเดียวกัน
เหมือนแสงสว่างกับความร้อนของดวงอาทิตย์ที่แนบมาด้วยกัน

มีแต่มรรคเท่านั้น ที่จะถอดถอนความเห็นผิดว่า จิตเป็นเรา ออกจากจิตได้
แต่ถ้าผู้ใดสามารถพิจารณาถอดถอนความเห็นผิดได้เอง
ก็เท่ากับ เรา ทำให้มรรคเกิดขึ้นได้
จิตก็ย่อมเป็นอัตตา ไม่ใช่อนัตตา เพราะสามารถบงการจิตได้ตามใจชอบ
มันจึงเป็นสองสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง
คือ ถ้าจงใจให้ถึงธรรมได้ จิตก็เป็นอัตตา
แต่เมื่อจิตเป็นอัตตา จิตก็ถึงธรรมไม่ได้
กลายเป็นปัญหางูกินหาง หาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ได้

ต่อเมื่อใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง จนสิ้นสุดความสามารถ
 จิตเข้าสู่มุมอับ ที่ไม่สามารถใช้สติปัญญาใดๆ ต่อไปได้อีก
จึงรู้จริงว่า ไม่สามารถบังคับหรือนำพาให้ จิต กับ เรา แยกออกจากกันได้
จิตนั้นเอง เป็นอะไรบางอย่าง ที่อยู่นอกเหนือการบังคับเอาตามใจชอบ
การรู้ความจริงนี้ คือการรู้ว่า จิตเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา
ความหลงผิดว่าจิตเป็นเรา ก็ไม่อาจแฝงตัวอยู่ในจิตได้อีก

การที่จิตจะเจริญสติสัปชัญญะ เจริญปัญญาจนสุดความสามารถได้นั้น
ต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง
จะคิดๆ เอาเองตามใจชอบไม่ได้
คือจะคิดเอาตามสัญญาที่ได้ยินมาว่า
จิตเป็นอนัตตา หรือจิตไม่ใช่เรา
แล้วก็งอมืองอเท้า หลอกตัวเองว่าจิตเข้าสู่มุมอับแล้ว
บังคับแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
อย่างนี้ก็ต้องตกเป็นเหยื่อของสักกายทิฏฐิต่อไป
เพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเองในเรื่องการปฏิบัติธรรม

ก่อนที่จิตจะยอมรับความจริง ว่าจิตเป็นอนัตตา
เหมือนนักมวยที่ต้องสู้แทบสลบคาเวที ล้มลุกคลุกคลานเท่าไรก็ยังสู้
เหมือนจอมยุทธทั้งหลายที่ผมเล่ามาข้างต้น
ก่อนที่ปัญญาจะผลิตไม้ตายออกมาฟาดกิเลสให้กระเด็นออกจากหัวใจ
คือเห็นว่า จิตไม่ใช่เรา บังคับไม่ได้
แต่จะสู้แบบล้มมวย ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

เมื่อใดที่ความเป็นเราขาดสะบั้นออกจากจิตแล้ว
ไม่ว่าจะย้อนมองคราวใด
จะไม่เห็นเงาของความเป็นเรา แอบแฝงคลุมเคลืออยู่ในจิตอีกเลย
แต่ถ้ามองลงในจิตคราวใด ก็ยังเป็นเราอยู่คราวนั้น
ก็ทราบได้เลยว่า ยังเป็นปุถุชนอยู่
งานที่จะต้องสู้เพื่อถอดถอนความเป็นเราออกจากจิตก็ยังมีอยู่

ที่จริงไม่อยากเล่าละเอียดนักหรอกครับ
เพราะกลัวพวกเราจะพากันล้มมวย
เสียก่อนที่จะได้ต่อสู้แบบถวายชีวิตบูชาพระศาสดา
แต่บางคนก็เวียนถามเช้ายันเย็น
ถ้าไม่ตอบ ผมคงไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแน่ๆ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 24 เมษายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : รู้ทันความอยาก

รู้ทันความอยาก

มีจุดหนึ่งที่ควรสังเกตเพิ่มเติมก็คือ
 เวลาที่เราจะทำอะไร แล้วเกิดไปเห็นความอยากเข้า
 เมื่อความอยากดับไปแล้ว เราก็ไม่ทำสิ่งนั้นเลย
 อันนี้ยังไม่ถูกต้องนัก

 การที่รู้ทันความอยากนั้นดีมากแล้ว
 แต่เมื่อรู้แล้ว จะทำสิ่งนั้นหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 ถ้ามีเหตุผลสมควร เราก็ต้องทำ
 เพราะการกระทำของผู้ปฏิบัตินั้น กระทำด้วยปัญญา เห็นเหตุผลความจำเป็น
 ไม่ใช่ต้องมีความอยากจึงจะกระทำได้
 ซึ่งพอดูๆ จนความอยากดับ เลยกระทำอะไรไม่ได้เลย
 ม่ายยั้งงั้น พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ท่านคงนั่งแข็งทื่อไปหมดทุกองค์
 เพราะท่านปราศจากความอยากเสียแล้ว

 หากจะปฏิเสธการกระทำทุกสิ่ง เพราะไม่อยากทำตามความอยาก
 ทั้งที่มีเหตุผลสมควรกระทำ
 จะกลายเป็นทิฏฐิประเภทที่ว่า อะไรๆ ก็ไม่สมควรแก่เรา
 ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านทรงชี้ให้เห็นว่า
 ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความคิดปฏิเสธทุกรูปแบบนี้ ก็ไม่สมควรแก่เธอด้วย

 อย่างการที่เราตั้งใจปฏิบัตินั้นก็เป็นความอยากเหมือนกัน
 แต่มันมีเหตุผลสมควร เราก็ต้องทำ
 และควรทำให้มาก ด้วยอิทธิบาท คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
 โดยมี โยนิโสมนสิการ หรือการใช้สติปัญญาอย่างแยบคายเป็นผู้กำกับดูแลอยู่

 โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน เสาร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การเจริญสติคือการรักษาพระวินัย

 การเจริญสติคือการรักษาพระวินัย

คุณจับแก่นของพระวินัยเอาไว้ได้เต็มๆ ทีเดียวครับ

เพราะมีการยืนยันมาแล้วโดยพระพุทธเจ้าเอง

ว่าการเจริญสติอย่างเดียว ทดแทนการรักษาพระวินัยทั้งหมดได้

 

เคยมีพระรูปหนึ่ง เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาพระวินัย

ก็เกิดความท้อใจว่า กระดิกตัวนิดเดียวก็ผิดพระวินัยแล้ว ท่านควรจะสึกเสีย

เพราะอยู่ไปจะทำให้พระธรรมวินัยเสียหาย

แต่เมื่อท่านไปทูลลาสึก พระศาสดากลับถามท่านว่า

ถ้าวินัยและข้อวัตรมีมากเกินไปจนปฏิบัติไม่ไหว

หากให้เหลือข้อเดียวจะปฏิบัติได้ไหม

ท่านรับว่าถ้ามีข้อเดียวท่านทำได้ และไม่จำเป็นต้องลาสิกขา

พระศาสดาจึงทรงสอนให้ท่านมีสติทุกเมื่อ

ท่านรับปฏิบัติ จนบรรลุพระอรหันต์ได้ในที่สุด

ทั้งท่านก็ไม่ได้ทำผิดพระวินัยต่างๆ ด้วย

เนื่องจากมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แล้ว

 

ความจริงพระวินัยนั้น เกิดขึ้นด้วยหลายสาเหตุ

เช่นเกิดจากพระท่านทำไปแล้ว รู้สึกว่าไม่เหมาะสมเองก็มี

ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่เหมาะสมก็มี

เป็นเรื่องขัดเกลาลดภาระทางใจก็มี

 

พระวินัยแต่ละข้อนั้น เป็นไปเพื่อความสบายในการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น

เช่นการเสพย์เมถุนจะขัดขวางการปฏิบัติ

เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งครอบครัว เป็นภาระพะรุงพะรัง

ทั้งจิตใจหลังการเสพย์เมถุนก็จะกระเพื่อมไหว ไม่สงบ อ่อนแอ

 

 การที่พระมีทรัพย์สินเงินทอง ก็มีภาระผูกพันจิตใจต้องระวังรักษา

และก่อให้เกิดความรู้สึกว่ากูมีอำนาจอยู่ในมือ

จะไม่ถอดเขี้ยวเล็บ หมดพิษสง แบนติดดินแบบพระมือเปล่า

ซึ่งนอกจากจะไม่รู้สึกกร่างแล้ว ยังรู้สึกเบาสบาย อบอุ่นใจในความเป็นพระแท้ด้วย

 

การที่พระอวดอุตริ ทำให้ผู้คนแตกตื่นมาทำบุญ

จิตใจก็จะยะโสโอหังขึ้นมาง่ายๆ มันมีสภาพเหมือนอึ่งพองลม

ในที่สุดก็ต้องท้องแตกตายเพราะลาภสักการะและชื่อเสียง

 

บรรดาเสขิยวัตรทั้งหลาย เป็นเครื่องทำให้พระงาม

และมีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกการเคลื่อนไหว

ซึ่งความจริงแล้ว กิริยามารยาทในสังคมไทยนั้น

เดิมถอดแบบพระวินัยมามากทีเดียว

เช่นรับประทานอาหารคำไม่โตเกินควร

ไม่พูดระหว่างมีอาหารในปาก ไม่เคี้ยวดัง ซดดัง

ไม่เดินกินอาหาร ไม่ล่อกแล่กเหลียวหน้าเหลียวหลัง ฯลฯ

คนที่ถูกกล่อมเกลามาจากครอบครัวแบบนี้ พอไปบวชก็ไม่ลำบากนัก

แต่เด็กรุ่นต่อไป ไปบวชคงอึดอัดมากขึ้น

เพราะสังคมเดี๋ยวนี้ทิ้งกิริยามารยาทแบบไทยๆ ซึ่งถอดพระวินัยมา

เช่นจะกินแฮมเบอร์เกอร์สักชิ้น ต้องอ้าปากให้กว้างเกือบคืบจึงจะกัดได้ เป็นต้น

 

พระพุทธเจ้าท่านสอนพระของท่านให้เป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว

และเป็นผู้ดีแท้ๆ ที่ไม่มีเครื่องประกอบอิสริยยศใดๆ

จึงน่าอัศจรรย์จริงๆ ที่ลูกพระพุทธเจ้านั้น จนแสนจน

แต่วิญญูชนได้พบเห็นแล้ว รู้สึกงามจับตาจับใจจริงๆ

โดยคุณ  สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อังคาร ที่ 26 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ผัสสะกับทุกข์

ผัสสะกับทุกข์

ผัสสะเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่เสมอ หนีไปไหนไม่ได้หรอกครับ
ถึงแอบเข้าไปอยู่ในถ้ำมืดๆ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน … ความคิดนึกก็ยังตามไปกระทบใจได้อีก
เหมือนที่คุณกล่าวน่ะครับ ว่าธัมมารมณ์มีพิษสงมาก

เมื่อหนีไม่พ้น ก็ต้องรู้เท่าทันจิตของตนเองเรื่อยไป
(เพราะความไม่รู้ต่างหาก จิตจึงส่งไปยึดถืออารมณ์แล้วก่อทุกข์ขึ้น
ถ้ารู้โดยไม่ยึด ทุกข์ทางใจ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย)
หากรู้อยู่ที่จิต เวลามีอารมณ์มากระทบ จะเห็นปฏิกิริยาของจิตต่ออารมณ์นั้น
เช่นราคะ หรือโทสะ
แล้วก็คอยดูต่อไปอย่าให้เกิดตัณหา (คือการที่จิตทะยานไปยึดอารมณ์
 ตามแรงกระตุ้นของกิเลส)
เพราะตัณหาคือตัวสมุทัย หรือเหตุให้เกิดทุกข์

ลำพังมีกิเลส ทุกข์ยังไม่เกิด แต่เมื่อใดมีตัณหา ทุกข์เกิดแน่ครับ
พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นที่ความสิ้นไปแห่งตัณหา
ท่านไม่เคยเน้นที่ความสิ้นไปแห่งผัสสะเลยครับ

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่  5 ก.พ. 2542

หมายเหตุ :  ผัสสะ ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สัมผัส การกระทบ การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก ผัสสะ เป็น ความประจวบกันแห่งสามสิ่ง

คือ อายตนะภายใน(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก(รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) และวิญญาณ

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : กิเลสกับน้ำในโอ่ง

กิเลสกับน้ำในโอ่ง

ตอนผมเด็กๆ ที่บ้านมีโอ่งน้ำโตๆ อยู่หลายใบ

เวลาผู้ใหญ่เผลอ ผมชอบแอบเอามือไปกวนน้ำเล่น (เข้าทำนองกวนน้ำให้ขุ่น)

เพื่อให้ตะกอนก้นโอ่งมันกระจายขึ้นมา

น้ำที่ดูใสสะอาด ก็จะแสดงคุณภาพที่แท้จริงของมันออกมา

 

เดี๋ยวนี้เวลาเจริญสติสัมปชัญญะ ก็เห็นจิตมันสงบนิ่ง ใสสะอาด

เหมือนน้ำใสในโอ่งนั้นเอง

แต่เวลามีการกระทบอารมณ์ทางตา หู … ใจ

ตะกอนกิเลส(อาสวะ)ที่นอนเนื่องในสันดานก็จะแสดงตัวออกมาเป็นกิเลส

จิตก็ดูเศร้าหมองลง เหมือนน้ำขุ่น

แต่พอผัสสะนั้นดับไป ไม่นานกิเลสก็ระงับดับไป

มันก็ตกตะกอนลงไปนอนในสันดานของเราอีก

 

ยิ่งนานวัน ตะกอนก้นโอ่งก็ยิ่งมาก (เหมือนจิตที่มีธรรมชาติไหลลงที่ต่ำตลอดเวลา)

พอสังเกตเห็นว่า โอ่งสกปรกมากแล้ว ก็ต้องล้างตะกอนกันทีหนึ่ง

แล้วไม่นานมันก็มีตะกอนอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป

เพราะการล้างโอ่งมันยังเป็นวิชาสามัญมาก มันก็แก้ทุกข์ได้เป็นคราวๆ เท่านั้น

 

ส่วนการเจริญสติสัมปชัญญะ เจริญศีล สมาธิ ปัญญา นั้น

ถึงจุดหนึ่งจะทำลายความยึดมั่นในจิตลงไป ก็เหมือนการทุบโอ่งน้ำทิ้งไป

ตะกอนกิเลสก็ไม่มีที่อาศัยอยู่อีก

วิชาทางโลกจึงไม่มีที่สุด แต่วิชาทางธรรมของพระพุทธเจ้า มีที่สุดครับ

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : คุยเรื่องการใช้ปัญญากับ อ.สุรวัฒน์

คุยเรื่องการใช้ปัญญากับ อ.สุรวัฒน์

 เมื่อวาน คุณสุรวัฒน์ ไปเยี่ยมผม เลยได้คุยกันหลายเรื่อง
เรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง การใช้ปัญญา
ซึ่งผมได้สารภาพกับ คุณสุรวัฒน์ ตามตรงว่า
อธิบายสภาวะยากเหลือเกิน

ทำความรู้ตัว แล้วจิตนิ่งสนิทอยู่กับที่ ก็ไม่ใช่การเจริญปัญญา
แต่เป็นหลุมพรางของสมถะ
ครุ่นคิดพิจารณาเอาด้วยความคิดแบบที่คุ้นเคย ก็ไม่ใช่อีก
เพราะนั่นเป็นความฟุ้งซ่านของจิต
สภาพที่พอดีระหว่างความสงบนิ่ง กับความฟุ้งซ่านต่างหาก
ที่จิตจะเจริญปัญญาของเขาไปได้เอง

ใครจะช่วยใครได้ ที่จะให้รู้จักสภาวะ “รู้” ที่พอดี
นอกจากจะต้องลงมือทำด้วยตนเอง
ผิด จนไม่มีที่จะผิดอีก แล้วมันก็ถูกพอดีเอง

คำอธิบายสภาวะที่พอดีนั้น อย่างมากก็เป็นคำเปรียบเทียบ
หรือคำปฏิเสธว่า อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ไม่ใช่
ยิ่งเปรียบเทียบมาก หรือปฏิเสธมาก
บางทีจิตของผู้ฟังเหมือนจะสงบลง
 แต่ก็สงบไปอย่างนั้นเอง เหมือนจะรู้ แต่ก็ไม่รู้
ที่จะอธิบายให้ เข้า(ถึง)ใจ จริงๆ นั้น ยากยิ่งนัก

เห็นแล้วจึงอัศจรรย์ในธรรมของพระพุทธเจ้า
ว่าท่านช่างแสดงได้ พอดี จริงๆ
คือไม่น้อย จนปฏิบัติไม่ได้
และไม่มาก จนจับประเด็นไม่ได้

ที่พูดกับ คุณสุรวัฒน์ ไม่ยาวเท่านี้หรอกครับ
เพราะพูดแค่ว่า “การใช้ปัญญาไม่ใช่การรู้ตัวนิ่งๆ ทื่อๆ และไม่ใช่การคิด”
เพียงเท่านี้ คุณสุรวัฒน์ ก็เข้าใจแล้วว่า ผมพูดถึงสภาวะอะไร

ธรรมะไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่ตรรกศาสตร์
 ”คนจริง” เท่านั้น ที่จะรู้ของจริงซึ่งอธิบายได้ยาก

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 13 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ปรับอินทรีย์พละ๕ให้สมดุลย์

ปรับอินทรีย์พละ๕ให้สมดุลย์

เรื่องที่จะทำให้อินทรีย์/พละ 5 สม่ำเสมอกันนั้น
ไม่ใช่ว่ามีความเพียรมากแล้วลดความเพียรลง
เคยเดินจงกรมวันละ 2 ชั่วโมง ปรับให้เหลือ 1 ชั่วโมง
เพื่อจะให้สมดุลกับที่ยังมีสติน้อยๆ มีสมาธิน้อยๆ
ไม่ใช่แบบนี้นะครับ เพราะมีแต่จะพากันน้อยลงทุกอย่าง
 เป็นการเสียท่ากิเลสอย่างร้ายแรงทีเดียว

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมใช้มาแล้วก็คือ การพิจารณาอย่างแยบคาย
คือในเรื่องศรัทธานั้น ผมไม่เคยมีศรัทธาในครูบาอาจารย์จนถึงขั้นงมงาย
อันนี้เป็นนิสัยมาแต่ดั้งเดิม
คือครูบาอาจารย์สอนอะไร จะลองนำมาปฏิบัติดูอย่างจริงจัง
แล้วไปทดสอบรายงานผลกับท่าน
แต่ไม่เคยรู้สึกว่า ครูบาอาจารย์เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้
ไม่เคยคิดว่า จะต้องพึ่งพาอยู่ใกล้ท่าน จึงจะปฏิบัติได้

เรื่องความเพียรมากเกินไปนั้น ก็ต้องสังเกตจิตใจตนเอง
ว่าที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น ทำไปเพราะความอยากหรือเปล่า
คาดหวังอะไรแฝงเร้นอยู่หรือเปล่า
เจริญสติสัมปชัญญะถูกต้องหรือเปล่า
เมื่อสามารถเจริญสติได้ถูกต้องแล้ว
การปฏิบัติอยู่ตลอดวัน ในทุกอิริยาบถเมื่อมีโอกาสทำได้
ก็จัดว่าเป็นการทำความเพียรที่พอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป
ไม่เกี่ยวอะไรกับว่าต้องเดินเท่านั้น ต้องนั่งเท่านี้

เรื่องสติก็ต้องสังเกตจิตใจตนเองเหมือนกัน
ว่าสตินั้นกล้าแข็งเกินไปหรือไม่

สติที่พอดี คือสติที่ตามระลึกรู้อารมณ์ไปอย่างสบายๆ ไม่เคร่งเครียด
คล้ายๆ กับงูเห่า คือเวลาอยู่ปกติมันก็สงบๆ อยู่เฉยๆ
แต่พอมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใกล้ งูจึงจะชูคอขึ้นมาคอยดูสิ่งแปลกปลอม
เวลาอยู่ปกติ งูไม่จำเป็นต้องชูคอให้เมื่อย
สติก็เหมือนกัน ในเวลาปกติก็รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ
ต่อเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นภัย คือกิเลสตัณหาต่างๆ ผ่านมา
สติจะตื่นตัวปั๊บขึ้นมาเป็นอัตโนมัติ เพื่อรู้สิ่งแปลกปลอมนั้น
ก็จะเห็นสิ่งนั้นผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

ถ้าไปตั้งสติเคร่งเครียดเกินไป คอยระวังตัวแจอยู่ทุกขณะจิต
อันนั้นเหนื่อยเกินไปครับ แล้วกิเลสตัณหามันจะพาลซ่อนเงียบหมด
เพราะไม่อยากเดินผ่านหน้าสติที่เป็นนักเลงโตถือมีดไม้คอยจ้องอยู่ตลอดเวลา
สติมันหลบไปนอนสบาย คนที่ลำบากก็คือเจ้าตัวที่ตั้งสติแรงเกินไปนั่นเอง

ถ้าพิจารณาอย่างแยบคายรู้ว่าตั้งสติแข็งไป
 ก็เพลาๆ การระวังบังคับจิตใจลงบ้าง

เรื่องสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าทำสมาธิแบบเคลิ้มๆ อยู่เสมอ
ก็หัดมาทำความตื่นตัวของจิตให้มากขึ้น
แต่ถ้ามันตื่นตัวเกินไป แบบไม่เคยสงบสบายพักผ่อนเลย
ก็หันมาทำความสบายให้แก่จิตบ้าง
จะใช้จิตทำงานแบบใช้แรงงานทาสไม่ได้
ต้องให้เขาได้พักผ่อนบ้าง

ตัวปัญญาก็เหมือนกัน
ปัญญาจริงๆ ไม่มีอะไรมาก
เพียงเห็นจิตและอารมณ์เป็นไตรลักษณ์แบบประจักษ์ต่อหน้าต่อตาก็พอแล้ว
ส่วนความรู้ความเห็น ความแตกฉานต่างๆ นั้น
ไม่มีประโยชน์อะไรนักหรอกครับ
ดังนั้นแทนที่จะคิดๆ เอา ก็หันมารู้ๆ เอา
ปัญญาจะได้พอดีๆ ครับ

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เทคนิคการรู้

เทคนิคการรู้

ให้รู้ตามความเป็นจริงเท่าที่รู้ได้
ไม่ใช่ เจตนา และอยาก จะรู้ให้เกินกว่าที่สติปัญญาจะรู้ได้จริง
ให้ฝึกฝนพัฒนาสติสัมปชัญญะให้มาก
แล้วก็จะรู้ได้ว่องไว รู้ได้ละเอียด
และรู้ความจริงของจริงได้มากขึ้น โดยไม่ต้องฝืน

ขณะที่รู้อารมณ์ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธัมมารมณ์จริงๆ
ตรงนั้นจิตเพียงแต่รู้เท่านั้น ยังไม่เสพย์อารมณ์
จิตตรงนี้ยังเป็นอุเบกขาหรือเป็นกลางอยู่ตามธรรมชาติ

อย่าพยายามไปกำหนดจิตให้หยุดนิ่งลงตรงนี้เพื่อจะรู้แต่ปรมัตถ์นะครับ
เพราะกำหนดไม่ได้จริงหรอก
ตอนที่คิดจะกำหนดนั้น
จิตมันขึ้นวิถีใหม่ หรือขึ้นกระบวนการของจิตรอบใหม่แล้ว
ตรงนี้แหละที่ผู้เรียนตำราชั้นหลังปฏิบัติผิดกันมาก
กลายเป็นหลงคิดตามสัญญาเท่านั้น

จึงควรปล่อยให้จิตเขาทำงานไปตามธรรมชาติธรรมดา
คือเมื่อถัดจากรู้รูป เสียง .. ธัมมารมณ์ นั้น
จิตจะอาศัยความจำรูปได้ ความจำเสียง .. ธัมมารมณ์ได้
เอามาเป็นปัจจัยสนับสนุนความคิดนึกปรุงแต่ง
แล้วเกิดกิเลสตัณหาอุปาทานขึ้นตรงช่วงหลังนี้
ตามตำรารุ่นหลังเขาเรียกว่า “ชวนะ”
จิตก็จะเกิดกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง

แต่ตัวความคิดนึกปรุงแต่ง เช่นกิเลสตัณหา
และกลไกที่จิตแล่นไปก่อทุกข์ (ไม่ใช่เรื่องหรือเนื้อหาที่คิดนะครับ)
มันก็เป็นความจริงหรือปรมัตถ์ในฝ่ายนามธรรมของมันเหมือนกัน
ให้มีสติสัมปชัญญะ รู้มันไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางไปเลย
 อันนี้ก็เป็นวิปัสสนาเหมือนกัน ในหมวดของ เวทนา จิต และธรรม

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันพุธ ที่ 13 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : คู่รักนักภาวนา

สามีภรรยาในอุดมคติ ที่ครองเรือนด้วยกันและปฏิบัติธรรมไปด้วย

พอถึงจุดที่อินทรีย์แก่กล้า ก็พากันออกบวชทำที่สุดแห่งทุกข์

มีตัวอย่างมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือท่านปิปผลิ(พระมหากัสสปะ)กับภรรยาของท่าน

ผมกับภรรยาก็กำลังจะเดินรอยเดียวกันนั้นเหมือนกัน

ผมเคยพิจารณาว่า เหตุใดสามีภรรยาจำนวนมาก ไม่สามารถไปนิพพานด้วยกันได้

ก็เห็นว่า เพราะ ศรัทธา ศีล และทิฏฐิ ไม่เสมอกัน

หากมีคุณธรรมเหล่านี้เสมอกัน หรือใกล้เคียงกัน

โอกาสที่จะประดับประคองกันไปนิพพานนั้น มีความเป็นไปได้สูง

แรกๆ ที่อินทรีย์ยังอ่อน หรือยังมีภาระ ก็อยู่ด้วยกันไปอย่างมีความสงบสุข

เมื่อใดอินทรีย์แก่กล้า และเงื่อนไขพร้อม ก็พากันออกบวชทำที่สุดแห่งทุกข์

 

ผู้ใดที่ตั้งความปรารถนาจะเอามรรคผลให้ได้ หรืออยากออกบวช

โดยระหว่างนี้ต้องการมีคู่ครอง

ก็พิจารณาหาคนที่มีศรัทธา ศีล และทิฏฐิเสมอกันไว้ครับ

หากคนหนึ่งมีศรัทธา คนหนึ่งไม่มี คนหนึ่งมีศีล คนหนึ่งไม่มี

คนหนึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ คนหนึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ก็มักจะเป็นคู่กรรม มากกว่าคู่บุญบารมีกัน

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

หมูกระดาษ

mp 3 (for download) : หมูกระดาษ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : สองวันนี้ หลวงพ่อคุยกับพวกที่มาอยู่วัด บอกเคยเห็น “หมูกระดาษ” ไหม? หมูกระดาษใครเคยเห็นไหม? หมูกระดาษตัวแดงๆ ต้องคนโบราณหน่อยนะถึงจะเคยเห็น  ถ้าเดี๋ยวนี้หมูพลาสติก แต่หมูพลาสติกเอามายกเคสนี้ไม่ได้   หมูํกระดาษนี้มันทำด้วยกระดาษ ค่อยๆปะนะทีละแผ่นๆ ค่อยๆปะขึ้นมา มีแม่พิมพ์สองด้าน ปะทีละด้าน เสร็จแล้วก็เอามาเย็บตรงกลาง ทากาว ทาสี สีที่โปรดคือสีแดง หมูพวกนี้ต้องสีแดง หางก็เอาอะไรทำเป็นพู่ๆหน่อย เขียนตา เขียนหู

แต่ละคนนี้เหมือนหมูกระดาษนะ พวกเราเป็นหมูกระดาษคนละตัว แต่ บางตัวก็เป็นหมากระดาษ เราปั้นขึ้นมา ถ้าเรารู้ตัวจริง มันไม่ได้มีจริง เราค่อยๆลอกเปลือกมันออก ลอกสิ่งที่เราปรุงแต่งออกไป ลอกออกไปเป็นชั้นๆ ลอกออกไปเรื่อยๆ  ถึงจุดหนึ่งจะเข้าไปถึงตัวจริงของมัน ตัวจริงของมันไม่มีอะไรเลย มันมาจากความว่างเปล่า แล้วก็สร้างขึ้นมาจนเป็นตัวเป็นตน  แต่ถ้าเมื่อไหร่เราลอกเปลือกตัวเองไปเรื่อย ลอกความปรุงแต่งไปเรื่อย จนถึงสุดท้าย ลอกชั้นในสุดออกไป ภายในมันก็เป็นความว่างๆใช่ไหม อาจจะขังอากาศอยู่ พอเปลือกกระดาษหลุดออกไปแล้ว  อากาศนั้นกระจายรวมเข้ากับอากาศข้างนอกนั่นเอง

ฉะนั้นการภาวนานี้ก็เหมือนกันนะ ถ้าจิตพ้นจากความห่อหุ้มแล้ว จิตไม่มีเปลือกห่อหุ้ม ไม่ได้สร้างภพใดๆมาห่อหุ้มมันแล้ว มันจะกลืนเข้ากับอากาศข้างนอกนั่น จะกลืนเข้ากับโลก ฉะนั้นเราภาวนาจนถึงจุดสุดท้าย จิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ จะกลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน

หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อ บอกว่า ถ้าวันใดเธอเห็นจิตกับสิ่งที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกันนะ เธอจะแจ่มแจ้งฉับพลันนั้นเลย เราฟังเราก็นึกว่าเป็นวิธีปฏิบัตินะ แต่ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ก็ดูจิตของเราไปเรื่อย ดูไป จนกระทั่งวันหนึ่ง พอเราไม่ยึดถือจิตซะอย่างเดียว เราสลัดคืนจิต จิตกับโลกนี้กลืนเข้าด้วยกัน เป็นอันเดียวกัน  คนไหนเป็นนักดูจิตคนอื่น ไม่ใช่นักดูจิตตัวเอง  นักดูจิตคนอื่นที่ชำนาญ พอไปเจอท่านที่ภาวนาที่ปล่อยวางจิตแล้ว จะพบว่าจิตของท่านเหล่านี้กลมกลืนเข้ากับโลก กลมกลืนเป็นอันเดียวกันกับโลก แต่อันนี้เขาไม่สามารถเห็นจิตที่พ้นโลกได้ เขาเห็นแต่จิตที่กลมกลืนเข้ากับโลก เหมือนอากาศในหมูกระดาษนี้ที่รวมเข้ากับอากาศ กับโลกข้างนอก เป็นอันเดียวกันนั่นเอง  อันนี้เล่าให้ฟังเล่นๆนะ เพื่อยั่วน้ำลาย

วันหนึ่งถ้าพากเพียรไป ดูกายดูใจของเราไป เราปอกเปลือกของตัวเองออกไปจนล้อนจ้อนไม่มีอะไรเหลือเลย เราจะพบตัวจริง ของเราซึ่งไม่มีอะไรเลย  เพราะฉะนั้น เราภาวนาไปแล้วเราจะไม่ได้อะไรมา และเราจะไม่ได้เสียอะไรไป เพราะเราไม่มีอะไรอยู่ตั้งแต่้แรกแล้ว จะไม่มีอะไรเลย

จิตถัดจากนั้นจะเป็นอย่างไร จิตที่ปล่อยวางจิตไปแล้ว จะมีแต่ความสุขล้วนๆ ยืนเดินนั่งนอนมีแต่ความสุขล้วนๆเลย  เกิดอะไรขึ้น จิตจะไม่มีกระเพื่อมไหวเลย  กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติ  ฉะนั้นจิตกับธรรมะก็เป็นอันเดียวกัน หลอมหลวมเข้าด้วยกัน จิตที่หลอมรวมเข้ากับธรรมแล้ว จิตกับธรรมะก็เป็นอันเดียวกัน จิตอันนั้นเรียกว่า “พระสงฆ์”  จิตอันนั้นเป็น “พระพุทธ-พุทธะ”  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันเดียวกัน


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม เมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ หลังฉันเช้า

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๓
File: 501229B.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๔ วินาทีที่ ๔๗ ถึง นาทีที่ ๘ วินาทีที่ ๔๘

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จิตนั่นแหละเป็นตัวทุกข์

จิตนั่นแหละเป็นตัวทุกข์

น้อยคนนักที่จะเข้าใจได้ว่า ตัวจิตเองนั่นแหละ เป็นตัวทุกข์อันใหญ่ทีเดียว
ไม่ใช่ต้องอยากหรือยึดสิ่งอื่นหรือขันธ์อื่นเท่านั้น ที่จะเป็นทุกข์
เพียงเมื่อใดยึดว่า จิตเป็นเรา ทันทีนั้นแหละทุกข์เกิดแล้ว

และเมื่อเอา จิตที่เป็นเรา ไปกระโดดโลดเต้นตามแรงกิเลสตัณหา
เช่นไปยึดว่านี่กายเรา นี่ความสุขความทุกข์ของเรา
นี่ครอบครัว นี่สมบัติของเรา แล้วคราวใดเกิดความไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์
อันนี้เป็นทุกข์ซ้ำซ้อนที่ตามมาทีหลัง
ส่วนมากเราจะรู้จักทุกข์ชนิดนี้
แต่ไม่ค่อยรู้จักจิตที่เป็นก้อนทุกข์ ทั้งที่ไม่ได้ยึดถือสิ่งภายนอก

เมื่อเราดูจิตอยู่นั้น และเห็นว่ามันเป็นทุกข์
จิตลึกๆ มันอดที่จะอยากให้จิตพ้นทุกข์ไม่ได้
(ดังที่บอกว่า “เฝ้าดูแล้วมันไม่ดีขึ้น” นั่นแหละครับ เราอยากให้ดีขึ้นนะครับ)
ความอยากนั้น ยิ่งทำให้เพ่งจ้อง ให้พยายามทำลายทุกข์
แล้วผลก็คือทุกข์จะหนักและแรงยิ่งขึ้น
ไม่มีใครทำหรอกครับ เราทำของเราเองทั้งนั้น

ทีนี้ต่อมาเฝ้าสังเกตอยู่เฉยๆ แล้วจิตมันพิจารณาว่านี้คืออะไร
จิตก็ตอบว่า อุปาทาน แล้วความทุกข์ก็คลายออก
ลักษณะนี้ผู้ปฏิบัติเป็นกันทั้งนั้นครับ
เวลาจิตติดขัดสิ่งใดอยู่นั้น เมื่อใดที่ปัญญาตามทัน
ปัญญาจะตัดอารมณ์ที่จิตกำลังยึดถืออยู่ ขาดออกไปทันที
เพราะคุณสมบัติของปัญญาคือการตัด
แต่อันนี้ต้องเป็นปัญญาที่มันผุดขึ้นในใจจริงๆ จึงจะตัดได้
ถ้าคิดๆ เอา ยังตัดไม่ได้ครับ

ที่ปฏิบัติมา ทำได้ดีเชียวครับ
ทีนี้เมื่อจิตวางความทุกข์แล้ว จิตเบา สบาย มีปีติแล้ว
อย่าลืมหันมาสังเกตความยินดีพอใจที่เกิดขึ้นอีกนะครับ
ส่วนมากพอหายทุกข์แล้ว ผู้ปฏิบัติจะพอใจ แล้วหยุดอยู่แค่นั้นเอง
เข้าลักษณะเกลียดทุกข์ รักสุข
ผมเองเมื่อก่อนที่ปฏิบัติทีแรกก็เป็นอย่างเดียวกันนี้เหมือนกันครับ

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : บริกรรมพุทโธ

หลวงตามหาบัว กับหลวงปู่หล้าฯ

บริกรรมพุทโธ

เรื่องบริกรรมพุทโธนี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยครับ
หลวงปู่หล้า แห่งภูจ้อก้อ ท่านถึงกับกล่าวว่า
พุทโธคำเดียวนี้ จะทำสมถะก็ได้ จะทำวิปัสสนาก็ได้
กระทั่งจะเอาให้ได้มรรคผลนิพพานก็ยังได้

คือถ้าพุทโธแล้ว จิตจ่อเข้าไปรวมกับพุทโธ สบายอยู่กับพุทโธ อันนั้นเป็นสมถะ
ถ้าพุทโธแล้ว จิตผู้รู้แยกออก ผุดออก แล้วเฝ้ารู้ความเกิดดับของพุทโธ
พุทโธเป็นเพียงสังขารขันธ์ที่ถูกรู้ อันนี้เป็นวิปัสสนา

หลายปีก่อนผมไปหาหลวงตามหาบัว
ไปกราบเรียนท่านว่า จิตอยู่กับรู้มานานแล้ว ไม่ถึงที่สุดเสียที
ท่านกลับแนะว่า จากประสบการณ์ที่ท่านผ่านมาด้วยตนเอง
การบริกรรมกำกับเข้าไปที่ตัวรู้นั้น ดีที่สุด(สำหรับท่าน)
 แม้จะเป็นขั้นไหนๆ ก็อย่างทิ้งพุทโธ ท่านให้เอามาเป็นกำลังไว้

ผมเองไม่ชอบพุทโธ เพราะรู้สึกเป็นส่วนเกิน ก็เลยไม่ค่อยได้ทำตามที่ท่านบอก
แต่เมื่อ 2 ปีก่อนไปอยู่วัดป่าวังน้ำมอก นึกถึงคำของท่านได้ก็บริกรรมพุทโธ
เอาพุทโธมา ประคองตัวรู้อีกทีหนึ่ง แล้วก็รู้อยู่ที่รู้
ถึงจุดหนึ่งปัญญาเกิดแว้บขึ้นมาว่า
ไม่มีใครทำจิตให้ถึงนิพพานได้หรอก มีแต่จิตเขาเป็นไปเองเพราะจิตเป็นอนัตตา
แล้วจิตก็พลิกตัวเองออกจากขันธ์ กลายเป็นธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง
คือเป็นจิตที่หลุดพ้นชั่วคราวจากอุปาทานขันธ์
มีความว่าง เบิกบาน เป็นอิสระ
แต่อยู่ได้ไม่กี่วัน จิตก็เข้ามาเกาะขันธ์อีก
แล้วจนป่านนี้ ก็ยังไม่ได้ปฏิบัติจริงจังเข้าไปที่จุดนั้นอีกเลย
เพียงแต่ลองดำเนินจิตดู พบว่าต้องใช้เวลา 1 – 2วัน จึงจะรื้อฟื้นภาวะนั้นขึ้นมาได้อีก

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : หลวงปู่เทสก์เน้นสอนเรื่องใด

หลวงปู่เทสก์เน้นสอนเรื่องใด

หลวงปู่เทสก์เน้นสอนเรื่องใด

หลวงปู่เทสก์ท่านเป็นพระป่าที่สอนเน้นอยู่ 2 – 3 จุดเท่านั้นครับ คือเรื่อง จิตกับใจ เรื่องหนึ่ง และเรื่องมิจฉาสมาธิ กับสัมมาสมาธิ อีกเรื่องหนึ่ง

ท่านสอนว่า จิตเป็นธรรมชาติที่รู้และเสวยอารมณ์ด้วย เมื่อเราปฏิบัติมากเข้า จิตรู้ความจริงแล้วก็วางอารมณ์ รวมเข้ามาเป็นใจ คือเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์เฉยๆ

ท่านสอนว่ามิจฉาสมาธิเป็นความสงบเคลิบเคลิ้ม เหมือนความสงบของเด็กไร้เดียงสา ต่างจากสัมมาสมาธิที่เป็นความสงบแบบผู้ใหญ่ ที่ทำงานเสร็จแล้ว มาหยุดพักผ่อน

คือจิตที่เจริญวิปัสสนา รู้ความเกิดดับของรูปนามไปจนถึงจุดหนึ่ง จิตจะตัดกระแสการเจริญวิปัสสนานั้น รวมสงบเข้ามาพักอยู่ภายใน อาจจะพักในอุปจารสมาธิ หรืออัปนาสมาธิก็ได้ พอมีกำลังแล้วก็ออกไปทำงานใหม่ เมื่อเจริญวิปัสสนาพอสมควรแก่ธรรมแล้ว คราวนี้จิตจะรวมเองเข้าถึงอัปปนาสมาธิ มีความสงบ รู้ อยู่ภายใน แล้วเกิดมรรคญาณขึ้น ด้วยจิตที่ประกอบด้วยอัปปนาสมาธิชั้นใดชั้นหนึ่ง

มรรคญาณจะต้องประกอบด้วยอัปปนาสมาธิ แต่ไม่ใช่อัปปนาสมาธิจะต้องประกอบด้วยมรรคญาณครับ

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน จันทร์ ที่ 22 มกราคม 2544

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ผู้เข้าถึง จิตแท้ ธรรมแท้

ผู้เข้าถึง จิตแท้ ธรรมแท้

ผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงจิตแท้ธรรมแท้นั้น มีถึง 3 ลักษณะ

คือ 1. ผู้เดินทางปัญญาวิปัสสนา ไม่ข้องแวะสิ่งอื่น

 (แต่จิตที่เดินวิปัสสนาต้องเป็นจิตที่เป็นสัมมาสมาธินะครับ)

2. ผู้ที่ทำฌานก่อน แล้วน้อมไปเจริญวิปัสสนา

และ 3. ผู้ที่ทำฌานด้วย เจริญปัญญาด้วย

แต่ประเภทหลังนี้ชาตินี้มักไม่ค่อยทำฌาน แต่ได้ฌานมาแต่ชาติก่อนๆ

ชาตินี้มาเจริญปัญญา แล้วเกิดทั้งความแตกฉานในธรรมอันละเอียดด้วย

ฌานของเก่าที่เคยทำไว้ก็ยังให้ผลได้ด้วย

(ในภายหลังจากที่หลวงพ่อได้บวชแล้ว ท่านได้สอนเพิ่มเติมว่าแท้จริงยังมีประเภทที่4 ซึ่งอยู่ใน ยุคนัทธสูตร-ผู้เรียบเรียง)

แต่ทุกประเภท อาการที่จิตเข้าถึงธรรม เช่นการเกิดมรรค ผล ปัจจเวกขณะ

จะใกล้เคียงกันมาก ผิดตรงผลที่เกิดหลายขณะสั้นยาวไม่เท่ากันเท่านั้น

ถ้าเกิดผลสั้น ก็มักจะขาดความแตกฉาน เพราะจิตผ่านแว้บไปเท่านั้น

แต่สังโยชน์นั้นขาดเท่าๆ กันครับ

เนื่องจากมันขาดที่มรรค ไม่ใช่ขาดที่ผลซึ่งแตกต่างกัน

 

สิ่งที่ผมเล่ามานั้น มันเป็นการพิจารณาเดินปัญญาของจิตที่มีกำลังฌานสนับสนุน

คุณไม่ต้องไปคิดว่า จะต้องรู้อย่างเดียวกันนั้นจึงจะผ่านไปได้

เหมือนคนที่จะไปเชียงใหม่นั้น บางคนขึ้นเครื่องบินแว้บเดียวไปถึงแล้ว

ส่วนผมเป็นประเภทเดินเท้าบ้าง ลงเรือบ้าง เดินทางไปเชียงใหม่ด้วยเวลายาวนาน

ก็จะรู้ภูมิประเทศรายทางมากกว่าคนที่ขึ้นเครื่องไปน่ะครับ

แต่เมื่อไปถึงเชียงใหม่ ก็จะเห็นว่าเพื่อนๆ เขาไปเที่ยวเชียงใหม่กันจนเบื่อแล้ว

ส่วนเราเพิ่งงุ่มง่ามไปถึง

 

ในทางปฏิบัตินั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่องค์ความรู้

แต่สิ่งสำคัญคือ รู้ ซึ่งหมายถึงรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ไม่ถูกกิเลสครอบงำ

เวลาจะปฏิบัติขีดวงไว้แค่นี้ก็พอแล้วครับ

ส่วนความรู้ความเห็นที่หยาบละเอียดต่างกันนั้น ไม่สำคัญเท่าความพ้นทุกข์หรอกครับ

 

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : มหัศจรรย์แห่งรู้

มหัศจรรย์แห่งรู้

ในขณะที่ รู้ โดยไม่เผลอนั้นเอง จะเห็นความเกิดดับของอารมณ์ชัดเจน
โดยจิตสักแต่ว่า รู้ ไม่เข้าไปแทรกแซง
จิตในขณะนั้น ตั้งมั่น ไม่เลื่อนไหลไปสู่อดีตและอนาคต
เป็นกลาง ปราศจากความยินดีและยินร้ายต่ออารมณ์
และเรียนรู้ความเป็นไปของอารมณ์ ตามที่อารมณ์เป็นไป
อารมณ์จะแสดงความเคลื่อนไปตลอดเวลา (อนิจจัง)
จะแสดงความตั้งอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง)
และเห็นชัดว่ามันไม่ใช่ตัวเรา (อนัตตา) เพราะเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้
บังคับบัญชามันไม่ได้
จิตที่ได้เรียนรู้ความจริงโดยต่อเนื่องนั้น
จนมีปัญญาเพิ่มพูนขึ้น สามารถสลัดความยึดถืออารมณ์ออกไปได้

ผู้ปฏิบัติจะเห็นเลยว่า
กระทั่งจิตก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับ “ตัวเรา” เลยแม้แต่น้อย
ถ้าไม่เห็นจิตเป็นเราแล้ว อดีต อนาคต ชาตินี้ ชาติหน้า ก็หมดความหมาย
เพราะแม้แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ยึดถือเลย

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

 

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ขาดสติ ขาดปัญญา

ขาดสติ ขาดปัญญา

เรื่องการขาดสติปัญญาในการปฏิบัติธรรมนั้น
ผมหมายถึงขาด(สัมมา)สติ และขาดปัญญาในการปฏิบัติธรรมครับ

เรื่องขาดสตินั้น จะเห็นได้ว่าผู้ปฏิบัติจำนวนมากนั้น
ปฏิบัติธรรมด้วยการเพ่งจ้องบังคับจิตและบังคับอารมณ์
บังคับจิต โดยมุ่งจะให้จิตสงบ ไม่ใช่เพื่อรู้เห็นตามความเป็นจริง
บังคับอารมณ์คือจะขจัดอารมณ์ที่ไม่ดี จะเอา อารมณ์ที่ดี
จึงไม่ใช่การมีสติระลึกรู้อารมณ์อย่างเป็นกลาง เป็นปัจจุบัน ตามความเป็นจริง

ส่วนขาดปัญญานั้นมีหลายลักษณะ
เช่นขาดความเข้าใจในกฏของอริยสัจจ์
แทนที่จะรู้ทุกข์ และละสมุทัย(ตัณหา-ความอยาก)
กลับมีสมุทัย(อยาก) ที่จะละทุกข์
การปฏิบัติจึงไม่เคยเข้าข่าย รู้สักว่ารู้ถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้เลย

อีกอย่างหนึ่งคือปฏิบัติไปทั้งที่จิตถูกครอบงำด้วยโมหะคือความหลง
อันนี้ก็เข้าข่ายว่าขาดปัญญาเหมือนกัน
เพราะกำลังหลงอยู่แท้ๆ กลับเข้าใจว่ากำลัง รู้ อยู่
ในพระไตรปิฎกท่านจึงจัดเอาความรู้ตัว หรืออสัมโมหะสัมปชัญญะ
ว่าเป็นตัวปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิ

เรื่องการถูกโมหะครอบงำจนจิตไม่มีคุณภาพจริงนี้ เป็นเรื่องที่รู้ทันได้ยากครับ
ชาว(ชื่อกลุ่มนักภาวนา) จำนวนมาก ก็ยังถูกเจ้าตัวนี้ครอบงำอยู่
ยังดีว่าหลายคนพอจะรู้ทัน เห็นถึงความหย่อนคุณภาพของจิต
ที่มัวๆ หม่นๆ ไม่รู้อารมณ์ด้วยความชัดเจนแจ่มใสจริง
ถ้ารู้ทันอย่างนี้ ก็พอจะหลุดพ้นจากโมหะได้ครับ
แต่ถ้ามองไม่ออก ก็ต้องถูกมันครอบงำเรื่อยไป

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ระวังปัญญา(จากการคิด,อ่าน,ฟัง)ล้ำหน้าภาวนา

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ระวังปัญญา(จากการคิด,อ่าน,ฟัง)ล้ำหน้าภาวนา

เรื่องกังวลกับ ความจงใจหรือเจตนา ในการปฏิบัติหรือการดูจิตนั้น
เกืดขึ้นจากการที่พวกเราได้ฟัง คุณกล่าวถึง เจตนาสูตร บ้าง
ได้ฟังผมกล่าวถึง ความจงใจ ในเรื่องพระอนุรุทธะบ้าง
หรือบางครั้ง ได้ยินผมแนะอุบายแก่พวกเราบางคนให้ลดความจงใจลง
เพื่อแก้อาการเพ่งจ้องอย่างรุนแรงแบบเอาเป็นเอาตายกับกิเลสบ้าง

เมื่อฟังมากเข้า บางคนจึงเกิดความล้ำหน้าทางความคิดขึ้น
คือมีสัญญาว่า ความจงใจไม่ดี แล้วก็เกิด “ความจงใจที่จะละความจงใจ” ขึ้นมา

ผมเองก็เคยปฏิบัติธรรมแบบล้ำหน้าเหมือนกัน
ตอนนั้นผมไปปฏิบัติอยู่กับหลวงพ่อคืนที่วัดหน้าเรือนจำสุรินทร์
ผมดูจิตที่เห็นกิเลสผุดขึ้นบ้าง เห็นฝ้ามัวของโมหะบ้าง
หลวงพ่อคืนก็จะบ่นว่า “ไปนั่งดูสิ่งที่ถูกรู้ทำไม ปล่อยวางมันซะ แล้วมาหยุดอยู่กับ รู้”

ผมก็จัดการเข้ากุฏิ คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
(ใช้คำนี้เพื่อให้เห็นว่า เอาจริงและเป็นทางการมาก แบบกะฟันกิเลสให้ตายหมดเลย)
แล้วก็เร่ิมต้นด้วยการหายใจ เห็นลมหายใจถูกรู้อยู่ 2 – 3 อึก แล้วก็ปล่อยเสีย
หันมารู้เวทนาในกายที่นั่งตัวตรงอยู่นั้น ตอนนั้นยังไม่สุขไม่ทุกข์อะไร ก็รู้ไป
แล้วก็คิดต่อทันทีว่า อุเบกขาเวทนานี้ก็ถูกรู้ ก็เลิกดูเวทนา
หันมาดูความว่างๆ ในจิต ที่ซ้อนอยู่กับอุเบกขาเวทนา
ก็เห็นอีกว่า ความว่างถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ความว่าง
แล้วก็เลิกดูความว่าง หันมาจ้องมองจิตผู้รู้
ถึงตรงนี้ ผู้รู้ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ แล้วมีผู้รู้ตั้งขึ้นใหม่ โดยเขยิบไปด้านหลังหน่อยหนึ่ง
ผมก็ทิ้งตัวเก่า ดูตัวใหม่ ซ้อนๆๆๆๆ เข้าไปภายในตลอดเวลา
เล่นเอาสมองหมุนตาลาย ปวดระบมไปทั้งศีรษะ
ตอนนั้นก็คิดสุภาษิตมาสนับสนุนความโง่ได้อีกว่า
“บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”
ไม่ว่าจะปวดหัวขนาดไหน ก็ยังคงไล่จับผู้รู้อยู่อย่างอุตลุดไปหมดด้วยความเพียร

ใกล้เที่ยงคืนก็หมดแรง หลับไปตื่นหนึ่ง
ตีสามตื่นขึ้นมาเร่งความเพียรใหม่จนสว่าง
แล้วก็นึกถึงความสอนของหลวงปู่ดูลย์ได้ว่า
“การใช้จิตแสวงหาจิตนั้น อีกกัปป์หนึ่งก็ไม่เจอ”
พอเช้า ก็เดินเป๋ๆ ออกมาจากกุฎิ กะจะมาต่อว่าหลวงพ่อคืน
มาเจอหลวงพ่อคืนเข้าพอดี ยังไม่ทันต่อว่าท่าน
ท่านก็อุทานลั่นวัดว่า “เมื่อคืนนี้ปฏิบัติอย่างไร ทำไมจิตใจมันชุลมุนอย่างนั้นทั้งคืน”
ผมก็เถียงท่านเต็มๆ เลย ว่า “ก็ผมทำตามที่หลวงพ่อสอนน่ะสิ”
“สอนยังไง อาตมาสอนยังไง”
“ก็สอนว่า ไปนั่งดูสิ่งที่ถูกรู้ทำไม ปล่อยวางมันซะแล้วมาหยุดอยู่กับ รู้”
คราวนี้หลวงพ่อหัวเราะเอิ้กอ้ากเลย บอกว่า
“การปล่อยวางนั้นต้องปล่อยด้วยปัญญา ไม่ใช่คิดปล่อยๆ เอาแบบนี้”

ผมก็นึกบ่นท่านว่า หลวงพ่อไม่น่าจะสอนผมเลย
ถ้าไม่สอน ผมก็จะรู้ความเกิดดับของอารมณ์ จนมีปัญญาปล่อยวางเอง
เพราะจุดสำคัญของการปฏิบัติ อยู่ที่รู้อารมณ์ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ไม่จมลงในสิ่งที่ถูกรู้ หรือเผลอไปที่อื่น เท่านั้นเอง
แต่พอฟังท่านสอน ก็นึกตีความว่า ที่ทำอยู่ผิด จึงแก้ไขแนวปฏิบัติใหม่
ทำให้ปฏิบัติผิด ทั้งเหนื่อย ทั้งเสียเวลา

การปล่อยด้วยปัญญา กับปล่อยด้วยสัญญา มันต่างกันอย่างที่เล่ามานี้เอง
และเมื่อพวกเราได้ยินนักปฏิบัติรุ่นพี่กล่าวถึง เจตนา และความจงใจ
ว่าทำให้วิญญาณตั้งขึ้น ภพตั้งขึ้น
แทนที่จะเพียงเฉลียวใจ รู้ว่าตนมีความจงใจหรือไม่
กลับเกิดความจงใจ ที่จะละความจงใจ
จนลืมหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่ว่า “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ”

บางทีการอ่านและการฟังธรรมะมากเกินไป ก็ทำให้ข้ามขั้นตอนได้เหมือนกัน
อันนี้ฝากไว้ให้นักปฏิบัติทั้งหลายครับ
ผมเองก็ไม่ได้ดีวิเศษไปกว่าพวกเราหรอก
อะไรที่ใครๆ ทำผิดกันนั้น
ผมทำผิดมาก่อนแล้วแทบทั้งนั้นแหละครับ

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : กรรมฐานคืออะไร

กรรมฐานคืออะไร

ถ้าจะตอบเป็นคำๆ ไป คงไม่เห็นภาพในองค์รวมครับ
ผมจึงขอเล่าให้ฟังดีกว่า ว่า การปฏิบัติกรรมฐาน หรือกัมมัฏฐาน
หรือการเจริญภาวนานั้น มี 2 ส่วน
คือสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

สมถกรรมฐานคือการทำสมาธินั่นเอง
ได้แก่การทำจิตให้เป็นหนึ่ง ทำอารมณ์ให้เป็นหนึ่ง
เช่นให้จิตสงบ รู้ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์อันเดียว
โดยมุ่งเอาความสงบของจิตเป็นเป้าหมาย

ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการเอาจิตที่สงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วนั้น
ไประลึกรู้อารมณ์ต่างๆ ที่กำลังปรากฏ
และเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอารมณ์นั้นๆ
จนเข้าใจสภาพความเป็นจริงว่า อารมณ์ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องดับไปเป็นธรรมดา
จิตก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆ ไปตามลำดับ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การทำวิปัสสนานั้น
มุ่งเอาปัญญารู้เห็นธรรมะตามความเป็นจริงจนปล่อยวางได้เป็นเป้าหมาย

  ส่วนคำว่านั่งสมาธิ นั่งภาวนา นั่งวิปัสสนา นั่งกรรมฐาน
เป็นการพูดโดยแฝงความเข้าใจผิดครับ
เพราะการทำสมาธิซึ่งหมายถึงการทำความสงบ
การทำวิปัสสนา ซึ่งหมายถึงการทำให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
หรือการทำกัมมัฏฐาน ทั้งสมถะและวิปัสสนานั้น
เป็นสภาวะทางจิตใจทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับอิริยาบถว่าจะต้องนั่งเสมอไป
 แต่จะต้องทำให้ได้ต่อเนื่องในทุกๆ อิริยาบถ ทั้งยืนเดินนั่งนอนครับ

โดยคุณ สันตินันท์  (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Page 5 of 10« First...34567...10...Last »