Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๑) การเจริญปัญญาสำหรับสุกขวิปัสสโก

mp3 for download : อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๑) การเจริญปัญญาสำหรับสุกขวิปัสสโก

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๑) การเจริญปัญญาสำหรับสุกขวิปัสสโก

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๑) การเจริญปัญญาสำหรับสุกขวิปัสสโก

หลวงพ่อปราโมทย์ : พอเรามีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้วนะ เราก็เห็นร่างกายหายใจไปเรื่อย ทำอานาปานสตินี่แหละ ไม่ต้องเข้าฌาน เข้าไม่เป็นก็ไม่ต้องกลุ้มใจ อุปจาระก็ยังไม่ได้ก็ไม่ต้องกลุ้มใจ เห็นร่างกายหายใจไปเรื่อยๆใจเป็นคนดู มันจะเห็นทันทีเลยว่า ร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายที่หายใจเข้าก็ไม่เที่ยง ร่างกายที่หายใจออกก็ไม่เที่ยง เห็นมั้ย เป็นอนิจจัง การหายใจเข้าก็ทนอยู่ได้ไม่นาน หายใจออกทนอยู่ได้ไม่นาน เป็นทุกขัง ร่างกายที่หายใจอยู่เป็นวัตถุธาตุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า เป็นแค่วัตถุธาตุเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแค่ก้อนธาตุ นี่ เห็นอย่างนี้เขาเรียกว่าเห็น “อนัตตา”

เห็นมั้ย ทำอานาปานสตินะ แล้วก็เห็นร่างกายแสดงไตรลักษณ์ นี่เดินปัญญาเลย พวกนี้ได้สุกขวิปัสสกะ เป็นพระอรหันต์ก็ไม่มีฤทธิ์มีเดชอะไรกับใครเขาหรอก ไม่มีของเล่น ต่างจากพวกที่ไปทางฌานโน้น แต่พวกที่ไปทางฌานบางคนก็ไม่มีของเล่น อภิญญาจิตไม่เกิด ต้องสร้างบารมีพิเศษนะ ตั้งใจอธิษฐานไว้ ทำบุญกับพระพุทธเจ้า ยิ่งหลายๆองค์ยิ่งดี ยิ่งขลัง เพราะฉะนั้นอย่างพวกเรา ถ้าบารมีน้อย อยากเล่นอภิญญา จิตหลอนเสียเป็นส่วนใหญ่ กิเลสหลอกเอาไป ไม่ใช่อภิญญาจริงหรอก

541106A.18m21-19m49

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา
ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ก่อนฉันเช้า

CD: 42
File: 541106A.mp3
นาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๒๑ ถึง นาทีที่ ๑๙ วินาทีที่ ๔๙

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

วิธีการหัดแยกธาตุแยกขันธ์

mp 3 (for download) : วิธีการหัดแยกธาตุแยกขันธ์

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : วิธีการที่มาเรียน แล้วหัดแยกธาตุแยกขันธ์เนี่ย เป็นวิธีการเฉพาะในพระพุทธศาสนา ภาษาปริยัติเขาเรียกว่า วิภัชวิธี วอแหวนสระอิ พอสำเภา ไม้หันอากาศ ชอช้าง วิภัชวิธี

วิภัชวิธี จะเป็นการหัดมาแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวตน แยกตัวตนออกเป็นส่วนๆ แล้วจะพบว่าไม่มีตัวตน คล้ายๆมันมีรถยนต์ ๑ คัน เราคิดว่ารถยนต์มีจริงๆ เรามาถอดรถยนต์เป็นชิ้นๆนะ ลูกล้อ เราถอดลูกล้อออกมาก่อน ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ใช่มั้ย แต่รถยนต์ไม่มีลูกล้อไม่ได้ ใช่มั้ย เนี่ยถอดรถยนต์ออกมาเป็นส่วนๆนะ ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ กันชนก็ไม่ใช่รถยนต์ใช่มั้ย ตัวถังก็ไม่ใช่รถยนต์นะ ตัวถังก็ไม่ใช่รถยนต์ เบาะที่นั่งก็ไม่ใช่รถยนต์ พวงมาลัยก็ไม่ใช่รถยนต์ เครื่องยนต์ของมันก็ไม่ใช่รถยนต์ ถังน้ำมันก็ไม่ใช่รถยนต์ เห็นมั้ยพอเรามาถอดรถยนต์ออกเป็นชิ้นๆ ชิ้นเล็กชิ้นน้อยนะ พบว่าไม่มีรถยนต์แล้ว รถยนต์เป็นสิ่งที่เอาอะไหล่ทั้งหลายแหล่เนี่ยมาประกอบมารวมกันนะ แล้วเราก็สรุปหมายรู้เอาว่า นี่แหละคือรถยนต์

วิภัชวิธีที่จะมาเรียนรู้เพื่อทำลายความเห็นผิดว่ามีตัวกูของกู ตัวเราเนี่ย ก็คือมาหัดแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ เรียกว่าหัดแยกธาตุแยกขันธ์ดู เบื้องต้นหัดแยกกายกับใจก่อน ค่อยๆนั่งไป นั่งไปรู้สึกไป อย่าใจลอย ต้องไม่ใจลอยไปนะ รู้สึกตัวก่อน พอรู้สึกตัวแล้ว ดูกาย เห็นร่างกายที่นั่งอยู่เนี่ย เป็นของถูกรู้ถูกดู นั่งดูไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งกระดุกกระดิกนะ นั่งดูไปนานๆ จะเห็นว่ากายก็อยู่ส่วนกาย จิตก็อยู่ส่วนจิต กายกับจิตนี้เป็นคนละอันกัน จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู

พอเรานั่งไปนานๆมันปวดมันเมื่่อยขึ้นมา เห็นอีก ความปวดความเมื่อยแต่เดิมไม่มีนะ ร่างกายเรานั่งอยู่สบายๆ ความปวดความเมื่อยเป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาทีหลัง แปลกปลอมเข้ามาทีหลัง เพราะฉะนั้นความปวดความเมื่อยไม่ใช่ร่างกาย เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาอีกอันหนึ่ง คนละอันกับร่างกาย ความปวดความเมื่อยเนี่ย ภาษาพระเขาเรียก เวทนา คือความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ ทางร่างกายก็ได้ ทางจิตใจก็ได้ ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ทางกาย ความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์รู้สึกเฉยๆทางใจ ทางใจมีเฉยๆด้วย ตัวนี้ไม่ใช่ร่างกาย ตัวนี้ไม่ใช่จิตใจ

ยกตัวอย่าง พอเรานั่งไปนานๆพอมันปวดขึ้นมา ค่อยดูไป ทำใจสบายๆดูไป ความปวดก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความปวดเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความปวดเป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกายด้วย แล้วก็ไม่ใช่จิต เพราะมันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้านะ เนี่ยค่อยๆหัดตัวนี้นะ พอมันปวดมากเข้าๆอย่าเพิ่งกระดุกกระดิกนะ ทนๆเอาก่อน

มันปวดมากๆนะ ใจมันชักทุรนทุราย เช่นชักเป็นห่วงร่างกายแล้ว นั่งนานปวดมากอย่างนี้อาจจะเป็นอัมพาตได้ เดี๋ยวเดินไม่ได้ จะพิกลพิการใครจะเลี้ยง เห็นมั้ย ใจเริ่มฟุ้งแล้ว ใจเริ่มปรุงแต่ง วิตกกังวลอะไรต่ออะไรขึ้นมาเยอะแยะไปหมดเลย ความปวดมันอยู่ที่ร่างกายนะ แต่ความทุรนทุรายมันอยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นเนี่ย ความปวดนะ กับความกลุ้มอกกลุ้มใจเนี่ย คนละอันกัน คนละขันธ์กัน ความกลุ้มอกกลุ้มใจเนี่ย ภาษาพระเขาเรียกว่า “สังขารขันธ์” คนละขันธ์กันนะ

เนี่ยมาหัดแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา จะเห็นเลย ความทุรนทุรายเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ไม่ใช่จิตด้วย ไม่ใช่ร่างกายด้วย ไม่ใช่เวทนาคือความปวดความเมื่อยนั้นด้วย คนละอันกันนะ นี่ค่อยๆหัดแยกนะ ค่อยๆฝึกทุกวันๆแล้วค่อยแยกไป

จะทำงาน จะกวาดบ้าน จะถูพื้น จะซักผ้า จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน คอยดูร่างกายมันทำงานไปเรื่อยนะ มันเจ็บ มันปวดขึ้นมา ก็คอยรู้เอา มันสุขมันสบายก็คอยรู้เอา มันดีใจ มันเสียใจ มันจะมีความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้น คอยรู้เอา สุดท้ายเราจะแยกธาตุแยกขันธ์ออกไป เราจะเห็นเลยร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้น เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งนะ เดินไปเดินมา ไม่มีตัวเราในร่างกายนี้

ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นแค่สภาวธรรมอันหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเราอีก สั่งให้เกิดก็ไม่ได้ ยกตัวอย่าง สั่งให้มีความสุขก็สั่งขึ้นมาไม่ได้ ห้ามไม่ให้มีความทุกข์ก็ห้ามไม่ได้ พอมันสุขแล้วรักษาเอาไว้ก็ไม่ได้ มีความทุกข์ขึ้นมาไล่มันก็ไม่ไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เนี่ยดูของจริงเข้าไป ดูเข้าไป

จะเห็นเลยว่าร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา แล้วร่างกายนี้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวหายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า เดี๋ยวยืน เดี๋ยวเดิน เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวนอน ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ร่างกายมีแต่ความทุกข์ นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ กลางคืนนอนพลิกซ้ายพลิกขวาประมาณ ๔๐ ครั้งนะ คืนหนึ่งๆ มันปวดมันเมื่อยมันทุกข์นะ เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ก็นึกว่าร่างกายเราไม่ทุกข์ ความจริงร่างกายเราทุกข์ตลอดเวลาเลย

ร่างกายเป็นเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งนะ เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นก้อนดิน ก้อนน้ำ ก้อนไฟ ก้อนลม นี้มันเป็นอนัตตา

ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ก็เป็นของไม่เที่ยง มีแล้วก็ไม่มี อย่างนี้นะ ยกตัวอย่างความสุข มีแล้วก็หายไป ความทุกข์ก็หายเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่หาย ทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้นเลย เนี่ยเฝ้ารู้ลงไปนะ จะเป็นหายใจออกเกิดแล้วก็ดับ หายใจเข้าเกิดแล้วก็ดับ ยืนเกิดแล้วก็ดับ นั่งเกิดแล้วก็ดับ นั่งแล้วไม่ได้นั่งตลอดนี่ เดี่ยวก็เปลี่ยน ความสุขความทุกข์นะ สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว กุศล อกุศล ที่เกิดขึ้นนะ เช่นความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ชั่วคราวอีก มีใครโกรธตลอด มีมั้ย มีใครโลภตลอดมั้ย ไม่มี มีแต่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับอยู่ตลอดเวลานะ เนี่ย เฝ้าดูของจริงลงไป

ส่วนตัวจิตตัวใจดูอย่างไร ตอนนี้ต้องค่อยๆหัดดูะ จิตเดี๋ยวก็วิ่งไปทางตา วิ่งไปดู เดี๋ยวก็วิ่งไปทางหู วิ่งไปฟังนะ วิ่งไปดูอย่างเดียวไม่พอ สังเกตให้ดีตอนที่นั่งฟังหลวงพ่อเทศน์เนี่ย ดูหน้าหลวงพ่อบ้างใช่มั้ย ตั้งใจฟังบ้างใช่มั้ย หนีไปคิดบ้างใช่มั้ย สลับกันตลอดเวลา นึกออกมั้ย ไม่ได้ฟังอย่างเดียว ฟังไปคิดไป แล้วบางทีก็ดูหน้าหน่อยนึ่ง นึกออกมั้ย แล้วก็ตั้งใจฟัง ตอนที่ตั้งใจฟังไม่ได้ดูหน้าหรอกนะ ฟังนิดนึงแล้วก็หนีไปคิด ฟังแล้วก็หนีไปคิด เห็นมั้ย เนี่ยจิตมันเปลี่ยนนะ เดี๋ยวก็เปลี่ยน เดี๋ยวจิตก็ดู เดี๋ยวจิตก็ฟัง เดี๋ยวจิตก็คิด จิตเกิดดับเหมือนกัน เกิดดับอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

จิตจะเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ สั่งไม่ได้ มันเกิดเอง เดี๋ยวก็ไปดู เดี๋ยวก็ไปฟัง เดี๋ยวก็ไปคิด พวกเราตอนนี้ดูของจริงลงไปเลย จริงหรือเปล่า? ฟังไปคิดไปจริงมั้ย? หัดรู้ตรงนี้เลยนะ เราจะเห็นเลยว่า เดี๋ยวก็ฟัง เดี๋ยวก็คิด จิตจะไปฟัง ไม่ได้เจตนาฟัง จิตจะไปคิด ไม่ได้เจตนาคิด มันเป็นของมันเอง ตรงที่เห็นมันเกิดดับทางอายตนะเนี่ย มัน “ไม่เที่ยง” ตรงที่เห็นเราบังคับ(จิต)ไม่ได้เนี่ย เรียกว่า “อนัตตา”

เนี่ยเรามาดูสิ่งที่เรียกว่า “ตัวเรา” ขันธ์ ๕ เนี่ย ตัวรูป ตัวเวทนา ตัวสังขาร ตัวจิตคือตัววิญญาณ ดูก็เห็นมีแต่เกิดดับไปเรื่อย ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จะเห็นเลย ร่างกายที่หายใจอยู่ ไม่ใช่เรา ความสุขความทุกข์ไม่ใช่เรา กุศล อกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่เรา ตัวจิตก็ไม่ใช่เรา ฝึกไปแล้วมันจะเห็นเองนะ ฝึกแล้วมันจะเห็นเอง จะพบว่าไม่มีตัวเราไม่มีในกายนี้ ไม่มีตัวเราในจิตนี้ ตัวเราเกิดจากความคิด ต้องหลงน่ะ ต้องหลงไปก่อนถึงจะไปคิดนะ จิตหลงเมื่อไหร่จิตก็ไปคิด จิตไปคิดก็เกิดตัวตนขึ้นมา ถ้าจิตมีสติ รู้สึกอยู่นะ จิตไม่หลงไปอยู่ในความคิดนะ ตัวตนจะไม่มีหรอก ตัวตนมันเกิดจากความคิดเท่านั้นเอง เหมือนคำว่ารถยนต์เนี่ย เราคิดว่ามีรถยนต์ ก็คิดขึ้นมา ทั้งที่จริงๆแล้วมันเป็นอะไหล่หลายร้อยหลายพันชิ้นมารวมกัน ตัวนี้ก็เหมือนกัน เราคิดว่าเป็นตัวเรา แต่พอเราแยกธาตุแยกขันธ์ออกไปแล้ว มันไม่ใช่ตัวเราหรอก เนี่ยหัดดูอย่างนี้นะ เรียกว่าการเจริญปัญญา ฟังเหมือนยาก ไม่ยากหรอก

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่วัดประชาสันติ จ.พังงา
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔

CD: วัดประชาสันติ จ.พังงา วันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
File: 540123.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๓๒ วินาทีที่ ๔ ถึง นาทีที่ ๔๐ วินาทีที่ ๕๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ตามองเห็นรูปทำผิดได้ ๔ แบบ

mp 3 (for download) : ตามองเห็นรูปทำผิดได้ ๔ แบบ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ดูอายตนะ ผิดได้ ๔ แบบ

ตามองเห็นรูปทำผิดได้ ๔ แบบ

หลวงพ่อปราโมทย์: เราชอบตีความเพี้ยน ตีความเพี้ยนนะ ยกตัวอย่างบางคนหัดภาวนา เมื่อตามองเห็นรูป ท่านสอนอย่างนี้นะ เมื่อตามองเห็นรูป ความรู้สึกเกิดที่จิตน่ะ ความยินดียินร้ายเกิดที่จิต ให้มีสติรู้ทันนะ หน้าที่ของเราก็รู้ทันอย่างนี้นะ ไม่ใช่เมื่อตามองเห็นรูป เอาสติกำหนดไว้ที่จักษุประสาท จักขุประสาท เฉยๆ กำหนดอยู่ที่จักขุประสาท รู้จักมั้ย คือตัวที่รับภาพน่ะ ตัวเส้นประสาทที่รับภาพน่ะ

ถ้าจิตไปกำหนดไว้ที่จักขุประสาทเนี่ย ทุกอย่างจะนิ่งหมดเลย ไม่มีกิเลส เพราะอะไร เพราะจักขุประสาทเป็นรูป กิเลสไม่ได้อยู่ที่รูป แล้วก็จิตที่เกิดที่ตาที่เรียกว่าจักขุวิญญาณจิต จักขุวิญญาณจิตเป็นวิบากจิต เป็นจิตอัตโนมัติเกิดขึ้นธรรมดา หมาก็มี พระอรหันต์ก็มีนะ ไม่ได้ว่าท่านเทียบกับหมาหรอกนะ แต่หมายถึงว่าสัตว์ที่มีตาทั้งหมดน่ะ มันก็มีจักขุวิญญาณจิต แล้วจักขุวิญญาณจิตนี้ไม่มีกิเลสสักตัวเดียว ในขณะที่หมามองเห็นก็ไม่เกิดกิเลส ในขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมมองเห็นก็ไม่ได้เกิดกิเลส กิเลสเกิดตามหลังนั้นมาต่างหาก ถ้าเราเอาสติไปจ้องอยู่ที่ตานะ เอาสติไปจ้องอยู่ที่ประสาทหู จ้องอยู่ที่ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย กายะประสาท ทุกอย่างจะนิ่ง ไม่มีกิเลส

ไม่มีกิเลสไม่ใช่เพราะว่าไม่มีกิเลส ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีอนุสัย แต่อนุสัยไม่มีโอกาสทำงาน เพราะไปเพ่งไว้เฉยๆ เพราะฉะนั้นมันคือการเพ่งรูปนะ มันคือการเพ่งรูป ถ้าเพ่งเข้าไปเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็ไม่มีกิเลสเกิดแล้วแหละ ในขณะที่เพ่งอยู่ไม่มีกิเลสหยาบๆขึ้นมาได้หรอก แต่มีกิเลสที่อยู่เบื้องหลังการเพ่ง กิเลสที่อยู่เบื้องหลังการเพ่งนั้นคือโลภะ และทิฏฐิ โลภะก็คือ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ ทิฎฐิก็คือคิดว่าทำอย่างนี้แล้วจะดี ทำอย่างนี้แล้วจะถูก เพราะฉะนั้นในขณะนั้นกิเลสครอบงำจิตอยู่แท้ๆเลย แต่ไม่รู้ไม่เห็นเลย

เพราะฉะนั้นจะต้องระมัดระวังมากนะในการเรียนกรรมฐานเนี่ย แค่ตามองเห็นรูปเนี่ยทำผิดได้ ๔ แบบ อย่างนี้จะมากกว่านี้ก็คงมีนะ แต่ภูมิปัญญาของหลวงพ่อรู้ได้แค่ ๔ แบบ ที่เห็นทำผิดอยู่

แบบที่ ๑ ไปกำหนดอยู่ที่รูป (ที่ตาเห็น) อันนี้ออกนอกเลย ไปกำหนดอยู่ที่รูป

อย่างที่ ๒ ไปกำหนดอยู่ที่จักขุประสาท ถามว่าตรงนี้จิตออกนอกมั้ย ออกนอกเรียบร้อยแล้ว จิตเคลื่อนไปที่จักขุประสาท จิตส่งออกนอกไปเรียบร้อยแล้ว ไปเพ่งจักขุประสาท

อย่างที่ ๓ นะ เอาสติไปจ่ออยู่ตรงผัสสะ ตรงที่มีการกระทบระหว่างตา รูป และความรู้สึก สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนะ คือการประชุมกันของธรรมะ ๓ อย่าง คือ อายตนะภายนอก อายตนะภายใน แล้วก็จิต เพราะฉะนั้นไปดักดูตรงการกระทบของสิ่งสามสิ่งนี้ ก็นิ่งเหมือนกัน

อย่างที่ ๔ ก็ไปเพ่งจิตที่เกิดขึ้นทางอายตนะ เพ่งจิตที่ไปเห็นรูป

เพราะฉะนั้นตรงนี้เพ่งได้ตั้ง ๔ แบบ เห็นมั้ย ทางที่ผิดนี้ละเอียดละออเลย ยิบยับไปหมดเลย ถ้าไม่เรียนให้ดีจะนึกว่าดี ว่าทำอยู่ตรงนี้แล้วเหมือนไม่มีกิเลส กิเลสไม่มีโอกาสเกิดต่างหาก แต่ว่ามันเกิดไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ส่งจิตไปดู แค่นั้นก็ส่งจิตออกนอกแล้ว คือเมื่อไรออกนอกจากการรู้นะ รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เมื่อนั้นออกนอกทั้งนั้นล่ะ แต่หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้ห้าม

หลวงปู่ดูลย์บอกว่า ธรรมดาจิตต้องออกนอกเพื่อจะไปรู้อารมณ์ เพียงแต่ออกนอกแล้วนะ พระอริยเจ้าทั้งหลายเนี่ย จิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ต่างกันตรงนี้เท่านั้นเอง ส่วน พระอริยเจ้า คำว่าพระอริยเจ้าของท่านเนี่ย หมายถึงพระอรหันต์ พระอนาคาฯก็ยังกระเพื่อมหวั่นไหวได้นะ หวั่นไหวในอะไรพระอนาคาฯ หวั่นไหวในรูปฌาน อรูปฌาน ยังยินดีพอใจในรูปฌาน อรูปฌาน ถ้าต่ำกว่าพระอนาคาฯนี้ จะยินดีในกาม ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ยินดีในการคิดเรื่องกาม และก็ยินร้ายในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ยินร้ายในการคิดเรื่องกาม เพราะฉะนั้นจะมีความยินดียินร้ายเกิดขึ้นทั้งสิ้น

เพราะธรรมชาติของจิตต้องออกไปรู้อารมณ์ แต่เมื่อรู้อารมณ์แล้วเนี่ย เฉพาะพระอรหันต์จิตไม่ยินดียินร้ายไม่กระเพื่อมหวั่นไหว นอกนั้นกระเพื่อมหวั่นไหวอยู่ กระเพื่อมหวั่นไหวอยู่มีสติรู้ทันมัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ภาวนาดูจิตแล้วห้ามกระเพื่อมหวั่นไหวนะ เข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเลย

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ หลังฉันเช้า

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๖
Track: ๘
File: 530829B.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๕ วินาทีที่ ๑ ถึง นาทีที่ ๑๙ วินาทีที่ ๔๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

วิปัสสนาแท้ๆ ต้องเห็นสันตติขาด หรือ ฆนะแตก

mp 3 (for download) : วิปัสสนาแท้ๆ ต้องเห็นสันตติขาด หรือ ฆนะแตก

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์: รู้กายรู้ใจแล้วต้องเห็นไตรลักษณ์ ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ อาศัยสัญญาลงไปหมายรู้ ดูลงที่กาย ในมุมอะไรที่เหมาะกับการดูกาย ในมุมของความเป็นทุกข์ กายนี้มีแต่ทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลานะ อย่าไปมองมุมของกายในแง่อนิจจัง ดูยาก เพราะอายุของกายมันยาวกว่าจิต กายมันอายุยืนกว่าจิต รูปอายุยืนกว่านาม

เพราะฉะนั้นดูความเป็นทุกข์ของมัน กายนี้มีแต่ทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจออกหายใจเข้าเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่หายใจก็ทุกข์ ยืนเดินนั่งนอนเต็มไปด้วยความทุกข์ ดูไปเรื่อยๆ ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะมันมีความทุกข์บีบคั้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นการหมายเข้าไปๆ ยังไม่ใช่ของจริงนะ

หรือมองในมุมของอนัตตา ร่างกายเป็นแค่วัตถุเป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นวัตถุ มันเป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก นี่ไปหมายเอา นี่เรียกอนัตสัญญา ไปหมายเอา อันนี้ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาแท้ๆ วิปัสสนาแท้ๆไม่ได้เจตนาไปหมายเอา แต่เป็นการนำร่องให้จิตซึ่้งไม่ยอมเดินปัญญานั้นมันรู้จักการเดินปัญญา รู้จักมามองไตรลักษณ์ พอมันมองไตรลักษณ์เป็นแล้ว คราวเนี้ยมันจะเห็นรูปนามนั้นแสดงไตรลักษณ์โดยตัวของมันเอง ไม่ได้มีเจตนา ตรงนี้จะขึ้นวิปัสสนาละ จะเห็นรูปเกิดแล้วก็ดับไป เห็นนามเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นรูปแตกกระจายตัวออกไป นามแตกกระจายตัวออกไป ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของรูปนามแตกออกไป เรียกว่าฆนะ ฆนะ ฆ.ระฆัง น.หนู ฆนะมันแตก

หรือเห็นความเกิดดับ เห็นจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นดับไป มีช่องว่างมาคั่น ดวงหนึ่งเกิดขึ้นดับไป มีช่องว่างมาคั่น อันนี้เรียกว่าสันตติมันขาด ตรงที่ขึ้นวิปัสสนาเนี่ย บางคนเห็นฆนะมันแตก ฆนะไม่ใช่ค.ควายนะ เป็นฆ. ระฆัง ฆนะ ฆ.ระฆัง น. หนู เห็นฆนะมันแตก เห็นสันตติมันขาด

อย่างบางคนภาวนาเห็นมั้ยขันธ์มันกระจายตัวไป ที่หลวงพ่อบอกขันธ์มันกระจายออกไป นั่นคือฆนะมันแตกแล้ว หรือบางคนเห็นว่ามันเกิดแล้วดับวับ แล้วมีช่องว่างมาคั่น เนี่ยสันตติมันขาด ถ้าเห็นอย่างนี้นะ จะรู้เลยว่าตัวตนจริงๆไม่มี

สวนสันติธรรม
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๕
Track: ๔
File: 510421.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๐ วินาทีที่ ๔๘ ถึง นาทีที่ ๑๓ วินาทีที่ ๑๒

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

พอขันธ์กระจายตัวออกไปเนี่ย ปัญญามันจะเกิดได้

mp3 for download : พอขันธ์กระจายตัวออกไปเนี่ย ปัญญามันจะเกิดได้

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

พอขันธ์กระจายตัวออกไปเนี่ย ปัญญามันจะเกิดได้

พอขันธ์กระจายตัวออกไปเนี่ย ปัญญามันจะเกิดได้

หลวงพ่อปราโมทย์ : สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในใจทั้งสิ้น มิใช่จิตหรอก ราคะไม่ใช่จิตนะ เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต โทสะก็ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต โมหะก็ไม่ใช่จิตอีก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา ปัญญา เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่จิตทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต เรียกว่า “สังขาร”

สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิตมีสองอัน มีเวทนากับสังขาร สัญญานี้เป็นตัวแปลความหมาย ไม่ต้องเรียนเยอะ เรียนเยอะแล้วเดี๋ยวเวียนหัว ถึงสัญญานี้พร้อมจะเพี้ยนแล้ว เพราะจริงๆขณะนี้ พูดตรงๆนะ พวกเรามีสัญญาวิปลาส ไม่ได้แปลว่าบ้านะ สัญญาวิปลาสคือการหมายรู้ผิดๆ จิตวิปลาสคิดผิดๆ สัญญาวิปลาสหมายรู้ผิดๆ ทิฏฐิวิปลาสมีความเห็นผิดๆ พวกเรามีวิปลาสเยอะแยะเลย หลายอย่าง ตอนนี้ยังดูยาก เพราะฉะนั้นค่อยๆหัดดูของจริง หัดเจริญสติ หัดภาวนาไปนะ วันหนึ่งหายวิปลาสได้ หายบ้าได้ ความเห็นก็เห็นถูก ความคิดก็คิดถูก การหมายรู้ ก็หมายรู้ถูกๆ จะถูกขึ้นมา ค่อยฝึกเอา

เพราะฉะนั้นตอนนี้ สิ่งที่เราต้องหัดรู้อันแรกเลย ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง เวทนา ความสุขความทุกข์ในกาย ความสุขความทุกข์ ความเฉยๆในใจ อันนี้อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “เวทนา” ความปรุงดี ความปรุงชั่ว ความปรุงกลางๆไม่ดีไม่ชั่ว อันนี้เกิดขึ้นที่ใจเรียกว่า “สังขาร” เป็นสามอันแล้วนะ มีรูป มีเวทนา มีสังขาร มีจิตเป็นคนรู้คนดู ฝึกให้ได้อย่างนี้นะ

พอขันธ์กระจายตัวออกไป ปัญญามันจะเกิดได้ ถ้าขันธ์มันมารวมตัวกัน มันรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อน มันจะรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ แต่ถ้าขันธ์นี้แยกตัวออกไป กระจายออกไป มันจะเห็นรูปที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี้ไม่มีเรา ตัวที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี้ไม่ใช่เราแล้ว เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเคลื่อนไหว ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เห็นทันทีเลย

เห็นได้เพราะอะไร? อันที่หนึ่ง สติระลึกรู้รูปที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ มีสติระลึกรู้รูปนี้ ถ้าใจลอยจะเห็นไม่ได้ ใจลอยก็ลืมกายลืมใจ เพราะฉะนั้นอันที่หนึ่ง มีสติรู้รูปที่กำลังเคลื่อนไหว อันที่สอง ใจนั้นมีสัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดู ใจมันอยู่ต่างหาก มันแยกออกมาอยู่ต่างหาก เป็นแค่คนดู มันจะเห็นว่าตัวที่เคลื่อนไหวอยู่นี้ ไม่ใช่เราเลย เป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้นเอง สิ่งใดถูกรู้ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวเรา

พวกเราเห็นไหม พัดนี้ถูกพวกเรารู้อยู่ รู้สึกไหม? มีใครเห็นพัดเป็นตัวเรา มีไหม? ไม่มีนะ ยกเว้นคนชื่อพัชนะ ถามว่าพัดเป็นเราไหม พัชเป็นเราค่ะ

ดูลงไปเรื่อยๆนะ ในที่สุดจะเห็นเลย รูปที่เคลื่อนไหวอยู่ รูปที่หยุดนิ่งอยู่ รูปที่หายใจ รูปที่ยืนเดินนั่งนอนอยู่ ไม่ใช่ตัวเราหรอก ไม่ใช่คนด้วย เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ดูอย่างนี้

ดูความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์เกิดขึ้น ความสุขเกิดขึ้นมา ใครเห็นความสุขเป็นเราก็เพี้ยนแล้ว ความปวดขาเกิดขึ้น ใครเห็นความปวดเป็นเราก็เพี้ยนแล้ว ไม่เป็นหรอก ดูง่ายนะ จะเห็นว่าไม่ใช่เรา

ตัวที่เหนียวแน่นที่สุดว่าเป็นเราคือจิตนะ เหนียวแน่นอันดับสองที่ว่าเป็นเราคือกาย คือตัวรูป ส่วนตัวที่เหลือนี่เป็นตัวที่ดูง่ายว่าไม่ใช่เรา แต่ว่าดูตัวมันยากนะ มันละเอียด


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
ลำดับที่ ๗
File: 530606A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๓๗ ถึง นาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๑๖

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้

mp3 for download : จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้

จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้

หลวงพ่อปราโมทย์ : เพราะรู้อยู่อย่างเดียวว่า จิตต้องอยู่ในร่างกายนี้แน่ จิตไม่อยู่เกินร่างกายออกไปหรอก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้นะ กรรมฐานของเราจะวนเวียนอยู่ไม่ให้เกินร่างกายออกไป

หลวงพ่อไล่เลยนะ จิตอยู่ในผมหรือเปล่า? เพราะเราไม่รู้จักจิตน่ะ จิตอยู่ในผมไหม ตอนนั้นผมยาวเหมือนโยมนะ ดึง บี้ๆดู ไม่เห็นจะมีจิตตรงไหนเลย มันเป็นวัตถุเฉยๆ จิตอยู่ในขนหรือเปล่า? ขนคิ้ว เมื่อก่อนก็มีขนคิ้ว ตอนนี้สั้นจุ๊ดจู๋ บี้ๆดูนะ ก็ไม่เห็นมีจิต อยู่ในผมขน ในเล็บมีไหม ในเล็บก็ไม่มีนะ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ๆอยู่ในร่างกาย ไล่ไปไล่มา ไม่เห็นจะมีจิตเลย แต่จิตต้องอยู่ในกาย แต่เราหาไม่เจอ จิตอยู่ในหัวใจหรือเปล่า? อยู่ที่ไหนหรือเปล่า ไล่ยังไงก็ไม่เจอ

เอ๊ะ..จิตคงไม่ใช่วัตถุแล้ว จิตมันนึกขึ้นได้นะ จิตมันไม่ใช่วัตถุ เราไปหาแต่ตัววัตถุมันก็ไม่เจอสิ จิตมันต้องเป็นความรู้สึก หรือว่าความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ จิตอยู่ในความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ทำใจให้สบายรู้สึกมีความสุขขึ้นมา ดูลงไปที่มีความสุขก็ไม่เห็นจิตอีกนะ ความสุขไม่ใช่จิตอีกละ กลุ้มใจขึ้นมานะความกลุ้มใจก็ไม่ใช่จิตอีกละ ดูไปๆนะ ในที่สุดก็จับได้ จิตเป็นคนรู้

พอจิตเป็นคนรู้ เราก็ค่อยๆเห็น ทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่จิตรู้ นี่ถ้าพูดในภาษาอภิธรรม ภาษาปริยัตินะ ก็คือ จิตกับอารมณ์นั่นเอง จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตไปรู้เข้า คำว่า “อารมณ์” ในทางศาสนาพุทธไม่ได้แปลว่า emotion อารมณ์แบบที่พวกเรารู้จักในคนยุคนี้รู้จัก อารมณ์นั้นเป็นศัพท์เฉพาะ แปลว่าสิ่งที่ถูกจิตรู้ เป็นของที่คู่กับจิตเสมอเลย มีจิตเมื่อไหร่ต้องมีอารมณ์ มีอารมณ์ต้องมีจิต เป็นของคู่กัน

เพราะฉะนั้นเรารู้แล้วว่า จิตเป็นคนรู้ คราวนี้ค่อยๆสังเกตนะ สวดมนต์ในใจ “พุทฺโธ สุสุทฺโธ กรุณามหณฺณโว” เห็นเลย คำว่า “พุทฺโธ สุสุทฺโธ” นะ มันเหมือนงูเลื้อยออกมาจากถ้ำ เลื้อยผุดๆขึ้นมาจากความว่างๆ จิตเป็นคนดูอยู่ จิตมันก็ถอนตัวปุ๊บออกมาเป็นคนดู นี่ดูมาจากสุรินทร์นะ ไปแวะโคราชด้วย ไปหาหลวงพ่อพุธแล้วก็ขึ้นรถไฟต่อมากรุงเทพฯอีก คนละขบวนกัน มาถึงกรุงเทพฯค่อยเห็นหรอกว่า จิตมันเป็นตัวรู้ นี่จับเอาตัวรู้แยกออกมาได้นะ แต่แยกได้แว้บเดียวเอง จิตตัวรู้ก็ไหลเข้าไปรวมกับอารมณ์อีก เพราะมันคุ้นเคยที่จะไหลเข้าไปรวมกัน

อีกเจ็ดวันต่อมานะ ดึงลูกเดียวเลย ทำอย่างไรจิตมันจะแยกออกมา หลวงปู่ให้ดูจิต เราจะได้ดึงให้หลุดออกมาแล้วจะไปดูมัน นี่เข้าใจผิดละ ดูจิตไม่ได้ไปดูตัวจิตตรงๆนะ จริงๆก็คือดูตัว “เจตสิก” คือธรรมชาติที่เกิดร่วมกับจิต มันทำให้เห็นเลย จิตที่โกรธก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตที่โลภก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตที่หลง จิตที่สุข จิตที่ทุกข์ อะไรอย่างนี้ เป็นแต่ละดวงๆ คนละดวงกัน

ถ้าไปแยกเอาตัวรู้ออกมาจะคงที่ แล้วตัวรู้ก็เป็นตัวรู้อยู่นั่นเอง เหมือนไฟนี้ จับกี่ทีก็ร้อนทุกที ก็คงที่อยู่อย่างนั้น เราไม่ได้แยกอย่างนั้น แต่หลวงพ่อหัดใหม่ๆ ครูบาอาจารย์ไม่ได้ช่วยย่อยให้ ก็ลำบาก พยายามแยก ดึงๆใหญ่เลยนะ หาทาง ทั้งดึงทั้งผลัก แหมแทบจะเรียกว่าเอาเท้าถีบมันเลย ทางนี้ก็พยายามเหนี่ยวนะ จะให้มันแยกออกมา

ทำอยู่อาทิตย์หนึ่ง หลุดออกมาได้ อา..ดีจังเลย หลุดออกมาแล้ว หลุดออกมาแป๊บเดียวเอง ไม่กี่ขณะนะ ไหลเข้าไปรวมอีกแล้ว เฮ่อ..แต่ก็ยังดีวะ ดึงเจ็ดวันนะ มันหลุดออกมาได้นานขึ้น เห็นไหม ให้กำลังใจตัวเองด้วยนะ นี่มีพัฒนาการแล้วเห็นไหม ดึงแล้วมันแยกออกมาได้ ดึงอีกห้าวันนะ คราวนี้หลุดออกมาได้เป็นนาทีแล้ว
อยากดึงใหญ่ กะนะวันหนึ่งเราจะฝึกตัวเราไปเรื่อยจนกระทั่งวันหนึ่งมันหลุดออกมาตลอดเลย มันจะไม่เข้าไปอีกแล้ว คิดเอาว่าถ้ามันหลุดออกมาได้ตลอดนี่ต้องได้เป็นพระอรหันต์แน่ๆเลย เพราะจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเลย จิตไม่เห็นเจตสิก นี่น่ะไม่เข้าใจเลยนะ ฟัดกับมันอยู่อย่างนี้ ๓ เดือน ถ้ามันหนักๆก็แยกไป หนักๆก็ไม่ใช่จิตนะ แยกไป ค่อยๆแยก ค่อยๆย่อย ค่อยๆสลาย สิ่งที่ไม่ใช่จิตไปเรื่อย จะเอาจิต

ฝึกอยู่ ๓ เดือนนะ ไปส่งการบ้านหลวงปู่ดูลย์ กะว่าท่านชมแน่เลยว่าเราฉลาด ลูกศิษย์คนนี้เก่งจังเลย อะไรอย่างนี้นะ สามารถแยกเอาจิตออกมาได้ละ ไปถึงแล้วนึกว่าท่านจะชม ท่านกลับบอกว่า ไปยุ่งกับอาการของจิต ยังไม่ได้ดูจิตเลย ไป กลับไปทำใหม่ ที่ทำอยู่ผิด แล้วที่ถูกล่ะเป็นอย่างไร ไม่บอกนะ รู้อย่างเดียวที่ทำอยู่ผิด

เอ..ไปพยายามแยกมันนี่ผิดแฮะ นึกขึ้นได้ว่าท่านบอกว่าให้ “ดูจิต” นี่ ท่านบอกให้ดู ท่านไม่ได้บอกให้แยกนะ เราเสือกไปแยกเอง นี่..ต้องคำนี้นะ เราเสือกไปแยกเองน่ะ ท่านบอกให้ดูต่างหากล่ะ เอาใหม่ คราวนี้เป็นอย่างไร รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น มันโลภ เห็นมันโลภนะ มันโกรธ เห็นมันโกรธนะ บางทีใจก็แยกออกมา บางทีก็ไหลเข้าไปรวมกัน ยังไงก็ได้ จริงแล้วยังไงก็ได้ ฝึกไปๆนะ จนวันหนึ่งก็แจ้งขึ้นมา มันไม่มีเรา จิตนี้ก็ไม่ใช่เรา อะไรก็ไม่ใช่เรา


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๐
File: 520418.mp3
ลำดับที่ ๑
ระหว่างนาทีที่ ๑๒ วินาทีที่ ๕๗ ถึง นาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๒๒

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า

mp3 for download : ร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า

ร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า

หลวงพ่อปราโมทย์ : เนี่ยเราหัดภาวนานะ เราอย่าไปวาดภาพการภาวนาอะไรลึกลับซับซ้อนมากมาย การภาวนาก็คือการหัดมาเห็นไตรลักษณ์ของสิ่งซึ่งเป็นคู่ๆ ทีนี้สิ่งที่เป็นคู่ๆมันมีสองส่วน ส่วนภายนอกกับส่วนภายใน พยายามน้อมกลับเข้ามาเรียนส่วนภายใน โอปนยิโก น้อมกลับเข้ามาหาตัวเอง มาเรียนรู้ตัวเอง

ของเรามีเป็นคู่ๆนะ อันแรกเลย คู่แรกเลย มีรูปกับนาม มีกายกับใจ หรือมีสิ่งที่ถูกรู้ กับมีผู้รู้ จิตนั้นแหละเป็นผู้รู้ อันอื่นๆนอกจากจิตเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่จิต จิตเป็นธรรมชาติรู้ ในตัวเรามีธรรมชาติรู้ รู้สึกมั้ย ในนี้มีคนรู้อยู่คนหนึ่งคอยรู้เรื่องโน้นคอยรู้เรื่องนี้ แถมไม่รู้เปล่าๆนะ รู้แล้วคิดด้วย เป็นผู้รู้สึกนึกคิด

เนี่ยเราค่อยๆหัดแยกนะ หัดแยกไป เรียนจากสิ่งที่เป็นคู่ๆนี้แหละ อันแรกคู่แรกที่อยากแนะนำให้พวกเราหัดแยกออกไปนะ ก็คือ กายกับใจ หัดแยกรูปกับนามก่อน คำว่ากายกับใจ กับ รูปกับนาม เนี่ย ไม่ตรงกันทีเดียวหรอกนะ เรียกโดยอนุโลมเพื่อให้พวกเราที่ไม่ได้เรียนอภิธรรมได้ฟังรู้เรื่อง กายกับรูปคนละอันกัน แต่ว่าถ้าพูดคำว่ารูปจะฟังแล้วงง คำว่านามฟังแล้วก็งง เอาภาษาไทยง่ายๆก่อนนะ คอยรู้แยกกายกับใจก่อน

ต่อไปค่อยเรียน พอเห็นสภาวะอย่างแท้จริง จะพบว่ากายไม่มีจริงหรอก กายเป็นรูป ส่วนที่เราว่าใจ ใจไม่ใช่ใจอันเดียว ประกอบด้วยธรรมะจำนวนมากเลย มาทำงานร่วมกัน เรียกว่าจิต กับเจตสิก มาทำงานด้วยกัน ตอนนี้เอากายกับใจก่อน

วิธีที่จะหัดแยกนะ ขั้นแรกเลย เรารู้อารมณ์อันเดียว รู้กายนี้แหละ ง่ายๆ นั่งอยู่ก็ได้ นั่งสมาธินะ หรือนั่งพัดไปเนี่ย หลายคนนั่งพัด ไม่ว่านะ พัดได้ เนี่ยหลวงพ่อยังมีพัดเลย เอาไว้ไล่แมลงวัน แมลงหวี่เยอะ เราเคลื่อนไหวไป พยายามเคลื่อนไหว บางคนไม่มีพัด มีอะไรที่เคลื่อนไหวในตัวเอง มีการหายใจ ใช่มั้ย ร่างกายนี้หายใจอยู่ ท้องนี้พองยุบอยู่ เนี่ยเบื้องต้นดูอย่างนี้ก่อน ดูร่างกายของตัวเองนะ ร่างกายนั่งอยู่ ร่างกายหายใจอยู่ ร่างกายพองยุบอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ ดูกาย

แล้วค่อยๆสังเกตว่า ร่างกายเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า รู้สึกมั้ย เราไม่ได้พัดเฉยๆนะ มันมีคนหนึ่งเหมือนเป็นคนดูอยู่ แต่ไอ้คนดูอยู่จะอยู่ตรงไหนเราไม่รู้หรอก รู้สึกว่ามันอยู่ข้างในนี้ บางคนก็ว่าคงอยู่ที่หัว บางคนว่าอยู่ตรงนี้ จริงๆจิตอยู่ที่ไหนก็ได้นะ จิตไม่มีที่ตั้งหรอก จิตอยู่ตรงไหนก็ได้ จิตเกิดร่วมกับอารมณ์

ค่อยๆสังเกตไป ร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า หัดอย่างนี้เรื่อยๆ ดูเหมือนดูคนอื่น ถ้าดูตัวเองยังไม่ออก ลองดูคนอื่นก่อน ดูคนที่นั่งข้างๆเรา เราเห็นมั้ย คนที่นั่งข้างๆเราเนี่ย เป็นสิ่งที่จิตของเราไปรู้เข้า เป็นสิ่งถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ดูคนข้างๆแล้วลองย้อนมาดูร่างกายของตนเอง ดูเหมือนดูคนอื่นน่ะ ดูเหมือนมันเป็นคนอื่น เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เหมือนเป็นคนอื่น ใจเราเป็นคนดู ค่อยๆหัดอย่างนี้เรื่อยๆ

ต่อไปมันจะเห็นนะ ร่างกายที่หายใจอยู่ ร่างกายที่ ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง เป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิตหรอก จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ร่างกายไม่ใช่จิตหรอก ค่อยๆฝึกอย่างนี้นะ


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
ลำดับที่ ๗
File: 530606A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๔ วินาทีที่ ๓๑ ถึง นาทีที่ ๘ วินาทีที่ ๒๙

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ความเป็นตัวตนเกิดจากความคิดเท่านั้นเอง

mp3 for download : ความเป็นตัวตนเกิดจากความคิดเท่านั้นเอง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ความเป็นตัวตนเกิดจากความคิดเท่านั้นเอง

ความเป็นตัวตนเกิดจากความคิดเท่านั้นเอง

หลวงพ่อปราโมทย์ : ดูลงไปนะ เวทนาไม่ใช่เรา ความสุขไม่ใช่เรา ความทุกข์ไม่ใช่เรา โทมนัสเกิดขึ้นในใจไม่ใช่เรา โสมนัสเกิดขึ้นในใจไม่ใช่เรา อุเบกขาเกิดขึ้นในใจไม่ใช่เรา ดูลงไปอีก ความโลภไม่ใช่เรา ใครเห็นความโลภเป็นเรา ไม่มีใครเห็นความโลภเป็นเราเลยแต่ชอบคิดว่าเราโลภ

เราโลภยังดูยากเลย ชอบคิดว่าคนอื่นโลภ ดูง่ายไหม โอ๊ย.. ไอ้นี่โลภมากนี่ รวยสี่หมื่นเก้าพันล้านแล้วยังไม่พอ จะเอาห้าหมื่นล้าน อะไรอย่างนี้นะ ดูคนอื่นโลภดูง่ายนะ ดูเราโลภดูยากขึ้นละ พอเราโลภนะ เราก็บอกว่า นี่ขยันหมั่นเพียร รู้จักหา รู้จักเก็บออม เป็นคุณธรรม พอเราโลภก็เป็นอย่างนี้ ดูคนอื่นโลภง่ายที่สุดนะ ดูเราโลภก็ยากขึ้นมาหน่อย ดูความโลภที่มันไม่ใช่เราเนี่ยนะ อัศจรรย์แล้วคราวนี้ ความโลภไม่ใช่เราหรอก ความโลภเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในใจ ไม่ใช่เรา จะเห็นเลย ความโลภไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่เราดูไปจนถึงตัวสภาวะแท้ๆ รูปธรรมนามธรรมแท้ๆ ดูไปถึงตัวรูปแท้ๆ รูปจะไม่มีเรา ดูไปถึงตัวเวทนาแท้ๆ เช่น ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ความรู้สึกสุขทุกข์จะไม่ใช่เรา ดูไปถึงตัวสังขารแท้ๆ เช่น ความโกรธ ใครเห็นความโกรธเป็นเรา ไม่มีนะ ถ้าเห็นตัวความโกรธแล้วจะรู้ว่าตัวความโกรธไม่ใช่เรา แต่ถ้าไม่มีปัญญาเห็นตัวความโกรธ ความโกรธครอบงำจิต จะรู้สึกว่าเราโกรธ

เราโกรธก็ไม่ค่อยเห็นอีก จะเห็นคนที่ทำให้เราโกรธ รู้สึกไหม ส่วนใหญ่ได้แค่นี้ เห็นไอ้นี่มันขับรถปาดหน้าเรา เห็นไอ้คนที่ขับรถปาดหน้า ไม่เห็นความโกรธในใจของตัวเอง ถ้าสามารถย้อนมาเห็นความโกรธในใจของตัวเองได้นะ จะเห็นอีก ความโกรธไม่ใช่เราหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา

เราภาวนานะ แยกธาตุแยกขันธ์ออกไป หรือแยกรูป แยกเวทนา แยกสังขาร แยกจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูออกมา เพื่ออะไร? เพื่อจะได้จะได้ถอนความเห็นผิด ว่าขันธ์ทั้งหลายนี้เป็นตัวเรา ขันธ์มันเป็นตัวเราขึ้นมาเพราะสัญญามันหลอก สัญญาที่วิปลาสมันหลอก แล้วก็ความคิดมันเกิดขึ้นมา สัญญามันเข้าไปหลอก มันหลอกว่ามีเรา สัญญามันเพี้ยนอยู่

เพราะฉะนั้นดูลงมา รูปไม่ใช่เรา เวทนาไม่ใช่เรา สังขารไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา ดูไปเรื่อย.. ทีแรกจะเห็นก่อนนะ พอจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู จะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ความรู้สึกสุขทุกข์ไม่ใช่เรา กุศล-อกุศลทั้งหลายไม่ใช่เรา แต่ยังรู้สึกว่าจิตเป็นเราอยู่

ปุถุชนจะรู้สึกว่าจิตเป็นเราอยู่ แต่ว่าถ้าฝึกไปมากเข้าๆ จิตหลุดออกจาก “โลกของความคิด” ได้อย่างแท้จริง อยู่ใน “โลกแห่งความรับรู้” ได้จริงๆ ไม่ใช่อยู่ในโลกของความว่างเปล่านะ อยู่ในโลกของความรู้สึก โลกของความรับรู้ จะรู้สึกเลย ถ้าไม่มีความคิดอยู่นะ ถ้าจิตไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด ความเป็นตัวตนจะไม่เกิดขึ้น ความเป็นตัวตนเกิดจากความคิดเท่านั้นเอง คิดไปตามสัญญาที่เพี้ยนๆของเราเอง ความเคยชินมันไปหมายว่า นี่เราๆ ร่างกายเป็นเรา ไอ้โน่นเรา ไอ้นี่เรา คิดอย่างนี้ หมายรู้ผิดๆอย่างนี้นะ ก็คิดไปตามความเคยชิน ก็คิดไปตามการหมายรู้ว่ามีเราขึ้นมาจริงๆ

ค่อยฝึกนะ เบื้องต้นจะเห็นรูป เห็นร่างกาย เห็นเวทนา เห็นสังขาร ไม่ใช่เรา ฝึกกับหลวงพ่อสักเดือน สองเดือน จะเห็นตรงนี้แล้ว มันไปยากอยู่ตรงที่ยังเห็นว่าจิตยังเป็นเราอยู่


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
ลำดับที่ ๗
File: 530606A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๑๖ ถึง นาทีที่ ๒๕ วินาทีที่ ๔๖

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร

mp3 for download: จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร

จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร

หลวงพ่อปราโมทย์: ตัวจิตเองเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ลองสังเกตง่ายๆ อย่างความรับรู้ทางตา เอ้า..ทุกคนช่วยกันมอง มองพัด มองมาแล้วรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ หรือรู้สึกเฉยๆที่ตา มีมั้ย ความรู้สึกที่ตาเป็นความรู้สึกแบบไหน ไม่มีเลย.. น่าสงสาร ความรับรู้ทางตาเนี่ยนะ มีเวทนาเหมือนกัน แต่เป็นเวทนาเฉยๆ ความรับรู้ทางหูล่ะ จิตที่รู้เสียงน่ะ มีสุข มีทุกข์ หรือเฉยๆ ก็คือเฉยๆนะ ก็ค่อยๆสังเกตเอานะ อย่านึกเอา ค่อยๆไปดูเอา

จิตที่ได้กลิ่นน่ะ มีสุขหรือมีทุกข์ หรือเฉยๆ สมมุติว่าเดินๆไป อยู่ๆได้กลิ่น ขณะแรกที่ได้กลิ่นใช่มั้ย จิตเฉยๆใช่มั้ย ต่อมาจิตจำได้ สัญญามันทำงานแล้ว อู๊ว์นี่กลิ่นหมาเน่า ความนี้ใจไม่เฉยๆแล้วใช่มั้ย ใจเป็นทุกข์แล้ว ใช่มั้ย จมูกได้กลิ่นจมูกไม่ทุกข์นะ หรือจิตที่ไปรู้กลิ่น จิตตัวนั้นไม่ทุกข์ แต่พอจิตคิดนะ มันเกิดทุกข์ทางใจ มันเป็นจิตอีกดวงหนึ่งนะที่ทุกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นการรับรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นเนี่ย จิตเหล่านี้เป็นอุเบกขาทั้งหมดเลย ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์หรอก เฉยๆ แล้วมันค่อยมาสุขมาทุกข์ตอนให้ค่าที่ใจ

จิตที่รู้สัมผัสทางกาย มีสุขมีทุกข์มั้ย.. มี ไม่เหมือนกับทางตานะ ตามองเห็นรูป เป็นอุเบกขา แต่การกระทบทางกายมีสุขมีทุกข์ได้ จิตที่รับรู้อารมณ์สดๆร้อนๆเนี่ย จิตตัวนี้รู้ไม่ทุกข์ รู้นะ

เนี่ยจิตก็ทำหน้าที่ของจิตนะ คือทำหน้าที่รู้อารมณ์ไป บางทีรู้อารมณ์อย่างนี้ รู้ทางทวารนี้มันเฉยๆ รู้ทางทวารนี้มันสุขมันทุกข์ได้ รู้ทางทวารนี้มันสุขมันทุกข์มันเฉยๆได้ นี่ มีหลายแบบแน่ะ รู้ทางใจ มีสุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ เฉยๆก็ได้ ใช่มั้ย

เพราะฉะนั้นจิตก็ทำหน้าที่ของจิตนะ ทำหน้าที่รู้ไป บางทีก็ประกอบด้วยความสุข บางทีก็ประกอบด้วยความทุกข์ บางทีก็ประกอบด้วยความเฉยๆ

จิตที่ประกอบด้วยความสุข ก็เป็นจิตคนละดวงกับจิตที่ประกอบด้วยความทุกข์ ไม่เกิดร่วมกัน จิตที่มีความทุกข์กับจิตเฉยๆ ก็คนละแบบคนละดวงกัน จิตเองก็เกิดดับไปเรื่อยๆนะ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ จิตบางดวงสุข บางดวงทุกข์ บางดวงเฉยๆ จิตบางดวงก็เป็นกุศล จิตบางดวงก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นตัวจิตเองแปรปรวนตลอดนะ จิตนี้มีเยอะแยะมากเลย

ในทางตำรานะ จำแนกจิตเอาไว้ตั้ง ๘๙ ดวง แต่ของเราไม่มี ๘๙ ดวงนะ ของเรามีไม่มากเท่าไหร่ เราตัดโลกุตระจิตออกไป ไม่มีนะ มี ๘๑ ดวง ทั้ง ๘๑ ดวงเนี่ย ของคนทำฌานได้อีกส่วนหนึ่ง คนทำฌานไม่เป็นอีกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นจิตที่เรามีจริง มีไม่ถึง ๘๑ หรอกนะ เราดูจิตที่เรามีจริงๆนะ ไม่ต้องไปดูจิตที่ไม่มีนะ

จิตโลภเรามีมั้ย จิตโกรธมีมั้ย จิตหลงมีมั้ย จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ พวกนี้มี จิตสุข จิตทุกข์ มีมั้ย จิตมีสติมีมั้ย จิตมีสติและปัญญามีมั้ย เนี่ยไม่ค่อยมีแล้ว ทำมาพยักหน้านะ ไม่ค่อยมีแล้วอันนี้

แล้วดูของมัน ดูของจริงนะ จิตทุกชนิดมันเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับนะ ไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร เนี่ยเราดูความจริงลงในรูปในนาม ในขันธ์ ๕ ในกายในใจ ดูลงไปเรื่อย เพื่อถอนความเห็นผิดว่ามีเรา

เพราะฉะนั้นงานหลักในทางพระพุทธศาสนา งานหลักในการปฏิบัติธรรมเนี่ย ไม่ได้ทำเพื่ออันอื่นหรอก ทำเพื่อล้างความเห็นผิด


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
File: 530103.mp3
ลำดับที่ ๑๒
ระหว่างนาทีที่ ๑๑ วินาทีที่ ๔๗ ถึง นาทีที่ ๑๖ วินาทีที่ ๒๕

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

วิธี ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต

mp3 for download : วิธี ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

วิธี ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต

วิธี ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต

หลวงพ่อปราโมทย์ : ค่อยสังเกตไป ร่างกายที่เคลื่อนไหว เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า หัดอย่างนี้เรื่อยๆ ดูเหมือนดูคนอื่น ถ้าดูตัวเองยังไม่ออก ลองดูคนอื่นก่อน ดูคนที่นั่งข้างๆเรา เราเห็นไหม คนที่นั่งข้างๆเรานี้ เป็นสิ่งที่จิตของเราไปรู้เข้า เป็นสิ่งถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ดูคนข้างๆแล้วลองย้อนมาดูร่างกายตัวเอง ดูเหมือนดูเป็นคนอื่นน่ะ ดูเหมือนมันเป็นคนอื่น เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เหมือนเป็นคนอื่น ใจเราเป็นคนดู ค่อยๆหัดอย่างนี้เรื่อยๆ

ต่อไปมันจะเห็นเลยนะ ร่างกายที่หายใจอยู่ ร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอนอยู่ ร่างกายที่เคลื่อนไหวร่างกายที่หยุดนิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิตหรอก จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ร่างกายไม่ใช่จิตหรอก ค่อยๆฝึกอย่างนี้นะ

พอเราแยกจิตจากกายได้แล้ว ต่อไปก็แยกต่อไปอีก นั่งไปนานๆความปวดความเมื่อยมันเกิดขึ้น อย่างคุณแต๋มนั่งแล้วเมื่อย แล้วต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนอิริยาบถนั้นหนีอะไร? หนีความทุกข์นะ ทีนี้ก่อนเปลี่ยนอิริยาบถให้เรารู้ทันนิดหนึ่งก่อน เปลี่ยนได้ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไม่ได้หรอก

นั่งไปนานๆ มันปวดมันเมื่อยขึ้นมา ค่อยๆสังเกตเอา สังเกตไหม? ความปวดความเมื่อยนี้ไม่ใช่ขาของเราหรอก ขานี้ตั้งอยู่ก่อนแล้วนะ ความปวดความเมื่อยแอบเข้ามาอยู่ทีหลัง ตามเข้ามาทีหลัง เพราะฉะนั้นมันเป็นคนละอันกัน ดูอย่างนี้นะ มันก็จะแยกขันธ์ได้อีกขันธ์หนึ่ง

ตัวร่างกายที่เรารู้สึกอยู่นี่ มันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ตัวนี้เรียกว่า “รูปตัวความเจ็บความปวดที่มันแอบเข้ามาอยู่ในรูปนี้ เรียกว่า “เวทนา“  บางทีเวทนาก็เกิดที่ใจนะ แอบเข้าไปอยู่ในใจก็ได้ เช่น มีความสุขแอบเข้าไปอยู่ในใจ มีความทุกข์แอบเข้าไปอยู่ในใจ มีความรู้สึกเฉยๆแอบเข้าไปอยู่ในใจ ทำไมใช้คำว่า “แอบ” เพราะเราไม่ค่อยเห็น ถ้าเราเห็นมันก็ไม่ได้แอบนะ มันเข้ามาเราก็มองเห็น เพราะฉะนั้นตัวเวทนา ตัวสุขตัวทุกข์นี้ อยู่ในกายก็ได้ อยู่ในใจก็ได้ เราค่อยๆหัดแยกไป

ความสุขความทุกข์ อย่างความปวดความเมื่อย ไม่ใช่ขานะ แล้วก็ไม่ใช่จิตด้วย มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ใครเห็นว่าความปวดเป็นจิตบ้าง มีไหม? ใครรู้สึกว่าความปวดเป็นตัวเรา มีไหม? สังเกตไหมเรารู้สึกว่าร่างกายเป็นตัวเรานะ แต่พอความเจ็บความปวดรู้สึกว่าไม่ใช่เราแล้ว เป็นสิ่งแปลกปลอมอยากไล่มันไป เพราะฉะนั้นเวทนาก็ดูไม่ยากนักนะ

ดูให้ดี เราจะเห็นเลย ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง ความปวดความเมื่อยอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่อีกส่วนหนึ่ง เป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ หัดแยกอย่างนี้เราได้ ๓ ขันธ์แล้ว ได้รูป ได้เวทนา ได้วิญญาณขันธ์ คือตัวจิต

พอแยกได้อย่างนี้เราก็ดูต่อไป อย่าเพิ่งเปลี่ยนอิริยาบถ ให้มันปวดมากๆหน่อย พอมันปวดมากๆนะ มันเกิดความทุรนทุรายขึ้นที่ใจ จริงไหม หรือว่าพอปวดมากๆแล้วความทุรนทุรายเกิดขึ้นที่ขา? ขาไม่ได้ปวดนะ ขาเป็นวัตถุ วัตถุปวดไม่เป็น เวทนามันแทรกเข้าไปอยู่ในขา มันเลยรู้สึกว่าปวด ถ้าเราดูให้ดีเราจะเห็นว่า ความปวดกับขาเป็นคนละอันกัน

อันนี้หลวงพ่อเคยสอนผู้หญิงบางคน บอกว่าถึงเวลามีรอบเดือน ปวดท้องอย่างรุนแรงเลย ต้องกินยาเลยนะ ต้องเจ็บมากปวดมาก บอกให้ค่อยๆสังเกตนะ ท้องไม่ได้ปวดหรอก ความปวดมันแทรกเข้ามาอยู่ที่ท้อง เขาไปดูๆนะ เขาเห็นว่าร่างกายไม่ได้ปวดนะ ความปวดแทรกเข้ามาอยู่ในร่างกาย ดูอย่างนี้ไม่ต้องกินยาแล้ว รู้สึกร่างกายสบายดี ร่างกายไม่เห็นเป็นไร ค่อยๆแยกขันธ์ไป

ทีนี้พอความปวดเกิดขึ้นมากๆ ความกระสับกระส่าย ความทุรนทุราย ความร้อนอกร้อนใจ ความกลัว ความกังวล ความหงุดหงิดรำคาญ อันนี้เกิดขึ้นที่ใจ ปวดมากๆอยากเปลี่ยนอิริยาบถ ความอยากเปลี่ยนอิริยาบถเกิดขึ้นที่ใจ ไม่ได้เกิดที่ขา ใจเราเป็นคนอยากเปลี่ยนอิริยาบถ นั่งนานๆมันปวดใช่ไหม? ใจมันอยากเปลี่ยนอิริยาบถ มันปวดอยู่ที่ขา แต่ใจมันอยาก

หัดดูให้ดีเราจะเห็นเลย ความอยากที่เกิดขึ้นที่ใจ ไม่ใช่จิตหรอก จิตมันเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ ความอยากเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในใจ เช่นเดียวกับความปวดที่แปลกปลอมเข้ามาในขา แบบเดียวกันเปี๊ยบเลย มันแปลกปลอมเข้ามาเพราะฉะนั้น เราหัดดูนะ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางใจ ไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
ลำดับที่ ๗
File: 530606A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๗ วินาทีที่ ๓๗ ถึง นาทีที่ ๑๒ วินาทีที่ ๒๑

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Page 2 of 212