Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

การดูจิต และการเดินปัญญาในฌาน

mp3 for download : การดูจิต และการเดินปัญญาในฌาน

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ขอขอบคุณภาพจาก บ้านจิตสบาย

หลวงพ่อปราโมทย์ : การดูจิตดูใจเรียกว่า จิตตนานุปัสสนา การดูกระบวนการทำงานของสภาวธรรม เรียกว่าธรรมานุปัสสนา กรรมฐานเหล่านี้เหมาะกับพวกทิฎฐิจริต พวกคิดมาก เมื่อพวกเราเป็นพวกช่างคิด เรามาดูจิตดูใจตัวเอง การดูจิตนั้นไม่ต้องใช้สมาธิเยอะ ใช้สมาธิเป็นขณะๆไป เรียกว่าขณิกสมาธิ

วิธีทำให้มีสมาธิเมื่อเช้าหลวงพ่อบอกไปแล้วนะ รู้ทันจิตที่เคลื่อนไป เรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไป รู้ทันจิตที่ไหลไป จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ตรงที่จิตตั้งมั่นขึ้นมาเนี่ย อย่าไปบังคับจิตให้นิ่ง จิตมีความสุขให้รู้ว่ามีความสุข จิตมีความทุกข์ให้รู้ว่ามีความทุกข์ จิตสงบให้รู้ว่าสงบ จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตหลงไปก็รู้ จิตรู้สึกตัวอยู่ก็รู้ เนี่ยคอยดูความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเรื่อย

การดูความเปลี่ยนแปลงของจิตนั้น ไม่ต้องไปนั่งสมาธิลึกๆ คนที่นั่งสมาธิลึกๆเนี่ย ดูจิตยาก มันจะไม่มีอะไรให้เปลี่ยน จะนิ่งๆ เพราะฉะนั้นการดูจิตดูใจเนี่ย เหมาะสำหรับพวกที่เข้าฌานไม่เป็น แต่ถ้าพวกที่ดูจิตแล้วเข้าฌานเป็น จะไปสู่จุดสุดยอดอีกเรื่องหนึ่ง สามารถไปเดินปัญญาในสมาธิได้ พวกดูกายเก่งๆเนี่ย เจริญปัญญาในสมาธิไม่ได้ ต้องดูจิตเก่งๆ ทำสมาธิและปัญญาควบกันได้

ดูกายเก่ง ต้องทำสมาธิก่อน ออกจากสมาธิแล้วมาดูกาย แต่ถ้าจะทำสมาธิและปัญญาควบกัน ถ้าทำสมาธิรู้ลมหายใจแล้วจิตรวมเข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง มีเอกัคคตา รู้ทันจิตที่เข้าไปจับแสงสว่าง ก็ปล่อย ไม่จับ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร จิตทวนกระแสเข้าหาตัวรู้ และตั้งมั่นอยู่ ปีติเด่นดวงขึ้นมา ในขณะนั้นมีทั้งปีติมีทั้งสุขมีทั้งเอกัคคตาอยู่ด้วยกัน แต่ปีติจะเด่น ใจเนี่ยเด่นดวงตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ แต่ปีติเด่น สติระลึกรู้ลงไปที่ปีติ เห็นปีติดับไป เนี่ยเขาทำวิปัสสนาในสมาธิ เขาดูองค์ฌานที่เกิดดับ องค์ฌานทั้งหลายเนี่ยไม่ใช่กาย องค์ฌานทั้งหลายเนี่ยเป็นเรื่องของนามธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นพวกที่ดูจิตได้นะ จะไปเดินปัญญาในฌานได้

แล้วถ้าดูจิตจนชำนิชำนาญจนถึงระดับที่เป็นพระอริยบุคคล แล้วถ้าตายไปนะ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ไปเกิดในพรหมโลก แล้วเข้าฌานเก่งมากเลย ได้ฌานที่ ๘ ด้วย ไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นภูมิเป็นภพของเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นภพของพรหมที่สูงที่สุด ในคัมภีร์สอนเอาไว้เลยว่า ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่ชำนาญการดูจิตนะ จะไปทำวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะได้ คนอื่นทำไม่ได้ ถ้าเป็นปุถุชนแล้วจะไปทำวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะไม่ได้ ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่ไม่ได้ชำนาญเรื่องการดูจิต จะไปทำวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะไม่ได้ ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่เข้าอรูปฌานถึงขีดสุดไม่ได้ก็จะไม่ไปเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิด้วย

เพราะฉะนั้นการที่เราหัดดูจิตดูใจเนี่ยนะ พวกที่สมาธิมากก็ดูได้ พวกนี้จะสามารถไปเจริญปัญญาในฌานได้ ทำสมาธิและวิปัสสนาควบกัน พวกนี้ทำรวดไปได้ ไม่มีข้อจำกัดในภูมิอะไร ยกเว้นอันเดียว ภูมิอสัญญสัตตา ภพของอสัญญสัตตา พรหมลูกฟัก แต่ท่านจะไม่ไปเกิดในพรหมลูกฟัก พระอริยะทั้งหลายท่านจะไม่ไปเกิดในพรหมลูกฟัก พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะไม่ไปอยู่ในพรหมลูกฟัก เสียเวลา

และถ้าเราดูจิตดูใจแต่ไม่ชำนาญจนถึงอรูป(ฌาน)นะ เราจะดูจิตในชีวิตประจำวัน ดูอยู่ข้างนอกอย่างที่พวกเรามีนี่แหละ


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ต.บางพระ อ.ศรีราชา ชลบุรี
แผนที่ : 1 2 3
แสดงธรรมที่ วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕
File: 550804B
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๖
ระหว่างนาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๑๔ ถึงนาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๕๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

การปฏิบัติ ๔ จำพวก

mp 3 (for download) : การปฏิบัติ ๔ จำพวก

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
ขอขอบคุณ ภาพจากงาน “ธรรมะกลางเมือง”

หลวงพ่อปราโมทย์ : ถ้าเราไปดูพฤติกรรมของคนซึ่งเค้าภาวนาได้ดีได้ผลดี เราจะพบว่าเค้าไม่พักอยู่ อย่างผู้หญิงเมื่อวานนี้ที่เค้าส่งการบ้าน ทำการบ้านทำงานบ้านอยู่ก็เจริญสติอยู่ กวาดบ้านถูบ้านทำกับข้าว ทำงานบ้านจริงๆเป็นแม่บ้านเลย ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ทำงานอยู่ในบ้านนั่นแหล่ะ ทำไปด้วยความรู้สึกตัวตลอดเลย จิตรวมปึ๊บลงไปนะ เห็นมันไม่มีตัวมีตนที่ไหนเลย

บางคนเป็นนักธุรกิจ มีบริษัทตั้งหลายแห่งที่ต้องดูแล กลับมาบ้านนะดูแลบ้านด้วยตัวเองด้วย ดูแลลูกดูแลสามีด้วย กว่างานแต่ละวันจะเสร็จเนี่ย ๕ ทุ่ม พวกเราถ้างานเสร็จ ๕ ทุ่มเราจะทำอะไร รีบนอน ถ้าไม่นอนก็ดูหนังดูอะไรให้มัน relax นี่เดินจงกรม เดินจงกรมไปถึงตีหนึ่ง พักผ่อนตื่นมาตี ๓ ตี ๔ มาภาวนาอีก

พวกที่ภาวนาได้ผลดีจริงๆนะ ได้ผลเร็วๆนี่ คือพวกที่ไม่นิ่งนอนใจ ไม่นอนจมกิเลสอยู่วันนึงๆหมดไปเรื่อยๆ แต่ว่ามันขึ้นกับจริตนิสัยคนนะ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องลำบากขนาดนั้น ไม่ใช่เราต้องไปภาวนาตอน ๕ ทุ่ม เรารู้ว่าเค้าภาวนา ๕ ทุ่มได้ผลนะ เราก็หลับไปตั้งแต่หัวค่ำตั้งนาฬิกาไว้ ๕ ทุ่ม ก็ไม่ได้กินหรอก

แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องภาวนาลำบากขนาดนั้น คนที่ภาวนานะมันมีจำพวกหลายจำพวก พวกนึงปฏิบัติสบายได้ผลเร็ว อย่างนี้ก็มี บางคนปฏิบัติสบายได้ผลช้า บางคนปฏิบัติลำบากได้ผลเร็ว บางคนปฏิบัติลำบากด้วยได้ผลช้าด้วย มี ๔ พวกจำได้มั้ย ปฏิบัติสบายใช่มั้ยได้ผลเร็ว ปฏิบัติสบายได้ผลช้า ปฏิบัติลำบากได้ผลเร็ว ปฏิบัติลำบากได้ผลช้า ๔ จำพวก

๔ จำพวกนี้มีตัวร่วมกันอยู่ตัวนึง อะไรรู้มั้ย “ปฏิบัติ” ปฏิบัติสบายหรือปฏิบัติลำบาก แต่คือปฏิบัติ บางคนกิเลสหนากิเลสรุนแรง ปฏิบัติลำบาก ถ้าพวกที่กิเลสอ่อนกิเลสเบาบาง ปฏิบัติง่าย ส่วนจะได้ผลช้าจะได้ผลเร็ว อยู่ที่ว่าอินทรีย์แก่หรืออินทรีย์อ่อน บางคนอินทรีย์แก่กล้าแล้วกิเลสก็เบาบาง พวกนี้ปฏิบัติสบายได้ผลเร็ว บางคนกิเลสน้อยนะ แต่ว่าสะสมบุญบารมีมาก็น้อย อย่างนี้ก็มี พวกนี้ภาวนาก็ไม่ยากเท่าไหร่นะ แต่นาน เพราะบารมีน้อยต้องสะสมกันนาน

เราไม่รู้ว่าเราเป็นพวกไหนนะ แต่ใน ๔ จำพวกเนี่ย เริ่มต้นด้วยคำว่าปฏิบัติทั้งสิ้นเลย


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕ ก่อนฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๗
Track: ๒
File: 550908A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๗ วินาทีที่ ๕๙ ถึง ๑๑ วินาทีที่ ๒๑

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ปฏิบัติให้ถูกและให้พอ

mp 3 (for download) : ปฏิบัติให้ถูกและให้พอ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
ขอขอบคุณ ภาพจากงาน “ธรรมะกลางเมือง”

หลวงพ่อปราโมทย์ : ปฏิบัติธรรมมีเงื่อนไข ๒ ตัวเท่านั้นแหล่ะ ไม่ยากอะไร

อันแรกปฏิบัติให้ถูก อันที่สองปฏิบัติให้พอ

ถ้าปฏิบัติไม่ถูกนะ อย่าขยันเลย ขอร้อง อยากไปเชียงใหม่นะ อยู่ศรีราชาอยากไปเชียงใหม่ แทนที่จะเดินขึ้นเหนือนะ เดินลงใต้ไปเรื่อยๆ ไปเจอทะเลว่ายน้ำไปตะเกียกตะกายไป ไปไม่รอดแล้ว หรือเดินไปตะวันออกไปเจอกรุงพนมเปญ ไม่ถึงเชียงใหม่ ต้องให้มันถูกหลักถูกเกณฑ์ก่อน ปฏิบัติให้เป็นซะก่อน

ที่มาเรียนจากหลวงพ่อเนี่ย หลวงพ่อช่วยได้อันเดียว คือสอนหลักของการปฏิบัติ ให้รู้ว่าเค้าปฏิบัติกันยังไง ปฏิบัติให้เป็น

ถัดจากนั้นส่วนที่เหลือเราต้องช่วยตัวเอง ปฏิบัติให้พอ แค่ไหนพอดี ถ้าเราต้องการอยู่กับโลก ก็ปฏิบัติเท่าที่ทำได้ ถ้าเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราก็ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
เมื่อ วันเสาร์ที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕ ก่อนฉันเช้า

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๗
Track: ๒
File: 550908A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๑ วินาทีที่ ๒๑ ถึง ๑๒ วินาทีที่ ๓๒

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

อย่าทิ้งเวลาให้เสียเปล่า เอามาภาวนา

mp 3 (for download) : อย่าทิ้งเวลาให้เสียเปล่า เอามาภาวนา

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์  : วันนึงๆนะ คนเราเอาเวลาไปคิดฟุ้งซ่านเนี่ยเยอะมาก มหาศาลเลย รวมแล้วมากกว่าชั่วโมงที่เราภาวนา งั้นถ้าเราเก็บเวลาพวกนี้มาภาวนาได้นะ เราเพิ่มชั่วโมงการภาวนาขึ้นได้อีกเยอะเลย อย่างคนที่บอกว่าทำงานทั้งวัน ไม่มีเวลาภาวนา ก็ลองไปดูให้ดีนะ ถ้าแยกชีวิตออกเป็นส่วนย่อยๆออกไป มันจะมีเวลาที่ทิ้งเปล่าๆเนี่ยเยอะมากเลย เช่นเรากำลังรอแขกอยู่จะมาเจรจากับเรา ทุกอย่างเราเตรียมพร้อมแล้ว ว่างๆแล้ว ว่างก็นั่งใจลอย นั่งทำโน้นทำนี้ไป หรือเราไปที่ทำงาน บอกงานยุ่งทั้งวัน ตอนขึ้นลิฟท์ไปที่ทำงาน ยังไม่ได้ทำงาน ตอนเดินไปที่โต๊ะทำงานก็ยังไม่ได้ทำงาน ตอนนั่งเปิดกุญแจก็ยังไม่ได้ทำงาน เปิดคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่ได้ทำงาน เนี่ยเวลาเหล่านี้นะ แต่ละวันๆเนี่ย ถ้าไปรวบรวมมานะ จะพบว่าเยอะเลย หลายชั่วโมง ก็คนเราเนี่ยสมองคนเราเนี่ย ทำงานปราดเปรียวที่สุดนะ ๔๐ นาที ๔๕ นาทีเท่านั้น เวลาที่เหลือเนี่ยเฉื่อยๆแล้ว ถูลู่ถูกังทำไปงั้นเอง

เพราะงั้นถ้าเราทำงานไปซัก ๕๐ นาทีนะ เราเบรกตัวเองนิดนึง เบรกตัวเองซัก ๕ นาที ทำความรู้สึกตัวขึ้นมา เราทำงานได้ดีกว่าเก่าอีก ยกเว้นแต่เขียนซอฟท์แวร์นะ ใจวอกแวก ออกไปภาวนาก่อนแล้วเขียนต่อไม่ถูกบางที ถ้าเราไม่ทิ้งเวลาเล็กๆน้อยๆเนี่ย เราจะไม่บ่นว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ

อย่างหลวงพ่อได้เวลาเยอะเลยนะ สมัยเป็นฆราวาส  ตื่นนอนมาเนี่ย ตอนลุกขึ้นมาเก็บที่นอน ก็ได้ปฏิบัติแล้ว เราไปอาบน้ำไปเข้าห้องน้ำ ก็ได้ปฏิบัติ แต่งตัวก็ได้ปฏิบัติ เดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ก็ได้ปฏิบัติอีก ไปอยู่ทำเนียบ แต่ก่อนทำงานในทำเนียบรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาลแต่ก่อนสงบนะ สวย เช้าๆเนี่ยสงบ หลังๆนี้มีคนไปล้อมทำเนียบอยู่เรื่อยๆ พอเดินอยู่ในทำเนียบ เดินไปก็ดูต้นไม้ดูนกดูอะไร เราภาวนาไปด้วย ถึงเวลาทำงานก็ทำงานไป ทำงานไปช่วงนึงนะ จะเดินไปห้องน้ำ ก็มีสติอีกแล้ว ไม่เคยบ่นเลย ว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ เวลาไปหาครูบาอาจารย์เนี่ย เอาผลงานไปส่ง ผลงานชั้นดีด้วย ขนาดพวกพระอุปัฏฐากบางทีถาม มาถามหลวงพ่อทีหลัง โยมทำได้ไง พระทำตั้งสิบปียี่สิบปี ไม่ได้อย่างนี้ บอกผมทำทั้งวันนะ ทำตั้งแต่ตื่นเลย จนถึงนอนหลับ ยกเว้นเวลาหลับกับเวลาที่ทำงานต้องคิด มันภาวนาไม่ได้ ก็มีบ้างเราพักผ่อน ทำงานหนักๆแล้วก็ภาวนาต่อเนื่องไปเรื่อย ใจก็ต้องการพักเหมือนกันบางที ทำสมาธิหายใจเข้า หายใจออกไป บางวันมันไม่่ไหวจริงๆ แม้กระทั่งจะทำสมถะยังไม่ไหวเลย งานมันเครียดมาก งานมันหนักมาก หลวงพ่ออ่านหนังสือด้วยซ้ำไป หาหนังสือการ์ตูนมานั่งอ่าน หรือบางทีก็อ่านพระไตรปิฎกอ่านอะไร เลือกเรื่องที่ไม่เครียด ที่ไม่ซับซ้อนมาก ให้จิตใจได้พักผ่อน เดี๋ยวเดียวก็มีแรงขึ้นมา ก็พอภาวนาต่อ

งั้นถ้าเราบอกว่าเราไม่มีเวลาภาวนานะ ให้เราสำรวจตัวเองว่าเราเอาเวลาไปทิ้งที่ไหน จริงหรือที่ทำงานวันละสิบชั่วโมง ทำตลอดเวลารึ ? สิบชั่วโมงแล้วอู้ไปตั้งเยอะน่ะ หรือทำสิบสองชั่วโมงสิบสี่ชั่วโมงบางคน คนมันทำแต่มีแต่เวลา งานไม่ค่อยมี เคยเจอมั้ย ทำล่วงเวลานะ ทำในเวลาไม่ทันต้องทำล่วงเวลา เพราะตอนอยู่ในเวลาไม่ได้ทำ ดูอ่านหนังสือพิมพ์อะไรนี้ มี แล้วไปทำล่วงเวลา ทิ้งเวลาเปล่าๆ ตายเปล่าๆ น่าเสียดาย อย่างพวกเรา สมมติเรารู้ว่าปีหน้าเราจะตายแล้ว เราต้องใช้เงินเดือนละแสนนะเพื่อจะยืดชีวิต เอามั้ย บางคนเอานะ เดือนละล้านเพื่อจะยืดชีวิต ไปซักเดือนนึงก็เอา เห็นชีวิตมีค่ามาก เรารักตัวเองนะ รักชีวิต แต่ไม่ทำตัวเองให้มีค่าเลย ต่อไปนี้เราไม่ละเลย เวลาเล็กเวลาน้อยนะ เก็บมาภาวนาให้มากๆ


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ก่อนฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๔
Track: ๖
File: 550218.mp3
ระหว่างวินาทีที่ ๔๑ ถึง นาทีที่ ๖ วินาทีที่ ๑๑

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ดูจิตไม่ได้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ดูกายไม่ได้ทำสมถะ

mp 3 (for download) : ดูจิตไม่ได้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ดูกายไม่ได้ทำสมถะ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : (หลวงพ่อ)หัดภาวนาทุกวันนะเพราะมันมีความสุข มีความพอใจที่ได้ภาวนา ทำสมถะ ทำมาเรื่อย พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์มาเจริญปัญญา สนุกในการเดินปัญญา คราวนี้เจริญปัญญาอุตลุดเลย ไม่ยอมทำสมถะเลย อยู่ได้ ๒ ปีนะ สมาธิก็เสื่อม ไม่พอ ต้องกลับมาทำอีก อันนี้เลยทำควบคู่กันมา

วันไหนมีกำลังก็ดูจิตดูใจไป วันไหนแรงตกมาหน่อย ดูจิตไม่ออก บางช่วงเวลาในวันเดียวกันแหล่ะ ช่วงนี้ดูจิตออกดูจิต ช่วงนี้ดูจิตไม่ออกดูกาย ช่วงนี้ดูจิตก็ไม่ได้ดูกายก็ไม่ได้พุทโธไปหายใจไป ทำสมถะ ถ้าจิตมีเรี่ยวมีแรงก็กลับมาดูจิตดูใจต่อ เนี่ยเวียนอยู่อย่างนี้นะ

เลิกงานแล้วไม่เถลไถล เลิกงานแล้วรีบกลับบ้าน รีบไปกินข้าวไปอาบน้ำอะไรงี้ แล้วมีเวลาเหลือ ได้ภาวนา มีความสุข ดูทีวีเฉพาะรายการข่าว สมัยก่อนข่าวไม่ได้มีตลอด ๒๔ ชั่วโมงเท่าทุกวันนี้นะ มีข่าวเป็นช่วงๆเท่านั้นนานๆมีที ดูข่าวภาคค่ำจบพระราชสำนักก็เลิกแล้วไม่เอาแล้วไม่ดูแล้ว เป็นเวลาส่วนตัวภาวนา ทำไปอย่างมีความสุข

การภาวนาไม่ช้า แล้วทุกวันทำในรูปแบบอยู่ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตอนไหนดูจิตได้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ดูกายไม่ได้ทำความมสงบ พุทโธไปหายใจไป ไม่ทิ้งเวลาเปล่าๆ นี่ภาวนาอย่างนี้อยู่ตลอดมา

ไปตามวัดนะพระถามโยมทำได้ไง พระทำสิบปียี่สิบปีไม่ได้เท่านี้ โยมทำทั้งวัน นี่คือคำตอบสุดท้าย ทำทั้งวัน


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ก่อนฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๓
Track: ๓
File: 541209.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๑ วินาทีที่ ๒๖ ถึง นาทีที่ ๑๓ วินาทีที่ ๒๓

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่